ส.ป.ก. ส่งเสริมอาชีพเกษตรกร พื้นที่ คทช ส.ป.ก.4-01 จ.อุทัยธานี-นครสวรรค์ หนุนรวมกลุ่มบริหารจัดการผ่านระบบสหกรณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส.ป.ก. ส่งเสริมอาชีพเกษตรกร พื้นที่ คทช ส.ป.ก.4-01 จ.อุทัยธานี-นครสวรรค์ หนุนรวมกลุ่มบริหารจัดการผ่านระบบสหกรณ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ดร. วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม หนุนสร้างโอกาสการเข้าถึง บริการภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร การรุกล้ำเขตป่าสงวนฯ และการรักษา ความมั่นคงของฐานทรัพยากร การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้น เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สงวนหวงห้ามของรัฐ และจัดสรรที่ดินให้กับผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ได้มีที่ทำกิน เพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส.ป.ก. ได้ดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี โดยนำที่ดินแปลงว่าง เนื้อที่ 3,239-2-39 ไร่ ที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เคยขอใช้ประโยชน์และหมดอายุสัญญาเช่าจาก ส.ป.ก. มาดำเนินการจัดที่ดิน ในลักษณะแปลงรวม ไม่ให้กรรมสิทธิ์ ให้บริหารจัดการที่ดิน ในรูปแบบกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรตามเงื่อนไข ของ ส.ป.ก. โดยจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 ชุมชน รองรับการจัดเกษตรกร จำนวน 486 ราย ได้แก่ แปลงที่อยู่อาศัย 486 แปลง แปลงละ 0-1-50 ไร่ รวมเนื้อที่ประมาณ 183-0-92 ไร่ และแปลงเกษตรกรรม 486 แปลง แปลงละ 4-2-50 ไร่ รวมเนื้อที่ประมาณ 2,189-3-92 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 4, 6 และ 8 ตำบลระบำ และหมู่ที่ 7 และ 10 ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ส.ป.ก. ได้จัดที่ดิน ปี 2558-2563 ให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในรูปแบบแปลงรวมผ่านกระบวนการสหกรณ์ โดยสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด ขอเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก. เนื้อที่ประมาณ 2,423-0-84 ไร่ และจัดให้สมาชิก 369 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกผัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และมันสำปะหลัง

ส.ป.ก. ได้ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จัดสร้างสระเก็บน้ำในแปลงเกษตรกรรม ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการ คทช. อาทิ เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตก้อนเชื้อ และเพาะเห็ดนางฟ้าขาย ยกระดับการปลูกผักอินทรีย์ การพัฒนาต่อยอดหม่อนไหม เป็นผ้าทอฝ้ายแกมไหมและย้อมสีธรรมชาติ สืบทอดการทอเสื่อด้วยกกย้อมสีธรรมชาติ

นายมงคล เงินกลม สมาชิก คทช. จังหวัดอุทัยธานี และประธานแปลงใหญ่ผัก กล่าวว่า เดิมอาศัยอยู่ในที่สวนป่า โดยปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นอาชีพ แต่ภายหลังที่ดินถูกเรียกคืน เพื่อนำมาจัดโครงการ คทช. ตนจึงเข้าร่วมโครงการ ได้รับการจัดสรรที่ดิน จำนวน 4 ไร่ 2 งาน ตั้งแต่ปี 2560 โดยแบ่งพื้นที่ปลูกผัก เช่น มะระขี้นก พริก คะน้า ผักชี ผักกาด ขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ และเลี้ยงปลาดุก

โดยมี ส.ป.ก. ให้การสนับสนุน แนะนำ และดูแลอย่างสม่ำเสมอ ผักที่ปลูกได้ส่งขายให้กับสหกรณ์ สร้างรายได้เดือนละ 20,000 บาท ทั้งนี้ ในอนาคตมีแผนที่จะแบ่งพื้นที่ปลูกผลไม้ 2 ไร่ เช่น เงาะ มะละกอ มะนาว ควบคู่การปลูกผัก เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม การได้มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ทำให้รู้สึกมีความมั่นคงในอาชีพ และช่วยพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

นางสาวสุภาพร กุลโคตร สมาชิก คทช.จังหวัดอุทัยธานี และประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด กล่าวว่า ได้อพยพจากพื้นที่ไม่ถูกกฎหมาย ในพื้นที่เขตป่าสงวน เข้าร่วมโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล จังหวัดอุทัยธานี ชุมชนที่ 1 ซึ่งมีหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ และส่งเสริมอาชีพ

รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการผ่านระบบสหกรณ์ จากเดิมที่เคยปลูกมันสำปะหลัง ได้ปรับพื้นที่บางส่วนมาปลูกพืชผัก โดยมีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และสหกรณ์ ช่วยให้คำแนะนำการประกอบอาชีพ และต่อยอดด้านการตลาด

Advertisement

“สมาชิกทุกคนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ คทช. ได้รับที่ทำกิน 4 ไร่ 2 งาน ที่อยู่อาศัย 150 ตารางวา และงบประมาณสร้างบ้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 40,000 บาท สำหรับพื้นที่ชุมชนที่ 1 สมาชิกส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกผัก เช่น มะระจีน ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ หลังจากย้ายมาอยู่ในพื้นที่ คทช. สร้างความมั่นคงในอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ จำกัด กล่าว

ด้าน นางสาวปวีณา หอมแพงไว้ รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ผสมผสาน บ้านพนาสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ตนได้รับการสืบทอดที่ดิน ส.ป.ก. จากสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งได้รับการจัดสรร ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 22 ไร่ แต่เดิมใช้พื้นที่ในการทำนา ต่อมาในปี 2556 ได้ปรับพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ในปี 2558 แบ่งพื้นที่ จำนวน 12 ไร่ ได้ริเริ่มทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผัก สวนครัวแบบอินทรีย์ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว เดือนละ 15,000 บาท จากนั้นในปี 2562 เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้มาส่งเสริมความรู้เรื่องการปลูกป่าวนเกษตร โดยสนับสนุนพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก พะยูง ยางนา ยูคาลิปตัส ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. ได้แนะนำความรู้การผลิตถ่านชีวภาพไบโอชาร์ (Biochar) พร้อมจัดสรรงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และทำแปลงทดลองใช้ถ่านชีวภาพไบโอชาร์ ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เกิดผลดีอย่างมาก ดินที่บำรุงด้วยถ่านชีวภาพไบโอชาร์ ร่วนซุย มีคุณภาพมากขึ้น ปลูกพืชผักงอกงาม เขียวสวย ทำให้สมาชิกในกลุ่มฯ นำไปใช้ในแปลงของตนเอง ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มฯ 50 กว่าคน ทั้งนี้ นอกจากเราผลิตถ่านชีวภาพไบโอชาร์เพื่อใช้เองแล้ว ยังนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

“เมื่อก่อนทำงานบริษัทเอกชน ต้องอยู่ห่างครอบครัว พอได้มีที่ดินทำมาหากิน ทำให้มีความสุข เพราะได้อยู่กับครอบครัว และทำกิจกรรมร่วมกัน” นางสาวปวีณา กล่าว