แนะสินค้าทางเลือก Future Crop “โกโก้-กาแฟ” สร้างรายได้เกษตรกร จังหวัดตราด

นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญในระดับพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) ซึ่ง สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top10) ของพื้นที่จังหวัดตราด เรียงลำดับตามมูลค่าสินค้ากลุ่มด้านพืชดังนี้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรดโรงงาน ข้าวนาปี และมะพร้าว โดยปี 2562 เกษตรกรมีการปลูกกลุ่มพืชดังกล่าวในพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) ซึ่งพบว่า จากการผลิตยางพารา เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 425 บาทต่อไร่ต่อปี ปาล์มน้ำมัน ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,415 บาทต่อไร่ต่อปี สับปะรดโรงงาน ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 6,854 บาทต่อไร่ต่อปี ข้าวนาปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,123 บาทต่อไร่ต่อปี และมะพร้าว ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 2,937 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยของการผลิตยางพารามีมูลค่าต่ำที่สุด

หากพิจารณาสินค้าทางเลือกให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มพบว่า เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดตราด ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าทางเลือกหลายชนิด โดย สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) ที่น่าสนใจคือ โกโก้ มีต้นทุนการผลิต 4,362 บาทต่อไร่ต่อปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 2 และเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี) ต้นโกโก้มีอายุเฉลี่ยถึง 60 ปี นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลังจากให้ผลแล้วทุก 15 วัน ซึ่งต้นโกโก้ที่มีอายุเฉลี่ย 2-5 ปี จะให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ย 889 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี และถ้าอายุต้นเฉลี่ย 2-15 ปี จะให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ยสูงถึง 1,593 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 16,447 บาทต่อไร่ต่อปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 12,085 บาทต่อไร่ต่อปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 18.5 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันมีหลายบริษัททำสัญญาซื้อในราคาประกันระยะยาวและมีบริษัทมารับซื้อผลผลิตของเกษตรกรถึงที่สวน ซึ่งในส่วนของจังหวัดตราดได้มีการส่งเสริมสินค้าโกโก้ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด ได้สนับสนุนจุดเรียนรู้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ความยั่งยืน ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมือง ถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

นางธีรารัตน์ สมพงษ์

สำหรับสินค้าทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่จังหวัดตราดสามารถผลิตได้ และเกษตรกรสามารถสร้างจุดแข็งและขยายผลต่อยอดเพิ่มมูลค่าในการแปรรูป คือ กาแฟ (โรบัสต้า) โดยมีต้นทุนการผลิต 10,910 บาทต่อไร่ต่อปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4) นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 150-180 วัน ให้ผลผลิตผลสดเฉลี่ย 1,561 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 23,415 บาทต่อไร่ต่อปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 12,505 บาทต่อไร่ต่อปี ปัจจุบันราคารับซื้อเฉลี่ย 15 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ จุดเด่นของกาแฟ (โรบัสต้า) สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น เมล็ดกาแฟ และกากกาแฟ นอกจากทำเครื่องดื่มแล้ว สามารถทำชาจากดอกกาแฟได้ด้วย และปรุงแต่งขนมหวานต่างๆ กาแฟอัดเม็ด ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ และเครื่องสำอาง สำหรับการส่งเสริมสินค้ากาแฟภายในจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาตราด ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อตามห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรสู่สินเชื่อ SME เกษตร และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ โดยจัดหาวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสามารถรวมกลุ่มกันผลิตและขายได้ และสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด สนับสนุนเรี่องการรวมกลุ่ม จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขนำตนต้นน้ำ ตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดหลักในการรับซื้อผลผลิตกาแฟของจังหวัดตราด

ทั้งนี้ ในส่วนของ สศท.6 ได้จัดทำการศึกษาความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจของการปลูกกาแฟในสวนผลไม้ในจังหวัดตราด และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสินค้าทางเลือกทั้งโกโก้และกาแฟของจังหวัดตราด และจัดประชุมหารือการจัดทำสินค้าทางเลือกของภาคตะวันออก ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อระดมความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน หากท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. (038) 351-261 หรืออีเมล [email protected]