“กล้าเสียบยอด” นวัตกรรมเพื่อการเกษตร ให้ผลผลิตเร็ว ต้านทานโรค คุ้มค่าการลงทุน

“โรคเหี่ยว” เกิดจากแบคทีเรียราลสโตเนีย โซลานาซีเอรัม (Ralstonia solanacearum) จัดเป็นเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืชที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดโรคเหี่ยวกับพืชมากกว่า 200 ชนิด ระดับความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่เชื้อเข้าทำลาย สภาพแวดล้อม และสายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรีย

กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า เชื้อแบคทีเรีย ต้นเหตุโรคเหี่ยวอาศัยอยู่ในดินได้นาน สามารถเข้าทำลายพืชทางราก โดยเข้าตามรอยแผลที่เกิดจากการทำลายของแมลง ไส้เดือนฝอย รอยฉีกขาดของรากหรือแผลที่เกิดในธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกจะมีการระบาดของโรครุนแรงและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยแอบแฝงอยู่ในหัวพันธุ์และอยู่ข้ามฤดูได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมและปริมาณของเชื้อโรคมากพอก็จะแสดงอาการของโรคออกมา เมื่อนำหัวพันธุ์ไปปลูกต่อ ทำให้เกิดโรคระบาดซ้ำได้อีก

โรคเหี่ยวเขียว

“กล้าเสียบยอด” นวัตกรรมสู้โรคเหี่ยวเขียว

ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีการปลูกพืชหลายชนิดที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อโรคชนิดนี้ เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก มันฝรั่ง ขิง ขมิ้น ไพล ปทุมา ฯลฯ เนื่องจาก‍แบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคเหี่ยวเขียว สามารถมีชีวิตอยู่ในดินเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค

ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกพืชอาศัยของเชื้อโรคชนิดนี้ จึงมีความเสี่ยงสูงในการลงทุน เพราะดูแลป้องกันโรคเหี่ยวเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ข้ามฤดูได้ และการดื้อยาของเชื้อที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้ควบคุมโรคพืชโดยชีววิธีเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันกำจัดโรคพืชที่ช่วยลดปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับอย่างมาก

คุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง โชว์กล้ามะเขือเสียบยอด

บริษัท ทีเค เกษตรกรรม จำกัด 
บุกเบิกตลาด “กล้าเสียบยอด” เชิงการค้า

นอกจากนี้ เกษตรกรจำนวนมากต่างยอมรับว่า “กล้าเสียบยอด” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่ช่วยต้านทานโรคเหี่ยวเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมให้ผลผลิตเร็ว ทันต่อความต้องการของตลาด ที่สำคัญมีอายุเก็บเกี่ยวยาวนาน คุ้มค่ากับการลงทุน

“การใช้กล้าเสียบยอด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเท่านั้น ที่เหลือเป็นหน้าที่ของผู้ปลูกเองต้องดูแลป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคด้วย เพราะกล้าเสียบยอดไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโรคเหี่ยวเขียวได้ทั้งหมดตลอดไป เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้เข้าทำลายจากระบบรากแต่เพียงอย่างเดียว เชื้อโรคสามารถเข้าทำลายมะเขือโดยเข้าทางแผลที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง ใบได้ หรือเข้าทำลายในส่วนอื่นๆ ของมะเขือส่วนที่อ่อนแอได้ การใช้ต้นกล้าเสียบยอดจึงไม่ใช่การป้องกันการเกิดเหี่ยวเขียวได้ 100% เกษตรกรต้องระมัดระวังเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น มีด กรรไกร มีดที่ใช้ตัดผลผลิตหรือการตัดแต่งกิ่ง ใบ ต้นมะเขือ จะต้องทำความสะอาดเช่นกัน” คุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง กล่าว

คุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง พาไปเยี่ยมชมโรงเรือนขยายพันธุ์พืช

คุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง ผู้บุกเบิกการผลิตกล้ามะเขือเสียบตอมะเขือพวงรายแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการ บริษัท ทีเค เกษตรกรรม จำกัด ผลิตและจำหน่ายกล้าเสียบยอดส่งขายทั่วประเทศมานานกว่า 10 ปี มีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ เลขที่ 1/25 หมู่ที่ 8 ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 โทร. 081-935-0053

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณทวีศักดิ์เกิดความสนใจทำกล้ามะเขือเสียบยอด เพื่อลดความเสียหายจากโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางปี 2550 หลังจากมีเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือยาวรายหนึ่งในจังหวัดนครปฐม มาบ่นให้ฟังว่า ต้นมะเขือยาวที่ปลูกไว้เริ่มเก็บผลไปได้ไม่นาน เกิดปัญหาโรคเหี่ยวตายแบบไม่รู้สาเหตุ โดยเริ่มต้นอาการสลด ใบลู่ลงเหมือนอาการขาดน้ำของพืช หลังจากนั้น 2-3 วัน ต้นที่เป็นโรคจะแสดงอาการเหี่ยวอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ใบของลำต้นนั้นยังมีสีเขียวอยู่ และต้นที่เป็นโรคจะตายในที่สุด

