ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” รฟม.จัดอบรมฟรี “10 ชุมชน” สายรถไฟฟ้าสีเหลือง ตอบโจทย์ “วิถีชีวิตคนเมือง”

วิถีชีวิตคนเมือง ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด มีชีวิตเร่งรีบ มีเวลาน้อย ค่าครองชีพสูง ทำให้ทุกครัวเรือนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ไวรัสโควิด-19 ยิ่งต้องระมัดระวังในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จึงริเริ่มกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมและชุมชน ในกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” สอนโดย อาจารย์ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผักด้วยองค์ความรู้ต่างๆ สอนเกี่ยวกับการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน ปลูกในพื้นที่จำกัด เพื่อให้ชาวชุมชนปลูกผักกินเองได้ในครัวเรือนและสามารถต่อยอดในการปลูกผักขายเป็นรายได้เสริม

รวมทั้งจัดอบรมคอร์สพิเศษเพิ่มเติมให้ความรู้ด้านการใช้โซเชียลมีเดีย “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” สอนโดย อาจารย์ชีพธรรม คำวิเศษณ์ อาจารย์ผู้สอนหลักสูตร Social Media เพื่อการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ผลผลิต สร้างกลุ่มสังคม และเป็นแหล่งค้าขายผลิตผลให้กับชาวชุมชนด้วย

โดยสอนฟรีให้กับชาวชุมชนตามแนวสายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวม 10 พื้นที่ 10 ครั้ง ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ประกอบด้วย ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตห้วยขวาง จตุจักร วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง บางนา ประเวศ ในจังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลตำบลด่านสำโรง เทศบาลตำบลบางเมือง และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ

โดย คุณจิรฐา วัฒนประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการด้านประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ รฟม. เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ เขตห้วยขวาง

“จากวิกฤตโควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวันและอาชีพการงาน ดังนั้น การที่เราสามารถดูแลตัวเองดูแลครอบครัวของเราได้ อาหารที่เรามีพร้อมในครัวเรือนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และมีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานของภาครัฐช่วยกันผลักดันให้เกิดคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม รฟม.จึงริเริ่มกิจกรรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” ขึ้น เพื่ออบรมให้ความรู้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงแก่ชุมชนในแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

“การปลูกผักแบบไม่ต้องใช้ดินเลย จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชน จะได้มีแนวทางในการปลูกผักไว้กินเองในครอบครัว และสามารถจะนำไปใช้ประกอบอาชีพด้วยก็ได้ สร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนที่อยู่อาศัย” ผู้จัดการโครงการด้านประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ รฟม. กล่าว พร้อมเปิดเผยว่า

ก่อนหน้านี้ รฟม. ดำเนินกิจกรรมหลายโครงการ อาทิ เราใช้สมรรถนะหลักขององค์กรเรา เราเชี่ยวชาญเรื่องให้ความรู้ ด้านการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED จึงจัดวิทยากรไปให้การอบรมที่อื่นๆ ด้วย ไปให้ความรู้กับชุมชน และยังมีอีกหลายโครงการ สอนทำอาหารก็มี ขึ้นอยู่กับว่าชุมชนต่างๆ ต้องการอะไร เราก็พยายามจัดให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามแนวสายทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ

“ที่ รฟม. หันมาสนใจชุมชน เพราะเรามองว่า ประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทาง เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ทางตรง ทางอ้อม ในช่วงเวลาหนึ่งที่เราก่อสร้างโครงการ เพราะฉะนั้น เราอยากจะเข้าไปมีส่วนในการดูแลชุมชน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเราจะเข้าไปสำรวจชุมชนตามแนวสายทาง 500 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร ว่ามีชุมชนอะไรบ้าง รวมถึงวัด โรงเรียนด้วย และเราก็จะมีกิจกรรม มีส่วนร่วมกับทางชุมชน วัด และโรงเรียน โดย รฟม. เราจะเข้าไปตั้งแต่ก่อนก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนหนึ่งของชุมชนจะเป็นผู้ใช้บริการเราในอนาคตด้วย

“ในอนาคต โครงการรถไฟฟ้าจะมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เราจะดูตรงนี้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ โครงการ ทุกสี ตอนนี้มีสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ก็แทบจะรอบเมืองเลย แน่นอนผลกระทบที่เห็นชัดคือเรื่องของการจราจร ซึ่งเราก็มีมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เข้มแข็ง ในแต่ละพื้นที่จะมีโครงการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของชุมชน” คุณจิรฐา กล่าว

