กาแฟเพื่อนรัก และเป็นยาดี

เวลานี้ไม่ว่าจะเดินทางแวะเวียนไปที่แห่งใด สิ่งที่ได้สัมผัสพบเจอ และเหมือนเป็นความคุ้นชิน นั่นคือคำถามทักทาย “เช้านี้คุณดื่มกาแฟหรือยัง” หรือบางทีมีเสียงกระซิบบอก “กาแฟถ้วยนะ” ทุกวันนี้ชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทยในยุคนี้ ดูเหมือนว่าจะสัมผัสกับกลิ่นไอ และรสชาติของ “กาแฟ” อยู่ตลอดทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่ตื่นเช้า ถึงเย็นย่ำค่ำคืน หรือดึกดื่น ชีวิตแต่ละคนล้วนมีเหตุที่ต้องข้องเกี่ยวกับกาแฟอยู่เสมอ ก็อาจมีบ้างบางคนที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่ก็เชื่อว่ารู้จักกาแฟ และมีส่วนใกล้ชิดสัมผัสกับกาแฟกันอยู่เป็นประจำ จนคุ้นเคยเหมือนเป็นเพื่อนรัก มีใครบางคนบอกอีกว่า ใช้เป็นยารักษาโรค หรืออาการผิดปกติของร่างกาย แม้แต่ช่วยเสริมสร้างบางอย่างที่ขาดหายของคนเราได้ หลายโรคหลายอาการ

คำว่า “กาแฟ” หรือ “คอฟฟี่” (coffee) เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาอะราบิก คือคำว่า “ควาฮ์วาฮ์” เป็นภาษากวี หมายถึง ไวน์ แต่เพื่อหลีกหนีสิ่งที่มีแอลกอฮอล์ ของต้องห้ามในศาสนาอิสลาม ได้เปลี่ยนสำเนียงเรียกเป็น “คาเวย์” ต่อมาเป็น “คราฟฟี่” และ “คอฟฟี่” ในที่สุด

มีภาษาเรียกแตกต่างออกไปอีกหลายชื่อ เช่น คาเฟ่ ของฝรั่งเศส คัฟเฟ่ ของเยอรมัน และอังกฤษเรียกคอฟฟี่ ส่วนคนไทยสมัยก่อนเรียก “โกปี้” หรือ “ข้าวแฟ่” ซึ่งมีปรากฏในหนังสือของ หมอบรัดเลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2516 มีคำว่า “กาแฝ่” เลยเรียกกันมาจนเดี๋ยวนี้ คนไทยถึงเรียกว่า “กาแฟ” นั่นเอง

ประวัติความเป็นมาระบุว่า เมืองไทยมีการปลูกกาแฟมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่นิยมแพร่หลายกันอย่างจริงจัง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อตอนสมัยรัชกาลที่ 3 มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ได้นำกาแฟมาปลูกที่พระราชวัง และแจกจ่ายเมล็ดกาแฟให้เหล่าเสนาบดี เพาะต้นกาแฟปลูก และแจกจ่ายให้ญาติมิตรสหาย ในสมัยรัชกาลที่ 4  สมเด็จพระมหาประยูรวงศ์ ทำสวนกาแฟ อาจจะนำเอาพันธุ์กาแฟเข้ามาจากแหลมมลายู และได้มอบเมล็ดกาแฟให้ เซอร์จอร์น เบาว์ริ่ง ไปถึง 3 กระสอบ เมื่อตอนมีการค้าขายกับฝรั่ง ชาวดัตช์ และอังกฤษ

“กาแฟพันธุ์โรบัสต้า” สันนิษฐานว่านำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ราวปี พ.ศ. 2447 มี “นายตีหมุน” ชาวไทยอิสลามนำมาปลูกครั้งแรก ที่ตำบลบ้านตะโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา คงนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะที่โน่นมีปลูกแพร่หลายกันมาก