ตอมะเขือพวงป่า

ขณะนั้นคุณทวีศักดิ์ไม่รู้เลยว่าโรคเหี่ยวเขียวเกิดกับมะเขือยาวได้ เพราะคุ้นเคยกับโรคเหี่ยวเขียวในมะเขือเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยพื้นฐานความรู้ด้านโรคพืชอยู่แล้ว จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่า มะเขือยาว ยืนต้นตายอย่างเฉียบพลันเกิดจากปัญหาโรคเหี่ยวเขียวอย่างแน่นอน

ตอนนั้นคุณทวีศักดิ์คิดว่า วิธีแก้ไขปัญหานี้ ต้องใช้กล้าเสียบยอดบนต้นตอทนโรคเท่านั้น โดยนึกถึง      ตอมะเขือพวง เป็นอันดับแรก เขาใช้เวลาอยู่นานกว่าจะผลิตกล้ามะเขือพวงเพื่อนำมาใช้งานได้ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอาจารย์ด้านโรคพืชของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ก็ได้รับคำตอบว่า วิธีนี้ไม่น่าจะได้ผล เพราะหากเชื้อสามารถเข้าไปในระบบรากได้แล้ว ไม่นานก็จะเกิดโรคได้เหมือนเดิม

กล้าเสียบยอดที่พร้อมส่งให้แก่ลูกค้า

แต่คุณทวีศักดิ์ก็ยังเชื่อมั่นว่า ต้นมะเขือพวงน่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะไม่เคยเห็นมะเขือพวงเป็นโรคเหี่ยวตายเลยสักต้น แถมต้นมะเขือพวงส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ยืนยาวได้หลายๆ ปี คุณทวีศักดิ์ทดลองผลิตกล้าเสียบยอดอยู่หลายเดือน จนได้ต้นมะเขือยาวเสียบยอดทั้งสิ้น 21 ต้น

เมื่อนำกล้าเสียบยอดไปปลูกแทนที่ต้นมะเขือยาวที่เป็นโรคเหี่ยวเขียวตายในตำแหน่งต้นเดิม ปรากฏว่า ต้นมะเขือยาวที่ปลูกจากกล้าเสียบยอด มีการเจริญเติบโตที่ดีและไม่เป็นโรคเหี่ยวเขียวเลย ทำให้คุณ     ทวีศักดิ์มุ่งมั่นที่จะผลิตกล้าเสียบยอดบนตอมะเขือพวงออกมาจำหน่ายเชิงการค้า ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเปราะ มะเขือเทศราชินี มะละกอ ฯลฯ

กล้ามะเขือเสียบยอด

นอกจากนี้ คุณทวีศักดิ์ยังมีการบริหารผลิตกล้าเสียบยอดชนิดอื่นๆ ตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละรายอีกด้วย เช่น กล้ามะระจีนเสียบยอด เนื่องจากการปลูกมะระจีนซ้ำๆ ในพื้นที่เดิมนานๆ มักเกิดปัญหาโรคเหี่ยวเขียวตามมา เมื่อเกษตรกรหันมาใช้กล้ามะระจีนเสียบยอด ทำให้ปัญหาโรคเหี่ยวเขียวหมดไป เพราะการปลูกด้วยกล้าเสียบยอดบนตอทนโรค ทนน้ำท่วม ทนน้ำขังได้นานหลายวันแล้ว ยังได้ผลผลิตเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับการปลูกด้วยวิธีเดิม

กล้ามะเขือยาว และกล้ามะเขือเปราะเสียบยอด เป็นกล้าเสียบยอดชนิดเดียวที่คุณทวีศักดิ์กล้าการันตีรายได้ให้แก่ผู้ปลูก โดยมีข้อแม้ว่า เกษตรกรต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างรายได้ ทั้งนี้ เกษตรกรจำนวนมากที่เคยซื้อกล้าเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ไปปลูก ตั้งแต่ปี 2550 ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า มีรายได้ตามที่คุณทวีศักดิ์การันตีจริง เมื่อทำตามคำแนะนำของคุณทวีศักดิ์

มะเขือยาวเสียบตอมะเขือพวง ปลูกแถวคู่บนร่องสวน

การปลูกกล้ามะเขือยาวเสียบยอด

สินค้าขายดี คือ กล้ามะเขือยาวเสียบตอมะเขือพวง ทนโรคเหี่ยวเขียว ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี คุณ  ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การปลูกมะเขือยาวเสียบยอดทำได้ไม่ยาก เพราะต้นมะเขือมีการเจริญเติบโตที่ดีมาก   จึงจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งและใบที่มากเกินไปเป็นระยะ

การปลูกมะเขือเพื่อให้ได้ผลดี มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวยาวนาน ต้องใช้แรงงานดูแลเต็มเวลา 1 คนต่อการดูแลแปลงปลูกมะเขือ 200-300 ต้น หมายความว่า ใน 1 ครอบครัว ทำงานในสวน 2 คน จะปลูกมะเขือได้เพียง 400-600 ต้นเท่านั้น ผลผลิตที่ได้หากมีการดูแลจัดการที่ดี ต้นมะเขือจะให้ผลผลิตประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อวัน หากปลูกมะเขือจำนวน 500-600 ต้น ต้องใช้แรงงานดูแล 2 คน จะมีผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อวัน โดยมะเขือยาว 1 ต้น จะให้ผลตอบแทน 1,000 บาทต่อปีทีเดียว

