เกษตรกรฉะเชิงเทรา ฝึกลูกปลากะพงให้กินอาหารเม็ด ปลาเลี้ยงง่าย เกษตรกรสะดวกในการจัดการ

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัตว์น้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาตินับวันยิ่งลดน้อยลง ทำให้การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ปริมาณของแหล่งโปรตีนมีเพียงพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ซึ่งนับว่าประเทศไทยโชคดีที่มีเกษตรกรเก่งในเรื่องการเกษตร สามารถผลิตทั้งพืชผัก ผลไม้ หรือแม้แต่ด้านปศุสัตว์ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ

คุณเฉลียว รูปิยะเวช

ณ เวลานี้กระแสการรักสุขภาพยิ่งมาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงนิยมบริโภคปลาและผักมากขึ้น จนทำให้เห็นว่าตามร้านอาหารหลายๆ แห่ง มีเมนูปลามากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ปลากะพง นับว่าเป็นปลาที่จะต้องมีอยู่ในเมนูอาหารเลยที่แน่ๆ เพราะเนื้อปลามีความอร่อย รสชาติดี ราคาก็สมเหตุสมผล เมื่อสั่งมากินราคาก็ไม่หนักมากนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็ชื่นชอบเมนูปลากะพงเช่นเดียวกัน จึงสงสัยใคร่รู้ว่าปลากะพงที่ผู้เขียนชื่นชอบนี้ มีวิธีการเลี้ยงและจัดการแบบใดบ้าง ทำไมปลาชนิดนี้ยิ่งมีขนาดใหญ่ราคายิ่งแพง มีการเลี้ยงพิเศษอะไรไหม

ลูกปลากะพงที่ให้อาหารภายในบ่อปูน

ซึ่งในปักษ์นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอการเพาะเลี้ยงลูกปลากะพง ที่ได้รับการฝึกให้อาหารเม็ด เพื่อให้เกษตรกรที่ซื้อไปเลี้ยงเป็นอาชีพ สามารถเลี้ยงได้ง่ายและจัดการดูแลให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี โดยไม่ต้องลำบากไปหาซื้อเหยื่อสดแต่เช้ามืด ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงมีเวลามากขึ้นในการจัดการ จึงได้มุ่งหน้าเดินทางไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราเลยทีเดียว

คุณเฉลียว รูปิยะเวช อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 5 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำมามากมายหลายชนิด และที่สำคัญได้ฝึกลูกปลากะพงให้สามารถกินอาหารเม็ด เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงในแบบเดิมๆ ที่ใช้เหยื่อสด ซึ่งเหยื่อสดในปัจจุบันทำไปทำมาน่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้อาหารเม็ดเลี้ยงเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้คุณเฉลียวได้มองเห็นโอกาสในเรื่องนี้ จึงมีการทำโรงเรือนสำหรับฝึกลูกปลากะพงให้กินอาหารเม็ด จนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

คุณเฉลียว ชายผู้ยิ้มน้อย เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงสัตว์น้ำหลากหลายชนิด เดิมรับราชการตำรวจมาก่อน สาเหตุที่เลือกออกจากงานด้านนั้น เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่อาชีพที่ทำแล้วมีความสุข จึงได้มาทดลองทำอาชีพประมงในปี 2539

ภายในโรงเรือนฝึกให้อาหาร

“พอรู้สึกว่าไม่ใช่แนวทางที่ผมชอบ ผมก็เลยมาจับธุรกิจเรื่องกุ้ง เลี้ยงทั้งในบ่อดินและบ่อปูนบ้าง ต่อมาก็มีเลี้ยงปลาเสริม กุ้งที่เลี้ยงก็เริ่มตั้งแต่กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว และก็กุ้งก้ามกราม พอหลังๆ มาการเลี้ยงกุ้งเราก็เริ่มอยู่ตัว ก็เลยมาเลี้ยงปลาเพิ่มด้วยอีกอย่าง ช่วงนั้นจะเห็นว่าปลากะพงโดยทั่วไปมันจะกินเหยื่อสดเป็นอาหาร คราวนี้เกษตรกรที่เลี้ยงเขาก็พลิกมาเลี้ยงแบบให้อาหารเม็ด เพราะว่าเดี๋ยวนี้การเตรียมเหยื่อสดมันค่อนข้างยุ่งยาก ราคาต้นทุนก็เริ่มแพงมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ปลากะพงจะไม่ชินกับการกินอาหารเม็ด เราก็เลยมาทำการเพาะเลี้ยงลูกปลากะพง โดยฝึกให้ปลากินอาหารเม็ดให้เป็น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลูกปลากินอาหารเม็ดเป็น ได้ไปเลี้ยงกันแบบง่ายขึ้น” คุณเฉลียว เล่าถึงความเป็นมาในการประกอบสัมมาอาชีพ

