“นราธิวาส ยะลา ปัตตานี” พัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ปศุสัตว์) สินค้ามีมาตรฐาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ “นราธิวาส ยะลา ปัตตานี” ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ด้านปศุสัตว์) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมหามาตรการช่วยเหลือชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วยการ “อัพสกิล-รีสกิล” เพิ่มศักยภาพรวมทั้งเปิดรับอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ ดึงชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอปัญหา ให้กับคลินิกเทคโนโลยีของ อว. เข้าไปแก้ไข ขณะเดียวกัน อว. จะช่วยหาช่องทางโปรโมตสินค้าและหาช่องทางการตลาดกับชาวบ้าน

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ด้านปศุสัตว์) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

เนื้อสัตว์แปรรูป

โดยจุดแรกเยี่ยมชมผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ด้านปศุสัตว์) ที่กลุ่มเลี้ยงโคช่องเขต อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกทั้งหมด 30 ราย จำนวนโค 200 กว่าตัว เป็นกลุ่มที่มีการขุนเพื่อขายทั้งตัวและมีการแปรรูปเนื้อ โดยกลุ่มจะมีพื้นที่คอกกลางสำหรับรับโคของสมาชิกมาขุนให้ได้น้ำหนักและรอจำหน่าย อีกส่วนก็จะแปรรูปเป็นเนื้อสไลซ์ เนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อสเต๊ก

สินค้าคุณภาพพร้อมจำหน่าย

ซึ่งการทำตลาดเนื้อโคแปรรูปนั้น เกิดจากการขายออนไลน์เกือบทั้งหมด สมาชิกทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตโคขุนคุณภาพสูง มีการพัฒนาสายพันธุ์โค การทำผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย สิ่งที่ทางโครงการกำลังเร่งดำเนินการ มีดังนี้ 1. การพัฒนามาตรฐานฟาร์ม 2. การพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค 3. การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลาย 4. การสร้างห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการผลิตที่ได้มาตรฐาน และ 5. การให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการชิ้นส่วน

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มเลี้ยงโคช่องเขต มีความต้องการตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น โรงเชือด สำหรับชำแหละแปรรูปที่ได้มาตรฐาน เพื่อสินค้าจะสามารถทำตลาดได้ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเนื้อที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาถูกกว่า

ต่อมา ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เดินทางไปยังกลุ่มแพะอารมณ์ดี ตำบลบันนังสาเรง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นฟาร์มภายใต้เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนมจังหวัดยะลา เป็นฟาร์มแพะนมสายพันธุ์ซาแนน ซึ่งสามารถให้น้ำนมเฉลี่ยตัวละกิโลครึ่งต่อวัน ปัจจุบันที่ฟาร์มมีแพะเลี้ยงจำนวนทั้งหมด 20 ตัว มีแพะที่พร้อมให้น้ำนมได้แล้วสามารถให้น้ำนมได้ประมาณวันละ 5-6 กิโลกรัม

นมแพะพาสเจอไรซ์

ภายในฟาร์มมีการเปิดเพลงให้ฟังอยู่เสมอ ทั้งในช่วงเวลาให้อาหารและช่วงรีดนมแพะเพื่อให้แพะรู้สึกผ่อนคลาย อาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นหญ้าหวาน ผิวถั่วเหลือง ต้นข้าวโพด เป็นต้น มีแปลงปลูกหญ้าหวาน ประมาณ 1 ไร่ โดยหญ้าหวานและผิวถั่วเหลืองเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง ส่งผลให้น้ำนมมีคุณภาพดี ให้มีความหวานในน้ำนม เพิ่มน้ำนม และช่วยให้น้ำนมแพะไม่มีกลิ่นคาว ในด้านการทำการตลาดนั้นมีทั้งการขายตรงจากฟาร์ม และทางตลาดออนไลน์ผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊ก

โยเกิร์ตจากนมแพะ

ปัจจุบัน กลุ่มแพะอารมณ์ดี ได้ทำความร่วมมือบริษัทเอกชนเพื่อต่อยอดทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม การพัฒนาความหลากหลายของสินค้าที่ใช้น้ำนมแพะเป็นส่วนประกอบหลัก การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายให้มีความหลากหลาย การหาโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐานเพื่อจ้างผลิตนมแพะพร้อมดื่มรสชาติต่างๆ การนำนมแพะมาทำนมผง เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมา ในช่วงโควิด-19 ได้ประสบปัญหาเรื่องนมแพะล้นตลาด จึงต้องการหันมาแปรรูปนมแพะเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น ฟาร์มยังไม่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์จากนมยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากนมแพะให้หลากหลายขึ้น

ขนมสอดไส้นมแพะ

จากนั้น ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโค นมแพะ แพะเนื้อ และไก่เบตง ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแปรรูปต้นแบบขนาดเล็ก ในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านปศุสัตว์ (โคเนื้อ แพะเนื้อ แพะนม และไก่เบตง) ผ่านกระบวนการเทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในการพัฒนาเพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย และได้รับมาตรฐาน อย. และฮาลาล

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ด้านปศุสัตว์) พื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน เป็นโครงการที่ดีและจะต้องสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการต่อยอดสินค้าที่ทำอยู่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดย อว. จะเข้าไปช่วย “อัพสกิล-รีสกิล” ให้กับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ในโลกธุรกิจยุคใหม่ ทั้งจะเปิดรับอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ โดยดึงชาวบ้านและประชาชน ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ เพื่อนำเสนอปัญหาที่แต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้กับคลินิกเทคโนโลยีของ อว. เข้าไปแก้ไข เช่น เรื่องของการรับรองมาตรฐานสินค้า การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน อว. จะหาช่วยโปรโมตสินค้าและหาช่องทางการตลาดกับชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่น อาจจะเปิดตลาดให้ใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

กลุ่มเกษตรเลี้ยงโคเนื้อ

“ผมได้สั่งการให้สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัด อว. เก็บประเด็นความต้องการของชาวบ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาต่อ เช่น สินค้าที่ผลิตยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน มาตรฐานฟาร์ม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น เพื่อแนวทางการต่อยอดทางธุรกิจของสินค้าให้กับชาวบ้าน” ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

นมแพะต้มร้อนๆ รสอร่อย

จึงนับเป็นการดำเนินงานที่จะช่วยให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร (ด้านปศุสัตว์) มีความเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง เมื่อเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงส่งผลให้เกิดรายได้และสามารถพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีศักยภาพในการแข่งขันสู่ตลาดอื่นๆ ต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

_______________________________________________________________________

เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานใหญ่ประจำปี! “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทยยุค 5G”  ในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ข่าวสด จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/ifn/?code=5g หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี