53 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร ก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวหลังการร่วมแสดงความยินดี
เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ครบรอบ 53 ปี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ว่า “สำหรับปี 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายด้านการเกษตรและอาหารที่สนับสนุนและมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เน้นกรอบการทำงานในการขับเคลื่อนร่วมกันหรือที่เรียกว่า “3 S” คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมนโยบายตลาดนำการผลิต โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มช่องทางในการตลาดให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ดังนั้น การขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับวิธีการทำงานสู่ความปกติใหม่ (New Normal) ยึดหลักตลาดนำการผลิต ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้และบริหารจัดการปัจจัยการผลิตเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ใช้กลไกและเครือข่ายการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชื่อมโยงทุกระดับ สร้างต้นแบบการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่และการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการช่วยเหลือดูแลและให้บริการแก่เกษตรกร สร้างและขยายผลเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้พร้อมเพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการและขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาการเกษตร”

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับกิจกรรม
ในนี้ ประกอบด้วยพิธีบวงสรวงองค์ท้าวมหาพรหมและศาลพระภูมิ, พิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์พิเศษทำนอง สิงคาลวณิช การจัดนิทรรศการและมอบรางวัลให้กับบุคคลและหน่วยงานดีเด่น ประจำปี 2563, การปล่อยคาราวานจัดส่งเมล็ดพันธุ์ โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19 และการมอบนโยบายแก่ข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับประเด็นหลักในปี 2564 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องขับเคลื่อน ได้แก่ การสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นนโยบายสำคัญที่ยึดถือและปฏิบัติ เพื่อที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามที่ได้พระราชทานแนวทาง การดำเนินการเน้นขยายผลและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดทำแผนปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีอาชีพที่สอดคล้องกับพื้นที่และมีรายได้ที่มั่นคง การสานต่อภารกิจตลาดนำการผลิต

โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกการเกษตรแปลงใหญ่ให้ครอบคลุมสินค้าและกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพ มีเป้าหมายในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริหารจัดการปัจจัยการผลิตอย่างสมดุลและยั่งยืนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยการส่งเสริมพืชที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พืชสมุนไพร, ไม้ดอกไม้ประดับ, ไผ่, หวาย, กาแฟ, พืชเคี้ยวมัน (มะคาเดเมีย, มะม่วงหิมพานต์), แมลงเศรษฐกิจ เป็นต้น

การปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร Agri – map ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสำปะหลัง, สับปะรด, ปาล์มน้ำมัน, มะพร้าว เป็นต้น สนับสนุนให้เกษตรกรใช้พืชพันธุ์ดีและมีแหล่งผลิตพืชพันธุ์ดีในชุมชน รวมทั้งสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรจากการส่งเสริมการเกษตร มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ พัฒนาระบบบริหารจัดการสินค้าและการขนส่ง ทั้งตลาดค้าส่ง ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และตลาดออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์และการสร้างตราสินค้า และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเกษตร การยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกร Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร รองรับการก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมุ่งพัฒนาให้เป็น New Startup เปลี่ยนสินค้าเกษตรให้เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึงยกระดับบทบาทอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ให้เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ช่วยงานส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ประสานงานแจ้งข้อมูลข่าวสาร ถ่ายทอดความรู้และเชื่อมโยงกลไกงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ภายใต้สโลแกน “รวดเร็ว ทั่วถึง แม่นยำ นำความรู้ สู่บริการ ประสานความช่วยเหลือ เพื่อเกษตรกร”

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ รวมถึงการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตร ให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ สร้างการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงาน รวมถึงมีการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ และท้ายสุดการขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ต้องปรับวิธีการทำงานสู่ New Normal พัฒนาองค์กรสู่ระบบราชการ 4.0 ยึดธรรมาภิบาล มุ่งพัฒนาสู่การเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นส่วนกลาง ยกระดับศักยภาพและความสามารถบุคลากรตามแนวทางขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลเชิงพื้นที่ พัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตร รวมถึงฐานข้อมูลอื่นๆ พร้อมก้าวสู่การเป็น Digital DOAE

และท้ายสุดการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ต้องทำงานคู่กับพี่น้องเกษตรกร ทั้งการให้บริการทางการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกร ในทุกมิติ แม้ว่าความท้าทายนี้จะดูยิ่งใหญ่ ถ้าพวกเราทำงานด้วยความรัก ความศรัทธา และความสามัคคี อนาคตภาคการเกษตรจะเปลี่ยนแปลง เกษตรวิถีใหม่ จะเกิดขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว