เพาะเมล็ดกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อ ได้ต้นใหม่นับหมื่นนับแสนต้น

เมล็ดกล้วยไม้ มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นผงละเอียดคล้ายฝุ่น เมล็ดที่สมบูรณ์จะมีลักษณะป่องตรงกลางและมีสีเข้ม ส่วนที่เห็นเป็นก้อนกลมตรงกลางเมล็ด เรียกว่า เอ็มบริโอ ซึ่งเป็นส่วนที่มีชีวิตและจะงอกเป็นต้นกล้วยไม้ต่อไป เมล็ดกล้วยไม้ไม่มีอาหารสำรองเหมือนเมล็ดพืชชนิดอื่น การงอกของเมล็ดกล้วยไม้จึงต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและต้องมีเชื้อราในกลุ่มไมคอร์ไรซา นำส่งสารอาหารให้เอ็มบริโอ เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์และสามารถงอกเป็นต้นอ่อนกล้วยไม้ได้ต่อไป

ปัจจุบันนี้เราสามารถนำเมล็ดกล้วยไม้มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ (อาหารเพาะเลี้ยง) สูตรต่างๆ ในสภาพปลอดเชื้อ ฝักกล้วยไม้เพียงฝักเดียวสามารถนำเอาเมล็ดที่อยู่ภายในมาเพาะเลี้ยงให้งอกและเจริญเติบโตเป็นต้นกล้วยไม้เพื่อปลูกในธรรมชาติได้นับหมื่นนับแสนต้น

ฝักกล้วยไม้

เมล็ดกล้วยไม้เล็กๆ ที่โรยอยู่บนผิวของอาหารสังเคราะห์จะใช้ประโยชน์จากสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามิน ฮอร์โมนพืชและน้ำตาล เปรียบเสมือนเป็นอาหารสำรองสำหรับช่วยให้ เอ็มบริโอเกิดการงอกได้

เมล็ดในฝักจำนวนมหาศาล

ความสำเร็จในด้านการขยายพันธุ์กล้วยไม้ จากการเพาะเมล็ดแบบนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญต่อวงการกล้วยไม้ไทย อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

1. ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ ปัจจุบันกล้วยไม้ป่าที่เจริญเติบโตในธรรมชาติทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยถูกนำมาเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์จำนวนมาก โดยใช้วิธีการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อทําหน้าที่ในการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ไทย ในที่นี้

กล้วยไม้ในโครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2535 รับผิดชอบในการเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานกล้วยไม้ไทยทุกชนิด รวมทั้งทำหน้าที่ผลิตและขยายพันธุ์กล้วยไม้ชนิดต่างๆ ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ มีโรงเรือนและระบบการอนุบาลต้นพันธุ์กล้วยไม้ จากนั้นจึงดําเนินการกระจายต้นพันธุ์ที่เจริญเติบโตและแข็งแรงคืนสู่ป่าธรรมชาติที่เป็นถิ่นกำเนิดเดิมของกล้วยไม้แต่ละชนิดนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นหน่วยงานสำคัญที่ร่วมกันส่งเสริมการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนโดยมีการปล่อยกล้วยไม้ไทยนานาชนิดไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดมายกตัวอย่างเช่น ตามวัด ชุมชนต่างๆ สถาบันการศึกษา หน่วยราชการ สวนสาธารณะและป่าชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement
Den.Dawn maree (ลูกผสมของเอื้องปากนกแก้ว+เอื้องเงินหลวง)

2. ประโยชน์ทางด้านการปรับปรุงพันธุ์ มีกล้วยไม้จากป่าธรรมชาติมากมายที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดีเด่นเหมาะต่อการนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์กล้วยไม้เหล่านี้ จะถูกคัดเลือกเพื่อใช้เป็นกล้วยไม้สายพันธุ์การค้า

เช่น ใช้สำหรับเป็นกล้วยไม้ตัดดอกหรือเป็นกล้วยไม้กระถาง เพื่อธุรกิจการส่งออกต่างประเทศ การสร้างกล้วยไม้ลูกผสมเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ นักปรับปรุงพันธุ์จะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กล้วยไม้ที่มีลักษณะเหมาะสมและคาดเดาว่าลูกผสมที่เกิดขึ้นมานี้ ควรมีลักษณะอย่างไร

Advertisement

จากนั้นจึงผสมเกสร เมื่อรังไข่ของดอกกล้วยไม้รับเอาเกสรตัวผู้เข้ามาผสมจะเกิดการปฏิสนธิ ซึ่งทำให้เกิดเป็นฝักกล้วยไม้ที่มีเมล็ดจำนวนมากอยู่ภายใน เมล็ดที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะถูกนำไปเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ ต้นกล้วยไม้ที่เกิดขึ้นจะนำมาปลูกเลี้ยงและคัดเลือกบางต้นที่มีลักษณะดีเด่นและจะส่งไปขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ด้วย

วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขั้นตอนนี้จึงเป็นการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ ต้นพันธุ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์ที่คัดเลือกมาทุกต้น จึงให้ผลผลิตสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน เหมาะสำหรับใช้ในธุรกิจกล้วยไม้ตัดดอกหรือผลิตเป็นกล้วยไม้กระถางจำนวนมากๆ

ฝักแตกต่างกันไปแต่ละพันธุ์

ขั้นตอนและวิธีการ

การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ให้ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย เช่น ความสมบูรณ์ของฝักกล้วยไม้ การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ การเพาะเลี้ยงเมล็ด สูตรอาหาร สภาพการดูแล ซึ่งมีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

1. ความสมบูรณ์ของฝักกล้วยไม้ ฝักกล้วยไม้ที่สมบูรณ์ เกิดจากการผสมพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรงเป็นต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดี เพื่อให้ลูกผสมกล้วยไม้ที่เกิดขึ้นมีพันธุกรรมที่ดีตามไปด้วย เมื่อดอกกล้วยไม้ได้รับการผสมพันธุ์ก็จะติดฝักที่ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ฝักกล้วยไม้ที่เหมาะสมต่อการนำไปเพาะเลี้ยงควรมีอายุอย่างน้อย 2 ใน 3 ของความแก่เต็มที่ของกล้วยไม้แต่ละชนิดนั้นๆ

เช่น กล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซีส ควรมีอายุฝักแก่ประมาณ 180 วัน หรือกล้วยไม้สกุลช้าง ควรมีอายุฝักแก่ประมาณ 360 วัน ฝักที่มีอายุเหมาะสม เมื่อนำไปเพาะเมล็ดก็จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกดี มีจํานวนต้นกล้วยไม้ที่มีลักษณะปกติมาก

ลูกผสมฟาแลนนอปซิส
การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์

2. การฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อราและแบคทีเรียทุกชนิดต้องถูกกำจัดมิให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนใดๆ ขณะที่เพาะเลี้ยงเมล็ดกล้วยไม้ วัสดุอุปกรณ์ อาหารเพาะเลี้ยง จะต้องถูกนึ่งฆ่าเชื้อตามวิธีการ การปฏิบัติงานใดๆ

เช่น การเปลี่ยนถ่ายเมล็ดจากอาหารขวดเก่าไปสู่อาหารขวดใหม่ก็ต้องปฏิบัติภายในตู้ปลอดเชื้อที่มีระบบกรองเชื้อจุลินทรีย์ ดังนั้น ก่อนเพาะเลี้ยงเมล็ดกล้วยไม้ ฝักกล้วยไม้ทุกชนิดก็จะต้องผ่านขั้นตอนการฟอกฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวฝักเสียก่อน โดยปกติจะใช้สารเคมี โซเดียมไฮโปคลอไรด์หรือสารคลอร็อกซ์ ความเข้มข้นประมาณ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลานานประมาณ 10-15 นาที จากนั้นจึงล้างฝักกล้วยไม้ให้สะอาดด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว จากนั้นจึงนำฝักล้วยไม้ไปผ่าเอาเมล็ดที่อยู่ภายในโรยบนผิวอาหารเพาะเลี้ยงต่อไปได้

ฝักที่ไม่แตก

3. การเพาะเลี้ยงเมล็ด เมล็ดกล้วยไม้จะถูกโรยบางๆ บนผิวอาหารเพาะเลี้ยง เมื่อเอ็มบริโอที่อยู่ภายในเมล็ดได้รับความชื้นและสารอาหารที่ซึมผ่านเปลือกหุ้มเมล็ดเข้ามา ก็จะเกิดการงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นกล้วยไม้ สำหรับเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ก็จะมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำหรืองอกแต่เจริญเติบโตเป็นต้นที่อ่อนแอผิดปกติ ดังนั้น ต้นพันธุ์เหล่านี้ต้องคอยคัดทิ้ง ไม่นำมาเพาะเลี้ยง

การเพาะเมล็ดกล้วยไม้ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะเจริญเติบโตเป็นต้นกล้วยไม้ที่สมบูรณ์ โดยปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 10-12 เดือน และมีการย้ายต้นอ่อนกล้วยไม้จากอาหารขวดเดิมย้ายไปสู่อาหารขวดใหม่ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งพอสรุปขั้นตอนการเพาะเมล็ดได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ต้นได้จากการเพาะเมล็ดแล้วดูแลดี

3.1 ระยะเมล็ดเริ่มงอก ระยะนี้สังเกตเมล็ดเป็นก้อนกลมๆ สีเขียว มีปลายแหลมของยอดกล้วยไม้อาจมีใบอ่อนเล็กๆ ปรากฏให้เห็น ระยะนี้ใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงประมาณ 3 เดือน

3.2 ระยะเกลี่ยต้นอ่อน เป็นระยะที่ต้นอ่อนกล้วยไม้ถูกนำมาเกลี่ยกระจายบางๆ บนผิวอาหารขวดใหม่ เมื่อกล้วยไม้ได้รับสารอาหารใหม่ก็จะเริ่มพัฒนาโครงสร้างต้นและใบอ่อนเพิ่มขึ้น ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

รากงอก
เจริญเติบโตดี

3.3 ระยะชักนำราก เป็นระยะที่ต้องคัดแยกต้นกล้วยไม้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ขนาดต้นใหญ่สุด ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ขนาดใหญ่และขนาดกลางให้นำมาปักเรียงเป็นแถว เรียงเดี่ยวเว้นระยะเล็กน้อยในอาหารขวดใหม่รอให้เกิดระบบรากเพื่อนำไปอนุบาลในสภาพธรรมชาติต่อไป ระยะนี้ใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน

4. สูตรอาหาร อาหารสูตร Vacin และ Went (1949) เป็นอาหารเพาะเลี้ยงกล้วยไม้สูตรที่ได้รับความนิยม อาหารสูตรนี้ประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสม มีน้ำตาลเป็นสารให้พลังงาน น้ำมะพร้าวอ่อน กล้วยหอม และมันฝรั่งบด ซึ่งมีสารที่มีประโยชน์หลายชนิด รวมทั้งมีฮอร์โมนพืชที่ช่วยกระตุ้นการงอกและการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไม้ เราสามารถใช้อาหารเพาะเลี้ยงสูตรนี้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ได้ทุกระยะการเจริญเติบโต

เมล็ดกล้วยไม้ในอาหาร
สามารถรักษาพันธุ์เดิมไว้ได้ด้วยการเพาะเมล็ด

5. สภาพการดูแล

5.1 อุณหภูมิ เมล็ดกล้วยไม้ส่วนใหญ่งอกและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส แต่กล้วยไม้บางชนิดที่เจริญเติบโตอยู่ในเขตหนาวอุณหภูมิต่ำ บางท่านอาจเรียกว่า ไม้เย็น กล้วยไม้เหล่านี้อาจจำเป็นต้องเพาะเมล็ดในสภาพอุณหภูมิต่ำ

5.2 สภาพแสง เมล็ดกล้วยไม้ที่สมบูรณ์สามารถงอกได้ดีเมื่อเพาะเลี้ยงภายใต้แสงสังเคราะห์จากหลอดไฟฟ้าหรือภายใต้สภาพแสงธรรมชาติแบบรำไร แต่มีกล้วยไม้บางชนิด เช่น สกุลรองเท้านารี ต้องการสภาพมืดเพื่อการงอกของเมล็ดและเมื่อเจริญเติบโตมีใบ 1 ถึง 2 ใบแล้ว จึงค่อยย้ายออกรับแสงอ่อนๆ ได้ต่อไป

ใช้เป็นฐานปรับปรุงพันธุ์ได้
มีพันธุกรรมดี ลูกผสมจึงออกมาสวยงาม

มีกล้วยไม้ลูกผสมชนิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในตลาดการค้าโลก เช่น สกุลฟาแลนนอปซิส ที่ปัจจุบันประเทศไต้หวันมีชื่อเสียงในด้านการปรับปรุงพันธุ์และการส่งออก ประเทศไทยเราก็มีชื่อเสียงเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเขตร้อน สิ่งเหล่านี้เกิดจากหลายองค์ประกอบ รวมทั้งความสำเร็จจากความสามารถในการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ ธุรกิจการค้าตลาดกล้วยไม้โลกยังมีอนาคตทางการตลาดที่ดี และยังมีกล้วยไม้อีกมากมายหลายชนิดที่รอให้มนุษย์เข้ามาคิดพัฒนา ปรับปรุงระบบการผลิต เพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้พันธุ์แท้ หรือประโยชน์ทางด้านการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เกิดลูกผสมกล้วยไม้สกุลต่างๆ ที่สวยงามต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086-084-6362 FB : Woranut Senivongs Na Ayuthaya