แก่นตะวัน พืชอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นพืชพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ

แก่นตะวัน นับเป็นสุดยอดพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์ เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก “แก่นตะวัน” นั้น เรียกได้หลายชื่อ ทั้ง “ทานตะวันหัว” และ “แห้วบัวตอง” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโชก บางทีก็เรียกว่า ซันโชก ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศแคนาดาและตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น แต่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศทั่วไป จึงสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อนและเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป ทำให้ต้น “แก่นตะวัน” เป็นที่รู้จักในหลายๆ ภูมิภาค

ลักษณะทั่วไป

แก่นตะวัน มีลักษณะต้นสูงประมาณ 1.5-2 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ ส่วนดอกมีสีเหลืองสดใสคล้ายกับดอกบัวตองและทานตะวัน แต่ขนาดจะเล็กกว่ามาก นอกจากนี้ ยังมีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่งไว้สำหรับเก็บสะสมอาหาร ซึ่งที่หัวของแก่นตะวันนี่เอง ที่จัดว่ามีสรรพคุณดีเยี่ยมนั่นก็เพราะที่ส่วนหัวจะมีสารอินนูลิน ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรักโทสโมเลกุลยาว จึงเป็นพืชพรีไบโอติกที่มีเส้นใยสูงมาก หากกินเข้าไป สารดังกล่าวจะไปช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL ที่เรากินเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ทิ้งออกทางอุจจาระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี

คุณค่าทางอาหาร

หากใครมีสุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ “แก่นตะวัน” ก็ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น เพราะอินนูลินจะไปช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โคลิฟอร์ม และ อี.โคไล ในขณะเดียวกัน ก็จะไปเพิ่มการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ บิฟิโดแบคทีเรีย และแล็กโตบาซิลลัส ให้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

หากใครอยากลดความอ้วน “แก่นตะวัน” เป็นหนึ่งในตัวช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้มีผู้ทดลองวิจัยให้หนูกินอาหารผสมอินนูลินนาน 3 สัปดาห์ และพบว่า น้ำหนักตัวของหนูลดลงจากเดิมถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ซึ่งหากคนกินแก่นตะวัน ซึ่งมีอินนูลินสูงเข้าไป ก็จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักตัวได้เช่นกัน เพราะร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารเส้นใยอินนูลินได้ ทำให้สารดังกล่าวตกค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหารหลายชั่วโมง จึงทำให้ผู้กินเข้าไป ไม่รู้สึกหิวและกินอาหารได้น้อยลงนั่นเอง

หากกินเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ เพราะมีแคลอรีต่ำและไม่ไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยระบุว่า คนที่กินอินนูลินจะมีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่กินน้ำตาลถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว สำหรับสรรพคุณอื่นๆ ก็มี อย่างเช่น ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้อาการท้องเสีย ท้องผูก ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันพิษของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ป้องกันอาการภูมิแพ้ และการแพ้อาหาร โดยเฉพาะในเด็กกระตุ้นการดูดซึมแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียมและธาตุเหล็ก ฯลฯ

รสชาติคล้ายแห้วหรือมันแกว

เห็นสรรพคุณมากมายขนาดนี้แล้ว ก็คงอยากจะลองกินกันบ้างแล้วใช่ไหมล่ะ โดยเราสามารถกินได้ทั้งแบบสดๆ เหมือนกับผักสลัดทั่วๆ ไป รสชาติจะออกคล้ายๆ แห้วและมันแกว หรือจะนำไปปรุงสุกเป็นอาหารหลากหลายเมนูก็ย่อมได้ หรือหากใครจะลองนำหัวแก่นตะวันไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปอบ ป่นเป็นผงเล็กๆ ไปผสมกับแป้งทำขนม คุกกี้ ก็จะได้ขนมรสอร่อย แถมยังมีกลิ่นหอม และมีปริมาณอินนูลินจำนวนมาก ซึ่งดีต่อสุขภาพด้วย

พืชพลังงานทางเลือก

เป็นพืชพลังงานทดแทน โดยใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล ซึ่งหัวแก่นตะวันเป็นพืชให้น้ำตาล สามารถใช้จุลินทรีย์หมักเป็นเอทานอลได้ โดยหัวแก่นตะวันสด 1 ตัน สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ 80 ลิตร สูงกว่าอ้อย 1 ตัน ที่สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ประมาณ 65-70 ลิตร แต่ก็ยังต่ำกว่าหัวมันสำปะหลังสด 1 ตัน ที่หมักเป็นเอทานอลได้ถึง 160 ลิตร

การปลูก

แก่นตะวันเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี สามารถปลูกได้เกือบทุกฤดู การปลูกใช้หัวพันธุ์ เริ่มจากตัดหัวพันธุ์เป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ 2-3 เซนติเมตร บ่มหัวที่หั่นแล้วในถังมีความชื้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดต้นอ่อนบนหัวท่อนพันธุ์ก่อน แล้วจึงค่อยนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ การปลูกมี 2 วิธี คือ การปลูกโดยการหยอด และปลูกโดยการเพาะกล้า ใช้ตาพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ไปเพาะในถุงที่เตรียมไว้ ใช้แกลบเผากลบหัวพันธุ์ หนาประมาณ 1 เท่าของขนาดหัวพันธุ์ ภายใน 5-7 วัน ตาพันธุ์จะเริ่มงอก ดูแลให้น้ำตามปกติจนต้นกล้ามีอายุ 10-15 วัน จึงย้ายต้นกล้าไปลงแปลงปลูก

แก่นตะวันเป็นพืชอายุสั้น ประมาณ 120 วัน โดยทั่วไปการปลูกแก่นตะวันมีต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 9,800 บาท มีผลผลิตสูงสุดไร่ละ 3.2 ตัน หรือคิดเป็นต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.10 บาท

คุณอภิรดี ธนะพานิชย์ กับแปลงเพาะกล้าต้นแก่นตะวัน

เมนูขนมหวาน

แก่นตะวันสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารคาวหวานได้หลากหลายเมนู สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารหวานแบบไทย ขอแนะนำ “เมนูขนมสายใยรัก @ ธารสวรรค์” ที่มีรสชาติแสนอร่อย ของ คุณอภิรดี ธนะพานิชย์ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ วิธีทำก็แสนง่าย หลังจากล้างแก่นตะวันให้สะอาด ตัดตาออก ไม่ต้องปอกเปลือก

  1. ขูดเป็นฝอย
  2. ต้มน้ำใบเตยให้เดือด จากนั้นใส่แก่นตะวันลงไป
  3. รอจนสุกเต็มที่เป็นปุยเส้นใย เติมแป้งข้าวโพดและแป้งมัน
  4. เติมน้ำตาล 3 ชนิด คือ น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด น้ำตาลทรายขาว
  5. ทำน้ำกะทิราดหน้าขนม ใส่เกลือเล็กน้อย
  6. ใช้ผงเต้าฮวยเป็นตัวขนมส่วนหวาน ตักแก่นตะวันราดกะทิ

หากใครมีเวลาว่าง ลองฝึกฝีมือทำขนมสายใยรัก ไว้กิน เชื่อว่าจะต้องติดอกติดใจ เพราะขนมหวานชนิดนี้มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม และมีประโยชน์ต่อร่างกาย