ราชมงคลสุวรรณภูมิ ร่วมสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพเกษตรกร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมากทั้งภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งภาคเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นแนวโน้มของประชาชนในเมืองที่มีความสนใจในการกลับมาอยู่ในสังคมชนบทและประกอบอาชีพเกษตรกรเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขึ้นเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นได้มีองค์ความรู้ทางด้านเกษตร และมีเครือข่ายการทำงานเพื่อสามารถดำรงชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวนลินี สาระกูล สหกรณ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ รองอธิการบดี และคณาจารย์จาก มทร.สุวรรณภูมิ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จำกัด ศูนย์ประสานงานสมาคมกรุงเก่า เพื่อการพัฒนาวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณอ้วน เจ้าของฟาร์มนาทิพย์เกษม คุณเชิดศักดิ์ ไวยอาษา ประธานกลุ่มเกษตรกร PGS พระนครศรีอยุธยาเป็นวิทยากร ซึ่งมีลูกหลานเกษตรกร หน่วยงานภาคีและสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมนนทรี ชั้น 8 มทร.สุวรรณภูมิ และนาทิพย์เกษม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ รองอธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดและภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ว่าเป็นการทำงานในแนวคิดการสร้างเครือข่ายเกษตรกร และสร้างความเป็นผู้ประกอบการเกษตร จากสถานการณ์ปัจจุบันเกษตรกรต้องเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินธุรกิจ ต้องมีการทำงานแบบเชื่อมโยงตามหลัก Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรร่วมกัน โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ออกแบบหลักสูตรผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ บรรยายในหัวข้อ “สหกรณ์คืออะไร”  Workshop เรื่อง “ร่วมสานฝันอยุธยา อู่ข้าว อู่น้ำ” “การเขียนแผนธุกิจด้วย Business Canvas Model” “นวัตกรรมเกษตร” “Network Value Chain” และเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของเกษตรกรรุ่นพี่อย่างคุณอ้วน เจ้าของฟาร์มนาทิพย์เกษม และ คุณเชิดศักดิ์ ไวยอาษา หัวข้อ “From Farm to Home” และมุ่งหวังให้การทำงานแบบเครือข่ายสร้างการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม และพัฒนาภาคเกษตรสู่ความมั่นคงทางอาหารของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างยั่งยืน