ลูกปลากะพงที่นำมาฝึกเลี้ยงภายในฟาร์มเป็นลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ๆ โดยซื้อมาจากฟาร์มเอกชนที่มีพ่อแม่พันธุ์ปลากะพงสมบูรณ์ ซื้อลูกปลาทั้งหมดมาครั้งละ 6-7 แสนตัว ทุก 15 วัน ซึ่งคุณเฉลียวจะนำลูกปลาเหล่านั้นมาฝึก เพื่อเปลี่ยนนิสัยลูกปลาให้คุ้นชินกับการกินอาหารเม็ด

บ่อดินสำหรับเลี้ยงให้ลูกปลามีไซซ์ขนาด 3-5 นิ้ว

คุณเฉลียว เล่าว่า ก่อนที่จะนำลูกปลากะพงทั้งหมดนำมาฝึก ต้องล้างบ่อปูน ขนาด 2.5 x 3 เมตร ความสูง 50 เซนติเมตร ให้สะอาดด้วยการฆ่าเชื้อด้วยไอโอดีน จากนั้นตากบ่อให้แห้งทำความสะอาดบริเวณใกล้เคียงบ่อและพื้นที่รอบๆ ด้วยคลอรีน

“ช่วงแรกเราก็จะปล่อยน้ำจืดลงไปก่อน ที่น้ำความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ต่อมาก็ค่อยปล่อยน้ำเค็มเข้าไป ให้มีค่าประมาณ 5 ppt บ่อหนึ่งเราจะปล่อยลูกปลาประมาณ 1-2 หมื่นตัว ช่วง 5 วันแรกจะให้ลูกปลากินสิ่งมีชีวิตก็จะเป็นลูกไรก่อน ก็จะมีทั้งไรน้ำเค็มกับไรน้ำจืด พอลูกปลาเริ่มกินอาหารเป็น เราก็จะค่อยๆ ลดลูกไรลง ก็จะเริ่มฝึกให้อาหารเม็ดเข้ามาแทนที่เลย” คุณเฉลียว กล่าวถึงการเตรียมน้ำและการให้อาหารในช่วงแรก

คุณเฉลียว บอกว่า อาหารเม็ดที่นำมาฝึกให้ลูกปลากินจะเริ่มจากเบอร์ที่เล็กที่สุด แล้วค่อยๆ ขยับให้มีเบอร์ใหญ่ไปเรื่อยๆ ตามขนาดไซซ์ของลูกปลาที่ใหญ่ขึ้น

ลูกปลากะพงขนาดไซซ์ 4 นิ้ว

“คนที่หยอดอาหารนี่ต้องหยอดทั้งวัน พอบางตัวที่กินอิ่มแล้วก็จะว่ายน้ำออกไป ตัวอื่นที่เริ่มก็จะเข้ามากินแทนที่ คนหยอดอาหารจะได้พักก็ช่วงเที่ยงอย่างเดียวเท่านั้น อาหารที่นำมาฝึกจะมีโปรตีน 45 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพหน่อย พอปลามีขนาดใหญ่ขึ้นเราก็เปลี่ยนอาหารที่มีเบอร์ใหญ่ขึ้นด้วย เพื่อให้มันสัมพันธ์กับตัวปลา” คุณเฉลียว กล่าวอธิบายถึงการให้อาหารลูกปลา

คุณเฉลียว บอกว่า การที่ต้องให้อาหารปลาตลอดทั้งวันนั้น เพื่อเป็นการสร้างนิสัยลูกปลาให้กินเก่งลูกปลาก็จะมีโครงสร้างตัวที่หนา และที่สำคัญเมื่อลูกค้านำไปเลี้ยงต่อก็จะได้ลูกปลาที่มีความแข็งแรง ใช้เวลาประมาณ 20 วัน จะได้ลูกปลาที่มีขนาดไซซ์ 1.5 นิ้ว ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว

หากต้องการให้ลูกปลามีขนาดไซซ์ที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ก็จะนำมาเลี้ยงในตาข่ายในบ่อดิน โดยปล่อยแบบไม่หนาแน่นมากเกินไป เช่น ลูกปลากะพงขนาดไซซ์ 3 นิ้ว จะปล่อยในตาข่าย ประมาณ 7,000-8,000 ตัว ยิ่งปลามีขนาดใหญ่ความหนาแน่นก็จะยิ่งน้อยลง

โรคที่เกิดกับลูกปลา คุณเฉลียว บอกว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ตั้งแต่ที่เลี้ยงมา เนื่องจากระบบการเลี้ยงในฟาร์มของเขามีความสะอาด เพราะบ่อและเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงทั้งหมดมีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง

“เรื่องที่เราจะพบส่วนมาก จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายพันธุ์มากกว่า ก็จะเป็นพวกปลาหลังคด เกี่ยวกับเหงือก ซึ่งปลาที่เป็นปัญหานี้เราก็จะคัดออก เพราะที่นี่ต้องคัดไซซ์ทุก 3-4 วัน เพื่อให้ลูกปลามีขนาดที่เท่ากัน ตัวใหญ่อยู่กับตัวใหญ่ ตัวเล็กอยู่กับตัวเล็ก ส่วนที่ไม่สมบูรณ์หลังงอเราก็จะปล่อยลงแม่น้ำธรรมชาติไป เพื่อให้เจริญเติบโตไปกับธรรมชาติ” คุณเฉลียว กล่าว

คุณเฉลียว บอกว่า การจำหน่ายลูกปลาสามารถจำหน่ายได้ดีไม่มีปัญหา เพราะมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว ที่ได้ปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งมาเลี้ยงปลากะพง และที่สำคัญที่เป็นจุดเด่นของฟาร์มคุณเฉลียวคือ จะเน้นลูกปลาให้ได้คุณภาพอยู่เสมอ

“ลูกค้าที่เลี้ยงปลานี่ยังเป็นอยู่ในวงไม่กว้างนัก ถ้าเกิดผลผลิตเราไม่ดีไม่มีคุณภาพ ลูกค้าก็สามารถไปหาซื้อที่อื่นได้ เราจึงต้องรักษาคุณภาพเพื่อรักษาคุณภาพตลาดไว้ ยิ่งลูกค้ามีปัญหาอะไร เรายิ่งต้องให้เขาติดต่อเราได้ง่าย เพื่อช่วยเหลือกัน ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ” คุณเฉลียว กล่าวถึงด้วยรอยยิ้ม

ลูกปลากะพงที่จำหน่ายมีราคาแตกต่างกัน โดยลูกปลากะพง 1 นิ้ว อยู่ที่ราคาตัวละ 2 บาท ขนาดไซซ์ 1.5 นิ้ว อยู่ที่ตัวละ 3 บาท ขนาดไซซ์ 3 นิ้ว ราคาอยู่ที่ 6 บาท และ ขนาดไซซ์ 4 นิ้ว อยู่ที่ราคา 8 บาท

ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมลูกปลากะพงอยู่ที่ขนาดไซซ์ 3-4 นิ้ว เพราะสามารถนำลูกปลาไปลงบ่อเลี้ยงได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมาฝึกให้อาหารเอง เพราะทางฟาร์มของคุณเฉลียวฝึกให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“อุปสรรคของการฝึกลูกปลาของเราก็ไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่จะมีปัญหาก็ช่วงที่เราเอาลูกปลาไปเลี้ยงให้โต ให้เป็นปลาไซซ์ขนาด 3-4 นิ้วที่บ่อดิน เพราะว่าเราจะควบคุมเรื่องอุณหภูมิไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงฝนและก็หนาว มันจะทำให้ปลาเครียด ปลาก็จะกินอาหารลดน้อยลง เราก็ต้องแก้ปัญหาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” คุณเฉลียว กล่าว

นอกจากผลิตลูกปลากะพงเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้ว ที่ฟาร์มแห่งนี้ยังส่งจำหน่ายออกยังต่างประเทศอีกด้วย คือ ทางตะวันออกกลาง คุณเฉลียว บอกว่า หลายๆ ประเทศในแถบนั้นเลี้ยงได้ดี และที่สำคัญปลาค่อนข้างมีราคาแพงอีกด้วย

สำหรับท่านใดที่สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเฉลียว รูปิยะเวช หมายเลขโทรศัพท์ (081) 639-7105, (081) 930-0645