เครือหมาน้อย ฉายา “หมอตำแย”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissampelos  pareira L. Var. hirsute (Buch. Ex DC.) Forman.

ชื่อวงศ์ MENISPERMACEAE

ชื่ออื่นๆ หมอน้อย (อุบลราชธานี) กรุงเขมา (กลาง นครศรีธรรมราช) ก้นปิด (ตะวันตกเฉียงใต้) ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง) เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) สีฟัน (เพชรบุรี) หมาน้อย (ชื่อเรียกตามท้องถิ่น)

หมาน้อยขออนุญาตแทนตัวเองเรียกชื่อนี้  เพราะไม่ทราบจะแทนตัวด้วยอะไร

ถ้าใช้ “หนู” ฟังดูเป็นเด็ก หรือหญิงสาว ถ้าแทนว่า “ฉัน” ก็ฟังเป็นผู้ใหญ่มาด “กร้าว” เกินไป เมื่อทุกๆ ท้องถิ่นเรียก “หมาน้อย” จึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้ กลัวอยู่อย่างเดียวคือ เวลาชาวบ้านปรุง “ลาบหมาน้อย” คนที่เพิ่งได้ยินก็ตกใจว่า  ฮ้า..! หมู่บ้านนี้ ใช้ “ลูกหมา” มาทำลาบเนื้อน้ำตกด้วยหรือ

วัฒนธรรมการกินอาหารมีอยู่ทุกภาค เมนูอาหารอร่อย ถูกปรุงด้วยรสชาติถูกปากถูกใจตามท้องถิ่น แต่การเรียกชื่ออาหาร จะต้องมีคำอธิบายสำหรับบางภูมิภาค ใครๆ ก็ชอบอาหาร “รสแซ่บ” ลาบเนื้อ ลาบหมู ลาบเป็ด แต่มีเมนูอาหารพื้นบ้านชื่อแปลกของชาวอีสานที่ชื่อ “ลาบหมาน้อย” ทำให้ตัว “หมาน้อย” เองสะดุ้งเช่นกัน ช่วงแรกๆ ที่หมาน้อยได้ยินว่า คุณป้า คุณลุง จะทำ “ลาบหมาน้อย” ก็สงสารลูกหมาตัวเล็กๆ 4 ขา ที่เพิ่งออกมาได้ไม่กี่เดือน จะต้องถูกเชือดทำลาบ แต่ทำไมเขาต้องมาตัด มาดึง มาสาวใบ ย่านเถาหมาน้อย ทุกๆ ครั้งที่พูดว่าทำลาบหมาน้อย คือเลือกใบหมาน้อยสีเขียวเข้ม ที่โตเต็มที่ไปล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วก็ขยี้กับน้ำเปล่าอีก เพื่อให้เมือกลื่นๆ ละลายในน้ำ แล้วน้ำก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม จึงกรองเอากากใบออก ขั้นตอนนี้บางคนก็เรียกว่าได้ “น้ำวุ้นหมาน้อย” ถ้าต้องการให้น้ำวุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น ก็ผสมน้ำคั้นใบย่านางลงไปเล็กน้อย จากนั้นก็นำน้ำวุ้นข้นๆ นี้ไปปรุงรสแซ่บตามชอบ ถ้าทำป็นลาบของคาวก็เติมพริกป่น ปลาป่น หรือใครชอบน้ำปลาร้าสุกก็ใส่ตอนนี้ เติมน้ำปลา ต้นหอม ผักชีหั่นฝอย ข้าวคั่ว ทิ้งไว้สักชั่วโมง ส่วนผสมก็จับตัวเป็นก้อนวุ้นจะได้เนื้อสัมผัสกรุบๆ กรอบๆ เคี้ยวได้รสชาติกระดูกอ่อน

ไม่เชื่อก็อ่าน เทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับ 6o4 วันที่ 1 สิงหาคม 2558 ฉบับ 639 วันที่ 15 มกราคม 2560 หรือเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ 19 มกราคม 2560 รวมทั้งใน “วัฒนธรรม” ที่คุณกฤษณะ โสภี เขียนไว้เมื่อ วันที่ 5 กันยายน 2563 ถึงวิธีทำอย่างละเอียด จะได้เข้าใจและอร่อยกับ “ลาบหมาน้อย” มากขึ้น