มะเขือยาวที่ปลูกด้วยกล้าเสียบยอด ให้ผลผลิตที่ดี

การปลูกมะเขือเปราะเสียบยอด

โดยปกติ มะเขือเปราะสามารถปลูกได้ด้วยกล้าเพาะเมล็ดก็เพียงพอ และสามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนาน 7-8 เดือนสบายๆ ซึ่งก็เพียงพอคุ้มกับการลงทุนแล้ว แต่พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียวติดต่อกันยาวนานทำให้เกิดการสะสมโรคเหี่ยวเขียวมากขึ้น การปลูกมะเขือเปราะจากกล้าเพาะเมล็ดอาจไม่ใช่หนทางที่ดีอีกต่อไปแล้ว การใช้กล้าเสียบยอดบนตอทนโรคเหี่ยวเขียวจึงเป็นเรื่องจำเป็น

สำหรับผู้สนใจปลูกกล้ามะเขือเปราะด้วยกล้าเสียบยอด คุณทวีศักดิ์แนะนำให้ปรับระบบการปลูกใหม่ เริ่มจากปรับระยะการปลูกให้เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตระยะยาว ระยะปลูกที่แนะนำคือ ระหว่างแถว ควรห่าง 4 เมตร ระยะระหว่างต้นในแถวให้ใช้ 1.5-2 เมตร ระยะปลูกนี้ใช้กล้าเพียง 200-250 ต้น ต่อไร่เท่านั้น

การดูแลจัดการลักษณะนี้ ช่วยให้ต้นมะเขือเปราะได้รับการดูแลดี ป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ดี ให้น้ำและปุ๋ยอย่างพอเพียง จะให้ผลผลิตสูงถึงต้นละ 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อวัน ดังนั้น หากปลูก 1 ไร่ ด้วยจำนวนต้น 250 ต้น เมื่อมะเขือโตเต็มที่ใน 4 เดือน จะให้ผลผลิต 200-250 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อวัน หรือเก็บผลผลิต 3 วันครั้ง แต่ละครั้งจะได้ผลผลิต 600-750 กิโลกรัม ต่อครั้ง

มะละกอเสียบยอดให้ผลผลิตเร็ว

กล้ามะละกอเสียบยอด

“กล้ามะละกอเสียบยอด” เป็นหนึ่งสินค้าขายดีในขณะนี้ ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัญหาราคายางตกต่ำทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจโค่นต้นยางบางส่วนทิ้ง และหันมาปลูกต้นมะละกอแทน ปรากฏว่าได้ผลผลิตที่ดี ทนโรค ผลดก และเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ 5 เดือนเศษ

คุณทวีศักดิ์ บอกว่า กล้ามะละกอเสียบยอด ช่วยตัดปัญหาความยุ่งยากในการคัดเพศมะละกอด้วยกล้า กล้ามะละกอเสียบยอดที่คัดเฉพาะต้นกะเทยสมบูรณ์เพศทุกต้น ออกดอกภายใน 20-30 วัน ให้ผลผลิตสูง มะละกอดิบสามารถเก็บผลได้ภายใน 90-100 วัน ส่วนมะละกอสุกเก็บผลผลิตได้ภายใน 6 เดือน หลังปลูก

การปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรดูแลให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม เพราะมะละกอเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยตัวท้ายสูงมาก จะช่วยให้เนื้อมะละกอหนา มีสีแดง และรสหวาน ดังนั้น แปลงปลูกมะละกอไม่ควรขาดปุ๋ย โดยปุ๋ยที่ต้องใส่ประจำคือ 0-0-60 ปุ๋ยตัวหน้า หรือไนโตรเจนก็ต้องการมากเช่นกัน ปุ๋ยที่ต้องใช้อาจเป็นยูเรีย 46-0-0 หรือ 25-7-7

ธาตุอาหารรองที่ต้องการมากอีกตัวคือ แคลเซียม ซึ่งต้องใช้ 15-0-0 หรือเรียกว่า แคลเซียมไนเตรต ปุ๋ยตัวนี้จะให้ทั้งไนโตรเจนและแคลเซียมพร้อมกัน นอกจากนี้ มะละกอต้องการอินทรียวัตถุ ประเภทปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบำรุงเสริมด้วย จะช่วยให้มะละกอให้ผลผลิตที่ดี มีผลกำไรงามตามที่ต้องการ

ปัจจุบัน คุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง มีบริการกล้ามะละกอเสียบยอดครบทุกสายพันธุ์ยอดนิยม ทั้ง ฮอลแลนด์ แขกนวล และแขกดำพันธุ์ใหม่ ผู้สนใจสามารถติดต่อกับคุณทวีศักดิ์ได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 081-935-0053

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354