เกษตรกรปัตตานี เลี้ยงปลานิล-ทับทิม ลดต้นทุน แก้ปัญหาน้ำเค็มหมด

ถ้าตั้งใจ ตั้งมั่น มีเป้าหมายในการดำรงชีพที่แน่นอน ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาใด ก็ย่อมทลายกำแพงไปสู่เป้าหมายนั้นได้ เช่น คุณสุวัฒน์ แข็งแรง ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หนุ่มใหญ่ที่มีใจรักการประมงมาตั้งแต่เล็ก อาจเพราะชีวิตผูกพันอยู่กับคลองใกล้บ้าน เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำขึ้นและลงตามเวลา รู้ถึงช่วงเวลาของน้ำจืด น้ำเค็ม เพราะเป็นคลองที่เชื่อมต่อเส้นทางไปสู่ทะเล ความผูกพันเช่นนี้ ทำให้เขารักการทำประมง และยึดอาชีพประมงมาโดยตลอด

คุณสุวัฒน์ แข็งแรง

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านหลายคนรู้จักคุณสุวัฒน์ ในแบบของชาวประมงที่เลี้ยงปลากะพง สร้างรายได้และทำกำไรดี เป็นตัวอย่างหนึ่งของอำเภอ เป็นที่ยอมรับมานานกว่า 10 ปี แต่เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณสุวัฒน์ จำเป็นต้องปรับตามเพื่อความอยู่รอด

คุณสุวัฒน์ มีอาชีพหลักที่ทำควบคู่ไปกับการทำประมงคือ การเปิดอู่รับซ่อมรถ ซึ่งการทำประมงของสุวัฒน์ คือการเลี้ยงปลากะพงในบ่อ คุณสุวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าเลี้ยงปลากะพง เขาเคยเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์มาก่อน ได้ผลดี แต่เปลืองต้นทุนในเรื่องของอาหาร ประกอบกับมีที่ให้เช่าเป็นพื้นที่ทำบ่อเลี้ยงกุ้งเก่า จึงขอเช่าเพื่อเลี้ยงปลา

อาหารปลาลดต้นทุน ทำเองกับมือ

นับย้อนหลังไปกว่า 10 ปี คลองใกล้เคียงกับพื้นที่ที่คุณสุวัฒน์อาศัยอยู่ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มขึ้นและมีความเค็มสูง คุณสุวัฒน์จะอาศัยช่วงนั้น เก็บน้ำเข้าบ่อ กักไว้ เพื่อทยอยถ่ายลงบ่ออื่นๆ สำหรับเลี้ยงปลากะพง เพราะปลากะพงเป็นปลาน้ำเค็ม และยังไม่มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองจิกเลี้ยง จึงเป็นที่มาของรายได้จากการเลี้ยงปลากะพงที่น่าสนใจมาก

คุณสุวัฒน์ เล่าว่า ปลากะพงเป็นปลาที่สร้างรายได้ให้ดีมาก แต่ปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลากะพงในบ่อคือ น้ำเค็ม ซึ่งแต่ละปีน้ำเค็มจะดันขึ้นมาตามลำคลองปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 เดือน ในช่วงปลายปี ระหว่างนั้นจะสูบน้ำเค็มมาเก็บไว้ในบ่อพัก เพื่อรอถ่ายน้ำไปยังบ่อเลี้ยงปลากะพงอีก 2 บ่อที่มีอยู่ ขนาดบ่อพื้นที่ 2 ไร่ และขนาดบ่อพื้นที่ 5 ไร่ จากนั้นหาปลากินพืชจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาปล่อยในบ่อ 2-3 เดือน เลี้ยงไว้เพื่อเป็นปลาเหยื่อ ก่อนจะปล่อยลูกปลากะพงไซซ์ขนาดความยาว 5-6 นิ้ว ราคาตัวละ 13 บาท ลงไป

ต้นธูปฤาษีกับขี้วัวและรำ เป็นอาหารลดต้นทุนอย่างดีของปลา

“ผมเลี้ยงไม่เหมือนคนอื่น แรกๆ ที่ปล่อยลงบ่อจะยังกักกระชังไว้ แล้วให้อาหารเม็ดสำหรับปลาเล็กผสมปลาสดสับ ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ลูกปลากะพงกินอาหารสดเป็น แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณปลาสด ลดอาหารเม็ดลงเรื่อยๆ กระทั่งแน่ใจว่า ลูกปลากะพงกินอาหารสดเป็น จึงปล่อยจากกระชังลงเลี้ยงในบ่อ”

ปลาสด เป็นอาหารสด ที่คุณสุวัฒน์ บอกว่า เป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก กิโลกรัมละ 7-10 บาท ส่วนอาหารเม็ดสำหรับลูกปลาราคากระสอบละ 300-400 บาท เมื่อผสมปลาสดไปกับอาหารเม็ด โดยค่อยๆ ลดอาหารเม็ดลง จะทำให้ลดต้นทุนได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ต้นธูปฤาษี ขึ้นตามธรรมชาติ

“ในบางเดือน ผมยังหาปลาสดไม่ได้ ก็ปล่อยให้อดไปก่อน ไม่ได้ให้อาหารเลย ปลากะพงก็อยู่ได้ เพราะในบ่อมีปลานิลที่เลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นปลาเหยื่อให้กับปลากะพง เคยปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ให้อาหาร 1 เดือน ปลากะพงก็ไม่ตาย เพราะในบ่อมีอาหารที่เป็นปลาเหยื่ออยู่แล้ว และยังเจริญเติบโตดีด้วย”