ถ้าอยากจะกินหมาน้อยเป็นของหวาน ก็ปรุงรสเมื่อกรองน้ำคั้นใส่ใบย่านางแล้ว ก็เติมน้ำคั้นใบเตยใส่ด้วยพร้อมเกลือเล็กน้อย น้ำวุ้นก็จะแข็งตัวเร็วขึ้นเป็นวุ้นหมาน้อย จะเลือกเติมน้ำหวานด้วยน้ำตาล หรือน้ำเชื่อมแบบไหนตามรสนิยม ก็เป็นอาหารว่างชั้นเลิศ หมาน้อยภูมิใจที่มีนักวิชาการสนใจ และจัดเป็นสมุนไพรไทยยาเย็น แก้ร้อนใน ดับพิษร้อน เขาศึกษาพบว่า น้ำคั้นใบหมาน้อยทิ้งไว้เป็นวุ้นได้ เพราะในใบมีสาร “เพคติน” (pectin) ถึงร้อยละ 30 สารเพคตินนี้เป็นพวกเดียวกับวุ้นพุงทะลายหรือวุ้นในเมล็ดแมงลักซึ่งมีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำ เป็นการเพิ่มกากอาหารในลำไส้ ช่วยการขับถ่ายและดูดซับสารพิษในลำไส้ ลดการเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน คอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี

หมาน้อย เป็นพืชป่าไม้เถาเลื้อย เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่ม สั้น คลุมแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ จึงเป็นที่มาของชื่อ ตามที่เรียกสืบทอดกันมา โดยเฉพาะใบของหมาน้อยมีขนนุ่ม เวลาเอามือลูบจับจะสัมผัสขนนุ่มๆ เหมือนขนของลูกหมาจึงถูกเรียกว่า “หมาน้อย” ใบสวยรูปหัวใจ หรือไต มีขนนุ่มเนื้อบาง แต่จะร่วงเมื่อแก่ ออกดอกเป็นกระจุกสีขาวที่ง่ามใบ ผลสดมีก้านอวบใหญ่เมื่อสุกเป็นสีน้ำตาลแดง เมล็ดโค้งงอรูปพระจันทร์เสี้ยว ใช้ขยายพันธุ์ได้ดี หรือใช้เหง้าปลูก ชอบขึ้นในธรรมชาติ ตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่

สรรพคุณในตำรายาไทย ส่วนเหนือดิน แก้ร้อนใน โรคตับ แก้ไข้ เป็นยาอายุวัฒนะ ราก มีกลิ่นหอมรสสุขุม รากและใบตำพอกแก้โรคผิวหนัง ทาภายนอก ขับเหงื่อ น้ำเหลือง หมาน้อยเป็นยาผู้หญิงปรับประจำเดือน แก้ปวด ไข้ทับระดู ใช้หัวฝนน้ำดื่ม หมอยาต่างประเทศใช้เถา ราก ใบ เปลือก ระงับอาการปวดก่อนและหลังคลอด รักษาอาการตกเลือด

และได้ฉายาว่า “สมุนไพรหมอตำแย” (Midwives’s herb) รวมทั้งปรับสมดุลฮอร์โมนเพศของผู้หญิง หมอยาไทยใหญ่เรียกหมาน้อยว่า “ยาไม่มีลูก” โดยต้มรากดื่มแทนน้ำ เป็นยาคุมกำเนิด หมอยาจังหวัดปราจีนบุรี ใช้ใบขยี้เป็นวุ้นรักษาฝี ผิวหนัง แก้บวมปวดข้อ หมอยาไทยใช้รากทำเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งดื่ม แล้วยังใช้เป็นส่วนประกอบทำลูกแป้งเหล้าด้วย บางชนเผ่าใช้ใบ เปลือก ราก แช่ในเหล้ารัม อ้างสรรพคุณบำรุงสมรรถภาพทางเพศ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ใช้กับคนท้อง แหม..! หมาน้อยถูกใช้เป็นสารพัดหมอจังเล้ย

แปลกใจที่ชื่อเพราะๆ ซึ่งชาวนครศรีฯ เรียก “กรุงเขมา” ภาคตะวันตก เรียก “ก้นปิด” จะมีที่มาอย่างไรไม่ทราบได้ ก็พอๆ กับที่แม่ฮ่องสอน เรียกชื่อ “เปล้าเลือด” ดีนะดี…ไม่เรียก “ลาบเลือดหมาน้อย..!”

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2563