ส่วน “กาแฟพันธุ์อาราบิก้า” มีบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธ์ (นายเจรินี ชาวอิตาลี) ว่ามีการนำเอามาปลูกตั้งแต่ปี 2493 จนมาแพร่หลายในปี 2515 ถึง 2522 ตามโครงการปลูกกาแฟทดแทนฝิ่นพื้นภาคเหนือ มีการส่งเสริมปลูกกาแฟอาราบิก้าอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน

กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกมีปลูกอยู่ทั่วไป มีพันธุ์กาแฟที่สำคัญอยู่ 3 พันธุ์ ได้แก่ อาราบิก้า ซึ่งปลูกมากที่สุด ปริมาณร้อยละ 70 เจริญเติบโตในพื้นที่สูงประมาณ 1,000 ถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปริมาณฝน 1,500 ถึง 2,000 มิลลิเมตร ต่อปี ต้องการร่มเงา

เมล็ดกาแฟมีคุณภาพดี กลิ่นและรสชาติดีชวนดื่ม มีหลายสายพันธุ์ เช่น ทิปปิก้า เบอร์บอน บลูเมาเทน โคน่า คาทูร่า คาทุย ในไทยนิยมปลูกสายพันธุ์ คาร์ติมอร์ เพราะต้านทานโรคราสนิม ปลูกทางภาคเหนือที่สูงของไทย

อีกพันธุ์ คือพันธุ์ โรบัสต้า มีปลูกประมาณร้อยละ 30 เป็นพันธุ์ที่ต้นแข็งแรง ต้นใหญ่ มีกิ่งก้านสาขามากใบใหญ่ สีเขียวไม่เป็นมัน ดอกออกปีละ 2-3 ครั้ง ปลูกในพื้นที่ร้อนชื้น อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส พื้นที่ปลูกตั้งแต่ระดับน้ำทะเล ถึงความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

กาแฟเจริญเติบโตได้ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี คุณภาพเมล็ดด้อยกว่าอาราบิก้า แต่ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับส่งโรงงานกาแฟสำเร็จรูป ปลูกมากแถบภาคใต้ และภาคเหนือ เช่น อุตรดิตถ์ แพร่  และอีกพันธุ์หนึ่งคือ กาแฟลิเบอริก้า มีตลาดซื้อขายเพียงแค่ร้อยละ 1 พุ่มสูงใหญ่ ใบใหญ่คล้ายใบขนุน ออกดอกติดผลตลอดปี ทนทานต่อความแห้งแล้ง หนาวเย็น ดินเลว ต้านทานโรคราสนิมได้ดี

แหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของโลก ได้แก่ กลุ่มละตินอเมริกา แอฟริกากลาง แถบตอนใต้ของอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ผลผลิตของโลกปีละ 6.5-7 ล้านตัน อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ 1.26 ล้านตัน อเมริกาใต้ 3.01 ล้านตัน แอฟริกา 1.1 ล้านตัน เอเชีย และโอเชียเนีย 1.68 ล้านตัน ในแถบเอเชียส่วนใหญ่ผลิตกาแฟโรบัสต้า ที่มีชื่อเสียง เช่น กาแฟจาวา และสุมาตรา จากเกาะชวาอินโดนีเซีย มาลาบาของอินเดีย

เมล็ดกาแฟ คือ ผลผลิตหลักของต้นกาแฟ ในเมล็ดกาแฟ 100 กรัม ประกอบด้วยสารอาหาร และสรรพคุณต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ สารคาเฟอีน 40 มิลลิกรัม โซเดียม 2 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 49 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 3 มิลลิกรัม โปรตีน 0.1 กรัม

นอกจากนี้ยังมีสารอาหารในเมล็ดกาแฟดิบ ในกาแฟบดผงสำเร็จรูป ซึ่งมีการปรุงแต่ง และเมื่อมีการชงกาแฟด้วยน้ำร้อนดื่ม จากเกิดสารอาหารหลายอย่าง เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน คอเลสเตอรอล น้ำตาล ใยอาหาร ทำให้ได้พลังงานอีกมากมาย

คุณค่าทางอาหาร และเป็นยารักษาโรค สารหลักที่ได้จากกาแฟ คือ คาเฟอีน ช่วยชะลอการเสื่อมโทรมของผิว ไม่ให้ดูแก่เกินวัย ช่วยฟื้นฟูสภาพผิวที่ถูกแสงแดดเผาทำลาย ช่วยกระชับรูขุมขน ลดเซลลูไลต์ ลดรอบบวมคล้ำใต้ตา   ช่วยการดีท็อกซ์สารพิษออกจากร่างกาย กระตุ้นความจำ ปลุกร่างกายให้ตื่นตัวทันที ช่วยเผาผลาญอาหารและน้ำตาล ลดความอยากอาหาร รักษาบรรเทาอาการปวดไมเกรน

กาแฟช่วยต้านโรคซึมเศร้า ลดความเครียด ลดอาการอัลไซเมอร์ ลดอาการโรคพาร์กินสัน ลดความเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี แก้โรคเบาหวานชนิด 2 ลดความหนาวของร่างกาย ลดโรคหืด ขับปัสสาวะ ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ตับแข็ง เก๊าต์ ป้องกันฟันผุ และที่สำคัญมีสารเมลานอยดินส์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสและความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งในตับ และคุณประโยชน์อีกมากมาย ถ้าดื่มแต่พอดี

การดื่มกาแฟ ส่วนใหญ่ใช้กาแฟคั่วบดชงน้ำร้อนดื่ม ไม่มีปรุงแต่งรส กาแฟผงสำเร็จรูปมีมานานมากตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มีหลายลักษณะ ผงละเอียด เมล็ดฟู เกล็ดแข็ง เกล็ดแท่ง กาแฟสำเร็จรูปชนิดปรุงสำเร็จมีการผสมน้ำตาล ครีมเทียม เรียกว่า กาแฟทรีอินวัน กาแฟสำเร็จรูปแต่งกลิ่น กาแฟสกัดคาเฟอีน

และกาแฟ “เอสเพรสโซ่” ซึ่งเป็นการชงกาแฟอย่างหนึ่ง ที่ชงผ่านเครื่องชงความดัน เป็นกาแฟเข้มข้นสกัดด้วยน้ำร้อนภายใต้แรงกดดัน ได้กาแฟดำ สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นผสมเป็นกาแฟต่างๆ โดยใช้กาแฟเอสเพรสโซ่เป็นส่วนผสมหลัก

กาแฟผสมกับส่วนผสมอื่น ได้แก่ ผสมนมร้อน ได้กาแฟ “คาปูชิโน่” ถ้าผสมกับนมร้อนที่เป่าเป็นฟอง และน้ำเชื่อมช็อกโกแลต ได้กาแฟ “มอคค่า” หรือถ้าผสมกับนมอุ่นจากไอน้ำเติมน้ำตาล ได้กาแฟ “ลาเต้”

และอีกหลายสูตรจนถึงสูตร “กาแฟโบราณ” เป็นกาแฟไทยชงน้ำร้อนผ่านกาแฟในถุงชง เติมน้ำตาล น้ำแข็ง เป็น “โอเลี้ยง” เอากาแฟดำเติมนมข้นหวาน ได้กาแฟเรียก “โกปี้” หรือ “โอยั๊วะ” กาแฟดำผสมนมข้น เติมน้ำแข็ง ราดนมสด ได้ “กาแฟเย็น” หวานชื่นใจ

จะกินกาแฟสูตรไหน ขอให้คิดถึงความพอดีพอควร จะเป็นกาแฟสำเร็จรูป กาแฟสด กาแฟร้อน กาแฟเย็น กาแฟต่างประเทศ กาแฟไทย ดื่มเพื่อเป็นตัวช่วย ดื่มเพื่อเป็นการสนองอารมณ์ เลือกดื่มของมียี่ห้อ พี่น้องครับ ของทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ เป็นได้ทั้งเพื่อนรัก และศัตรูปองร้าย เดินอยู่ในสายกลางนะโยม

______________________________________________
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2563