วิทย์ มธ. โชว์นวัตกรรมยืดอายุมะนาว ต้นทุนต่ำช่วยคงความสด-เปรี้ยวนาน 3 เดือน

รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า มะนาวเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถมีผลผลิตมะนาวขายได้ในหน้าแล้งโดยไม่ต้องเสียรายได้ในช่วงที่มะนาวไม่ออกผล และค่าใช้จ่ายในการบำรุง/ฟื้นฟูต้นมะนาวให้กลับมามีสภาพเดิม โดยศึกษาวิจัยมา 1 ปี ได้ผลลัพธ์เป็นนวัตกรรมยืดอายุผลมะนาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ สูตรสารกระตุ้นการสร้างคลอโรฟิลล์แบบต้นทุนต่ำ ที่ใช้ฉีดที่ผลมะนาว และจะช่วยยืดอายุผลมะนาวสดได้นานถึง 3 เดือน คงรสชาติเปรี้ยว มีผิวที่สวยสด สมบูรณ์ขึ้น พร้อมแก่การเก็บรักษา โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานสากล และอีกส่วนหนึ่งคือ กล่องแอ๊กทีฟแพ็กเกจจิ้ง (Active Packaging) ที่ภายในกล่องพลาสติกทับเปอร์แวร์จะประกอบด้วยฟิล์มพิเศษ คอยทำหน้าที่ควบคุมการซึมผ่านอากาศเข้าออก

รศ.วรภัทร กล่าวว่า นวัตกรรมนี้มีค่าใช้จ่ายต่ำ เนื่องจากตัวสูตรน้ำยาเร่งคลอโรฟิลล์ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3 สตางค์ ต่อมะนาว 1 ลูก ส่วนกล่องแอ๊กทีฟแพ็กเกจจิ้งสามารถหาซื้อได้ในราคา 100 บาท ซึ่งสามารถจุได้ถึง 10 กิโลกรัม ส่วนฟิล์มที่ใช้มีต้นทุนเพียง 50 สตางค์ สามารถใช้ได้นาน 3 เดือน เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายเพียง 60 สตางค์ ถึง 1 บาท ต่อมะนาว 1 ผล แต่สามารถขายมะนาวได้ในราคาดีขึ้น

“อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวยังไม่มีการขายสูตรในเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาด้านเปลือกมะนาวยุบ และปัญหาสีผิวเปลี่ยนเมื่อเก็บไว้นาน โดยสำหรับเกษตรกรสวนมะนาวที่สนใจในนวัตกรรมข้างต้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่สาขาเทคโนโลยีการเกษตร” รศ.วรภัทร กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูล หนังสือพิมพ์ข่าวสด