การเลี้ยงปลากะพง ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จึงจับขายได้ น้ำหนักปลากะพงที่จับ ระยะเวลาเลี้ยง 8 เดือน อยู่ที่ 700-800 กรัม ต่อตัว ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท

แปลงข้าวโพด ปลูกไว้เสริมรายได้

คุณสุวัฒน์ ไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่ได้ให้พ่อค้าคนกลางมาจับ เขาลงบ่อจับเอง และนำไปขายเองให้กับพ่อค้าที่สะพานปลา ต้นทุนเรื่องของค่าจ้างแรงงานหรือค่าหัวคิวของพ่อค้าคนกลาง จึงไม่มี

แต่กว่า 10 ปี ของการเลี้ยงปลากะพง สร้างรายได้ให้กับคุณสุวัฒน์ มายาวนานก็จริง เมื่อถึงเวลาที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การขึ้นลงของน้ำทะเลเริ่มไม่แน่นอน คุณสุวัฒน์ บอกว่า 2 ปีมาแล้ว ที่น้ำทะเลไม่หนุนสูงขึ้นมาในคลอง ทำให้เก็บน้ำทะเลไว้เลี้ยงปลากะพงไม่ได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพื่อให้การทำการประมงอยู่รอด การเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม จึงเป็นคำตอบที่ง่ายที่สุด

กระถางพริก สร้างรายได้ปีละ 20,000 บาท

ปลานิลและปลาทับทิม สามารถเลี้ยงปล่อยรวมกันได้ และเป็นปลากินพืชที่ดูแลไม่ยาก ประสบการณ์การเลี้ยงปลาที่มีของคุณสุวัฒน์ ทำให้การเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม เป็นไปอย่างราบรื่น

ปลานิลและปลาทับทิม ซื้อมาไซซ์ขนาด 3-4 เซนติเมตร ราคาตัวละ 30-40 สตางค์ อัตรารอดเมื่อปล่อยลงบ่อ อยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามาก

และคุณสุวัฒน์ ก็ยังคงเป็นชาวประมงที่มองเห็นการสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลา ด้วยการเลี้ยงแบบลดต้นทุนเรื่องของอาหาร เพราะปัจจัยสำคัญของการเลี้ยงปลาให้มีรายได้ดีคือ การลดต้นทุนการผลิต

คุณสุวัฒน์ เลือกลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดต้นทุนอาหาร

 

“ผมใช้ผักบุ้ง รำ ข้าวสารแดง น้ำปลาหมัก จุลินทรีย์ ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เริ่มจากนำผักบุ้งไปต้มพร้อมกับข้าวสารแดง ต้มให้เปื่อย ถ้ามีปลาสดก็นำปลาสดต้มไปพร้อมกัน แต่ควรเอาก้างออกเมื่อปลาเปื่อย จากนั้นใช้รำคลุกกับอาหารที่ต้มไว้ เติมน้ำปลาหมักและจุลินทรีย์เข้าไป ในทุกวันให้อาหารปลา 2 มื้อ จำนวนปลา 600 ตัว ให้อาหารเพียงต้นทุนมื้อละประมาณ 100 บาทเท่านั้น”

นอกจากนี้ คุณสุวัฒน์ ยังมีไอเดียลดต้นทุนเรื่องของอาหารได้อีกคือ การนำต้นธูปฤาษีที่ขึ้นตามธรรมชาติมา ใช้ขี้วัว รำ มาห่อตลอดลำต้นธูปฤาษีไว้ จากนั้นนำไปผูกไว้กลางน้ำหรือริมน้ำ ต้นธูปฤาษีจะเปื่อยออกมาเป็นตะไคร่สีเขียว ปลาจะมากินเรื่อยๆ ประหยัดต้นทุนในเรื่องอาหารไปได้อีกมาก

ตลอดปีการเพาะปลูก คุณสุวัฒน์ ไม่ได้ทำประมงเพียงอย่างเดียว ยังคงใช้พื้นที่โดยรอบบ่อและพื้นที่ว่างที่พอมี ปลูกพืชผักสวนครัวอื่น เพื่อเก็บไปจำหน่ายพร้อมๆ กัน เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนทุกเดือน เช่น พริก ตะไคร้ กะเพรา โหระพา และผักสวนครัวชนิดอื่น ทั้งนี้ การปลูกพืชสวนครัวของคุณสุวัฒน์ ทำโดยการปลูกใส่กระถาง เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำบริเวณบ่อปลาจะท่วม ทำให้เลี้ยงปลาไม่ได้และปลูกพืชไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น การปลูกพืชในกระถาง เมื่อน้ำหลากมาจะสามารถยกกระถางหนีน้ำได้ ไม่ทำให้ต้นทุนหายไปกับน้ำหลาก

แนวคิดและเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ คุณสุวัฒน์ พร้อมถ่ายทอดหรือเผยแพร่ หากท่านใดสงสัย ยินดีตอบคำถาม ติดต่อได้ที่ คุณสุวัฒน์ แข็งแรง หมู่ที่ 1 ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์ (089) 870-5880 ได้ตลอดเวลา

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2561