เผยแพร่ |
---|
กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม PGS เป็นเครื่องมือในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แต่พบว่ามีเกษตรกรกลุ่มใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนสมัครเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์น้อย นอกจากนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศให้ภาคเหนือตอนบนจัดทำแผนบูรณาการเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ และอากาศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคส่วนใหญ่ ได้รู้จักระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ซึ่งเป็นกระบวนการในการรับรองที่เป็นระบบสากลที่มีมาตรฐาน ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งคิดค้นโดย IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) มีความเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งเป็นระบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุน
กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรดินตามโครงการเกษตรอินทรีย์ ทางด้านข้อมูลความรู้วิชาการการจัดการดิน การเตรียมดินให้มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ การให้บริการปัจจัยการผลิต การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อขยายผลการปฏิบัติไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งพัฒนากลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS
การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดินในครั้งนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกรกลุ่มใหม่ ขั้นที่ 1 และกลุ่มขั้นที่ 3 ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS ที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการแปรรูปผลผลิต และการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร ณ ตลาดจริงใจ ฟาร์เมอร์ มาร์เก็ต ซึ่งเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของจังหวัดเซียงใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จุดที่ 1 พื้นที่เกษตรกร นางสาวเสาวนีย์ เมฆานุพักตร์ เจ้าของ “Get Farmily เกษตรกรในสวนเพื่อน” บ้านเลขที่ 51/1 หมู่ 4 ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กลางใจเมือง ที่รายล้อมไปด้วยหมู่บ้าน และเป็นเกษตรกรรายใหม่ ขั้นที่ 1 กลุ่ม PGS เชียงใหม่ มีพื้นที่จำนวน 19 ไร่ สนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ปลูกข้าวอินทรีย์ เลี้ยงไก่อารมณ์ดี จำนวน 700 ตัว เก็บไข่ได้วันละ 300 ฟอง แต่สามารถนำไปขายได้ถึงฟองละ 5 บาท เป็นที่ต้องการของท้องตลาด รวมไปถึงปลูกพืชผสมผสานควบคู่ไปด้วย เป็นการสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
จุดที่ 2 พื้นที่เกษตรกร นางผ่องพรรณ สะหลี เจ้าของ “สวนฮ่มสะหลี“ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 112/2 บ้านหนองเต่าคำ หมู่ที่ 1 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในสมาซิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS เชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เซียงใหม่ จำกัด นางผ่องพรรณมีอาชีพรับจ้างเย็บและทำนาข้าว ซึ่งประสบปัญหาผลผลิตต่ำ มีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ขาดทุน ประกอบกับการนั่งเย็บผ้านานๆ ทำให้ปวดหลัง สุขภาพไม่ดี จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนอาชีพที่ตนเองทำอยู่จึงเริ่มทำสวน ในปี พ.ศ. 2556 ระยะแรกเป็นการปลูกพืชผักไว้บริโภคในครัวเรือน อาทิ ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกชี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง และไม้ผลยืนต้นต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย กล้วย มะพร้าวน้ำหอม ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค ได้นำไปขายในชุมชน ต่อมาปรับพื้นที่มาทำการเกษตรแผนใหม่ โดยการขุดบ่อน้ำ ขุดร่องสวน ปลูกหญ้าแฝก และได้มีโอกาสเข้าอบรมการทำเกษตรแบบอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เซียงใหม่ จำกัด ได้รับองค์ความรู้ในการผลิตพืชอินทรีย์ ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช พร้อมดำเนินการจัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว ต่อมา พ.ศ. 2557 ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรม “การรับรองเกษตรอินทรีย์ ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (พีจีเอส)” Participatory Guarantee System (PGS) ซึ่งจัดโดย กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นการจุดประกายความคิด มุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะทำให้ผลผลิตทุกชนิดจากสวนฮ่มสะหลี จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
กรมพัฒนาที่ดิน โดย สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ได้คัดเลือกพื้นที่ สวนฮ่มสะหลี เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS ขึ้น ในปีงบประมาณ 2560 เพื่อเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ปัจจุบันได้แปรรูปผลผลิตอินทรีย์ภายในสวนฮ่มสะหลี เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเพิ่มรายได้ อาทิ แยมหม่อน แชมพูมะกรูดอินทรีย์ ภายใต้การรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS นับเป็นเกษตรกรต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้
จุดที่ 3 พื้นที่เกษตรกร นางสาวเชาวพรรณ อัชนันท์ บ้านเลขที่ 128 หมู่ 2 ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS เมืองเชียงใหม่ แปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกกลุ่ม PGS ในแบรนด์ “พิงค์ธรรมชาติ” ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน เพื่อผู้รักธรรมชาติ และต้องการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ผลิตจากสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ โดยการนำจุลินทรีย์ DMO (Develop Micro-Organism) ที่มีประโยชน์ และได้รับการพัฒนา มาสกัดพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษชนิดต่างๆ (Organic Product) พลังเอนไซม์ และกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำความสะอาด และกำจัดกลิ่นอับชื้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิดที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ใช้สารกันบูด สารแต่งกลิ่น และสีสังเคราะห์ โดยมีผลการตรวจรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพื่อส่งออกจากห้องปฏิบัติการสถาบันตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่ชะล้างออกไปจะช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ดับกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ช่วยรักษาสภาพดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS เมืองเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะนำผลผลิตที่ได้ไปวางจำหน่ายที่ตลาดจริงใจ ซึ่งเป็นตลาดเช้าที่ขายเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเน้นขายของคุณภาพ ผัก ผลไม้ ปลอดจากสารพิษ ผักออร์แกนิก เกษตรกรขายเอง และในการขับเคลื่อนงานโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ PGS เป็นเครื่องมือในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้การพัฒนาดิน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและสามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และเพื่อให้เกิดความร่วมมือมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรดิน การพัฒนาที่ดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สามารถเพาะปลูกได้อย่างยั่งยืนเต็มศักยภาพ ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อชีวิตทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยกันลดพิษทางดินและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ดียิ่งขึ้น