สศก. หนุนชาวสุราษฎร์ เลี้ยงแพะเสริมรายได้ มีตลาดรองรับ เน้นรวมกลุ่ม พัฒนามาตรฐานฟาร์ม

นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมในสวนยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่ง “การเลี้ยงแพะ” เป็นสินค้าทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศมาเลเซีย ดังนั้น สศก. โดย สศท.8 ได้ศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สำคัญระดับจังหวัดและสินค้าทางเลือกเพื่อเสริมรายได้เกษตรกร ภายใต้โครงการการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map)

สำหรับสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ปี 2563 เกษตรกรมีการเลี้ยงแพะเนื้อ ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอพระแสง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นต้น มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 525 ราย จำนวน 11,720 ตัว นิยมเลี้ยงสายพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากขยายพันธุ์ได้เร็ว มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม ใช้พื้นที่เลี้ยงต่อตัวน้อย และที่สำคัญเลี้ยงง่าย กินอาหารพวกพืชได้หลายชนิด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,717 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 375 บาท ค่าแรงงาน 701 บาท ค่าอาหาร 1,332 บาท และส่วนที่เหลือ 309 บาท เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยแม่แพะ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะประมาณ 1-2 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 7 ปี ซึ่งแพะจะมีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 6-8 เดือน (น้ำหนักประมาณ 31.2 กิโลกรัม) ราคา 5,023 บาท/ตัว (161 บาท/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) คิดเป็นรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 2,306 บาท/ตัว นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำมูลแพะมาทำเป็นปุ๋ยขายในราคากิโลกรัมละ 3 บาท เนื่องจากปุ๋ยมูลแพะมีธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช และมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยให้ดินร่วนซุยอีกด้วย

ด้านสถานการณ์ตลาด ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าฟาร์มเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้รวบรวมในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มแพะแปลงใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแพะแปลงใหญ่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจัดหาแพะเนื้อเพื่อส่งออกไปประเทศมาเลเซียประมาณ 2,000-3,000 ตัว/เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดแพะเนื้อของภาคใต้ในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ อาหารข้นมีราคาสูง และขาดแคลนอาหารหยาบในบางช่วง หรือกรณีการนำเข้าแพะพ่อแม่พันธุ์จากต่างถิ่นก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ และที่สำคัญผู้บริโภคในประเทศมีเฉพาะกลุ่ม และส่วนใหญ่ยังไม่นิยมบริโภคเนื้อแพะเท่าที่ควร

นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล

ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้มีแผนงานโครงการส่งเสริม การเลี้ยงแพะตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่งเสริมการผลิตแพะคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค และได้มาตรฐานฟาร์ม สนับสนุนการผลิตพืชอาหารสัตว์ รวมถึงจัดหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นการบริโภคเนื้อแพะเพิ่มขึ้น หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดแพะเนื้อจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. (077) 311-641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th