“อิงวัด อิงสวน” ชวนเที่ยวตลาดย่านไทรม้า

เขตตำบลไทรม้า – ท่าอิฐ อำเภอเมืองนนทบุรี เป็นพื้นที่สวนผลไม้เก่าแก่มีชื่อมาแต่เดิม แม้จนปัจจุบัน ก็ยังมี “สวนทุเรียนโบราณไทรม้า” ที่ปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนเมืองนนท์ อันลือชื่อให้คนมาเที่ยวชมและเลือกซื้อหาในฤดูทุเรียนได้อยู่ แม้สวนทุเรียนจะล่มไปมากในคราวอุทกภัยใหญ่ พ.ศ. 2554 แต่ก็มีปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ สลับแซมด้วยพืชสวนอื่นๆ อย่าง มะปราง มะยงชิด มะนาว ส้มซ่า

ร่องรอยการพูดถึง “ของดี” ย่านนี้ มีในเอกสารเก่าหลายแห่ง ชิ้นหนึ่งก็คือ ที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เขียนไว้ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. 2452) ว่า “มะปรางที่เลื่องลือกันว่าดีมาแต่เดิม คือมะปรางสวนที่ท่าอิฐทางปากเกร็จ เนื้อแน่นหวานแหลมสนิท ผลที่งามก็มีมาก นับถือกันว่าดีกว่าตำบลอื่นฯ”

วิธีการทำสวนยกร่อง ควบคุมจัดการกับดินและน้ำอย่างพอเหมาะกับพืชสวนแต่ละชนิดในย่านเมืองนนทบุรีนี้ เชื่อกันว่าเป็นเทคโนโลยีการเกษตรของคนจีนแต้จิ๋ว ที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ทำให้พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่ตั้งถิ่นฐานระยะแรกๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น การทำเกลือสมุทร กะปิเคย น้ำปลาจากปลาทะเล ตลอดจนการประมงชายฝั่ง

โดยเฉพาะการทำสวนยกร่องนี้ ย่านเมืองสมุทรสาคร สมุทรสงคราม บางกอก นนทบุรี ปทุมธานี ปรากฏให้เห็นมากมาย เพราะเหตุว่า น่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมน้ำจืด – น้ำเค็ม ในพื้นที่ที่ไม่อาจหลีกพ้นจากอิทธิพลการขึ้นลงของระดับทะเลปานกลางได้

น่ายินดี ที่มูลนิธิชีววิถี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ตำบลไทรม้า มีแผนงานโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศสวนยกร่องรับมือภัยพิบัติ  ซึ่งนอกจากจะมุ่งเก็บข้อมูล ศึกษาประวัติความเป็นมาแล้ว ยังมุ่งปรับใช้เทคนิคสวนยกร่องเพื่อรับมือสภาวะน้ำท่วมให้ได้ผลอย่างจริงจังในอนาคตด้วย

…………….

ผลผลิตและวัฒนธรรมชาวสวนยกร่องตำบลไทรม้านี้ แต่ก่อน สมัยที่ถนนหนทางยังไม่สะดวก ก็แทบไม่มีทางที่จะมีใครได้มาดูมาเห็น ชาวสวนหลายคนเล่าว่า นอกจากเอาเรือออกไปส่งผลผลิตแล้ว ก็แทบไม่ได้ออกจากพื้นที่ไปไหน ต่างใช้ชีวิตอยู่กันแต่ในสวนนั้นเอง ต่อเมื่อมีเส้นทางถนนในสวนตัดต่อถึงกันมากขึ้น สวนทุเรียน สวนส้มซ่า ก็กลายเป็น “แหล่งเรียนรู้” แปลงผัก ผลไม้ หลายแห่งกลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

และเมื่อกระแสตลาดน้ำโบราณเฟื่องฟู วัดหลายแห่งก็ขยับขยายปรับตัว เพิ่มพื้นที่ตลาดแนวท่องเที่ยวจับจ่ายซื้อของ อย่างเช่น “ตลาดน้ำประชารัฐวัดโตนด” เป็นต้น

ปลายเดือนที่ผ่านมา มีการทดลองเปิดตลาดแนวพื้นถิ่นแห่งใหม่ ซึ่งเครือข่ายผู้จัด คือชุมชนหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลไทรม้า, สวนชีววิถี โดยการสนับสนุนอย่างมากของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี ได้ตั้งใจว่าจะให้มีขึ้นที่ลานวัดบางนา ตำบลไทรม้า แต่วันแรกที่ทดลองเปิด คือวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563 นั้น การติดตลาดกระทำที่สำนักงานมูลนิธิชีววิถี ซอยบางอ้อ 2 ก่อน

วันนั้น ผมได้ไปเที่ยวดูตลาดที่ตั้งชื่อเรียกไว้เก๋ไก๋ว่า ตลาด “อิงวัด อิงสวน” นั่นก็เป็นเพราะว่า นอกจากสวนผลไม้เก่าแก่แล้ว ก็ยังมีวัดโบราณหลายแห่งที่มีอายุเก่าไปถึงรุ่นอยุธยา เช่น วัดไทรม้าใต้ ที่มีวิหารประดิษฐาน “หลวงพ่อใหญ่” พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิองค์โต เป็นที่นับถือของชาวสวนไทรม้ามานานด้วย

ชาวสวนไทรม้ารุ่นน้ารุ่นป้า ปัจจุบันส่วนใหญ่ไปมาหาสู่กันด้วยรถจักรยานสามล้อ ซึ่งก็นับว่าเป็นพาหนะที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีถนนซีเมนต์เล็กๆ ลัดเลาะไปตามสวน สามารถบรรทุกผลผลิตออกไปตั้งแผงขายที่ตลาดสดได้สะดวก วันนั้น บรรดาป้าๆ แต่ละคนแต่งตัวนุ่งผ้าถุงสวยๆ ปั่นจักรยานบรรทุกของกินมาวางขายกันคึกคักทีเดียวครับ

ตลาดอิงวัด อิงสวน ทำให้เราเห็นถึงความ “บ้านๆ” แบบเดิมๆ ของของกินชาวสวนไทรม้าจริงๆ ที่ผมคิดว่าอร่อยมากๆ ในวันนั้น คือขนมเหนียว ขนมเปียกปูนสีดำ และขนมชั้น กลิ่นกาบมะพร้าวเผาที่อบอวลอยู่ในชิ้นเปียกปูนนั้น กินแล้วระลึกถึงอดีตแบบท่วมท้น เพราะว่าเดี๋ยวนี้หาคนทำให้กินไม่ค่อยได้แล้ว

ของอื่นๆ ก็มี หมี่กรอบ ห่อหมกปลาช่อน เมี่ยงคำ ผัดหมี่ น้ำเต้าหู้ แล้วก็วุ้นหวานแบบต่างๆ ขนมใส่ไส้ และขนมหวานอีกหลายอย่าง

…………….

ผมลองสอบถามเพื่อนที่ร่วมช่วยชาวบ้านทำตลาดนี้ เขาบอกว่า ตลาดอิงวัด อิงสวน ครั้งต่อไป ซึ่งจะไปจัดที่วัดบางนานั้น คงจะต้องเป็นเดือนพฤศจิกายน เพราะในช่วงเดือนตุลาคม ชาวบ้านติดงานบุญกฐินแทบจะตลอดทั้งเดือน ดังนั้น ใครอยากไปลองชิมของอร่อยๆ ฝีมือเดิมๆ ก็ต้องอดใจรออีกสองเดือน ติดตามข่าวความคืบหน้าได้จาก facebook ตลาดอิงวัดอิงสวน นะครับ

พูดถึงฝีมือเดิมๆ รสชาติ “เดิมๆ” ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ จากงานตลาดวันนั้นมาชวนคุยนิดหน่อยครับ