ทั้งนี้ ผู้จัดการโครงการด้านประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ รฟม. บอกด้วยว่า ในโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” 10 ครั้ง จะมีกลุ่มคนเข้าร่วมอบรมประมาณ 500 คน พวกเขาจะได้เอาไปสอนต่อ บอกต่อ เพราะฉะนั้น ผลสัมฤทธิ์สุดท้ายที่ได้ มันจะไม่ใช่แค่ 500 คน มันจะเยอะกว่านี้มากๆ จะเกิดเป็นกลุ่มสังคมชุมชนย่อย เพราะเรามีการสอนใช้โซเชียลมีเดียด้วย มันก็จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน เป็นแหล่งกระจายสินค้า สร้างรายได้ให้สังคมและชุมชน

“คิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ มันน่าจะต่อยอดไปได้อีกเยอะ แต่ละโครงการเราจะมีการติดตามผลผ่านโซเชียลมีเดีย ที่เราตั้งเป็นกลุ่ม ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” มีการให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ ติดตามผล จริงๆ แล้วในเฟซบุ๊กผู้สนใจก็สามารถเข้ามาร่วมตรงนี้ เราก็ยินดี เข้ามาแอดเฟรนด์ เพราะเรามีการให้ข้อมูลในนั้นด้วย แชร์แบ่งปันกัน” ผู้จัดการโครงการด้านประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ รฟม. ระบุ

ถามถึงความคุ้มค่าในการจัดกิจกรรมโครงการต่างๆ คุณจิรฐา เผยว่า โครงการที่เราจัด เราไม่ได้มองเรื่องความคุ้มค่าเป็นตัวเงิน เรามีความรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ อย่างโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” สิ่งที่ได้คือ เราไปให้ความรู้ มันวัดเป็นมูลค่าไม่ได้ เขาไม่ต้องไปซื้อผักกิน สามารถปลูกเองได้ ลดค่าใช้จ่าย เหลือแบ่งปันหรือเอาไปขายได้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญเป็นการส่งเสริมกิจกรรมในครอบครัวด้วย ให้ทำร่วมกัน ส่งเสริมความรัก ความผูกพัน พวกนี้มันได้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม บางทีมันมากกว่าตัวเงินที่เราลงไป เขาเอาไปบอกต่อมันก็เป็นการต่อยอดองค์ความรู้

ด้านเสียงสะท้อนจากผู้เข้ารับการอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้”

คุณอำพา พวงทอง อายุ 50 ปี บอกว่า ในการอบรมวันนี้ได้ความรู้มากเลย ในเรื่องการปลูกผักไว้กินเองในบ้านตัวเอง และสถานที่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปถึงไหน เพราะปกติไม่ค่อยมีเวลาว่าง ทำแต่งาน ปกติทำงานสำนักงานเขตห้วยขวาง เป็นพนักงานกวาดถนน ได้เรียนรู้วันนี้จะเอาไปปรับปรุงใช้ในบ้านตัวเอง ปลูกผักกินเอง อาจไปแนะนำคนอื่นต่อ รวมทั้งวันนี้ได้เรียนรู้โซเชียลมีเดียเยอะเลย เพราะปกติไม่ค่อยได้เล่น นอกจากส่งงานหัวหน้า โทร.เข้า โทร.ออก ได้มาฟังผู้มีประสบการณ์ก็รู้ขึ้นเยอะ

ขณะที่ คุณวันจันทร์ ผ่องวิญญาณ อายุ 70 ปี กล่าวว่า ได้รับประโยชน์เรื่องการปลูกผักไร้สารพิษ และปลูกผักโดยไม่ต้องใช้ดิน และความรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บางคนยังไม่ทราบเลยว่ารถไฟฟ้ามาจากไหน ไปถึงไหน เพราะเป็นของใหม่ จึงมีประโยชน์มาก

 

“ในการเรียนปลูกผัก อาจนำไปเผยแพร่ต่อในบ้านของตัวเอง ชุมชนของตัวเอง ผมอยู่ในชุมชนลาดพร้าว 45 หลายท่านยังไม่เคยเรียนรู้ด้านนี้ อาจจะไปเผยแพร่ต่อให้ลูกบ้านได้รู้กันว่าในเคหสถานบ้านเรือนของเราสามารถปลูกผักกินเองได้ โดยใช้ขวดน้ำเอามาแขวนตามข้างบ้าน โดยไม่ต้องใช้พื้นที่กว้าง เป็นความรู้ที่ดีมาก ส่วนความรู้เรื่องโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านมาผมเรียนด้วยตัวเอง ทำเป็นวิดีโอใส่เนื้อเพลงเข้าไป วันนี้ก็ได้มาเรียนรู้เพิ่มขึ้น” คุณวันจันทร์ กล่าว

การอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” จึงเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ รฟม. จัดให้ชาวชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถต่อยอดสร้างรายได้เสริมได้ด้วย