คือเดี๋ยวนี้ เวลาใครพูดขึ้นมาถึงอาหารไทย มักรีบบ่นกันว่า อาหารไทยทุกวันนี้หวานขึ้นมากๆ “แต่ก่อนไม่หวานอย่างนี้ ฯลฯ” คือชอบมองเรื่องความเปลี่ยนแปลงของรสชาติที่ตนประสบ เป็นแนววิวัฒนาการตรงดิ่ง เช่น จากไม่หวานมาเป็นหวานมาก ซึ่งถ้าจะเอาจริงๆ มันก็มีอาหารบางส่วนที่หวานขึ้นจริงแหละครับ เพียงแต่ผมคิดว่า มันต้องพูดกันเป็นแห่งๆ จำกัดนิยามพื้นที่เป็นจุดๆ กระทั่งเป็นช่วงเวลาเลยทีเดียว ไม่อย่างนั้นพูดไปก็เหมือนตีขลุมเท่านั้นเอง แทบจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจใดๆ เอาเลย

ไม่เชื่อลองไปดูสัดส่วนเครื่องปรุงในตำราอาหารเก่าๆ ส่วนใหญ่ก็ได้ครับ คนที่ชอบเชื่อ ชอบพูดว่า อาหารแต่ก่อน (โดยเฉพาะอาหารวัง) ไม่หวานนั้น ขอให้ลองเทียบปริมาณน้ำตาลที่ระบุให้ใส่ในกับข้าวของคาวแต่ละรายการดู เทียบกับน้ำปลา กับน้ำส้ม เครื่องปรุงรสอื่นๆ แล้วลองจินตนาการเอาเถิดครับ ว่าถ้าใส่ขนาดนั้น จะหวานหรือไม่เพียงใด

อย่างที่ผมบอก คือบางครั้งคงต้องพิจารณาเป็นแห่งๆ ไปล่ะครับ ขนาด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นปราชญ์ด้านอาหาร ยังเคยเขียนไว้ในหนังสือ น้ำพริก ของท่านว่า “เจ้านายวังบางขุนพรหมนั้น เสวยหวานเป็นอาจิณ เพราะฉะนั้นจึงมีหมูหวานยืนเครื่อง เมื่อมีพระประสงค์จะให้ของสิ่งใดที่กำลังเสวยนั้นเพิ่มรสหวานขึ้น ก็ทรงตักหมูหวานในเครื่องเติมลงไปทีละคำ..”

วันงานที่ตลาดนั้น มีคุณป้าหลายคนทำกับข้าวของคาวที่เป็นรสมือดั้งเดิมแท้ๆ ของท่านมาตั้งขาย มีแกงบอนแบบโบราณ แกงขี้เหล็กหมูย่าง หลนกะทิ น้ำพริกมะขามผัด พวกเราหลายคนซื้อหามาลองกินด้วยความกระหายใคร่รู้รสชาติพื้นถิ่นชาวสวนเมืองนนท์ ที่ร่ำลือกันว่าคนนั้นคนนี้ทำกับข้าวสำรับนั้นสำรับนี้อร่อยถูกปากผู้คนสืบเนื่องมายาวนาน

ปรากฏว่าของคาวทุกอย่างที่กินนั้นหวาน แถมไม่ได้หวานธรรมดานะครับ แต่ “หวานมากๆ” ถ้าจะเอาความชอบแบบลิ้นผมก็คือแทบกินไม่ได้เลยแหละ

แต่นี่คือรสชาติที่สถิตอยู่กับพื้นที่ย่านนี้มานานนมจริงๆ นะครับ แน่นอนว่าผมยังไม่ได้ลองกินกับข้าวกับปลาของหมู่บ้านตำบลอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มันอาจจะไม่ได้รสชาติแบบนี้ก็ได้ อย่างที่บอกล่ะครับ ความเก่าแก่ จริงแท้ ดั้งเดิม ฯลฯ ของรสชาติอาหาร บางครั้งมันก็มีอยู่แค่ในจินตนาการของผู้พูด สำหรับไว้คุยเกทับบลั๊ฟกันเองเท่านั้น

เมื่อไหร่เราเริ่มตระหนัก เริ่มฉุกคิด เริ่มสนทนากันเรื่องอาหารและรสชาติอาหาร ด้วยความรู้และความรู้สึกที่เป็นจริงมากกว่าอารมณ์นึกทึกทักเอาเอง เมื่อนั้น อาการ “ตาสว่างทางอาหาร” ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยเรื่องอื่นๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าของบ้านนี้เมืองนี้บ้างก็ได้ครับ