เสือ บุปผา แม่ย่านางแห่ง ห้วยขาแข้ง วันนี้ยังสบายดีและแข็งแรงมาก ลุ้น ข้าวจี่ มีลูก

“เมื่อเช้า(วันที่ 10 เมษายน) เจ้าหน้าที่ของเรายังเจอบุปผาตัวเป็นๆอยู่เลย เธอสบายดี ท่าทางยังแข็งแรงสง่างามสมที่เป็นผู้เฒ่าแห่งห้วยขาแข้ง”
ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าว น้ำเสียงยินดี

พร้อมทั้งบอกด้วยว่า เมื่อ 2 วันก่อนหน้านี้ แคมเมรา แทปส์ ก็ถ่ายรูปขณะที่บุปผากำลังกินซากกวางได้อีกด้วย เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า แม่ย่านางแห่งห้วยขาแข้งตัวนี้ แม้จะอยู่ในช่วงปัจฉิมวัยแห่งพยัคฆ์ไพรแล้ว แต่เขี้ยวเล็บยังแพรวพราวร้ายกาจ ไม่ยอมแพ้ต่อกาลเวลาง่ายๆ
บุปผา เกิดที่ห้วยขาแข้ง ปัจจุบันนี้อายุราวๆ 15 ปี หรือหากเทียบกับคน บุปผาก็จะอายุราวๆ 80 ปี ถือเป็นเสือโคร่งที่อายุมากที่สุด นับแต่มีการทำวิจัยบันทึกข้อมูลเสือในป่าของประเทศไทย

บุปผา ถือเป็นเสือตัวเดียวในโลก ที่นักวิจัยได้สัมผัสกับชีวิตของเธอตั้งแต่เกิด จนถึงเวลาใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต” ศักดิ์สิทธิ์ บอก

บุปผาเกิดเมื่อปี 2545 เป็นลูกของ แม่เสือรตยา ซึ่งนักวิจัยตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียติให้กับ อ.รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคเสถียร ที่ได้รับสมญานามว่า นางสิงห์เฝ้าป่า

นักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ นำโดย ศักดิ์สิทธิ์ และสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สามารถถ่ายภาพเจ้าบุปผา โดยกล้องแคมแมร่าแท็ป ที่เอาไปติดบนต้นไม้บริเวณทางผ่านของเสือแม่ลูก ได้เมื่อตอนบุปผา อายุได้ 1 ปีเศษ หรือราวปี 2547

บุปผา วันนี้

“เราเห็นวิวัฒนาการของบุปผามาตลอด ตั้งแต่เป็นเสือน้อย จนเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นตัวเต็มวัย เป็นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์แบบ จากภาพถ่ายพบว่า นับแต่ปี 2550-2552 นั้น บุปผาตั้งท้องทุกปี โดยแม่เสือจะตั้งท้อง ราว 3-4 เดือน ออกลูกครั้งละ 3-5 ตัว แต่ประสบความสำเร็จจริงๆในการเลี้ยงลูกจนเติบโต และหากินได้ด้วยตัวเองเพียง 2 คลอก เท่านั้น คลอกหนึ่ง 2 ตัว คือ เจ้าเอื้อง กับน้องเอม และอีกคลอกคือ สมหญิง ชมพู่ และต้นน้ำ ทั้งหมด อยู่ในสายตาของนักวิจัยในเขานางรำทั้งหมด จากวิทยุติดตามตัว” ศักดิ์สิทธิ์ บอก

บุปผาตอนเป็นเสือน้อย

วันนี้บุปผา อาจจะแก่เกินไปสำหรับการมีลูกแล้ว แต่ทว่า เธอยังสามารถล่าเหยื่อเลี้ยงชีวิตตัวเองได้ตามปกติ และนักวิจัยยังคงติดตามชีวิตของบุปผาต่อไปจนกว่าเธอจะหมดลมหายใจ

สำหรับเสือตัวอื่นๆ ที่ มติชน ออนไลน์ เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ เช่น ข้าวจี่ แม่เสือสาวสะพรั่ง วัย 3 ปี ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ป่าตะวันตกในเวลานี้ โดยเดิมทีข้าวจี่อาศัย อยู่ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง เมื่อโตจนต้องออกไปหาพื้นที่หากินเป็นของตัวเอง ข้าวจี่ท่องเที่ยวไปหลายที่ เธอออกเดินจากป่าห้วยขาแข้ง เข้าไปในเขตป่าของประเทศเมียนมาร์ แล้วย้อนกลับมาอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

“จากสัญญาณวิทยุ ที่พบว่า เธอวนเวียนไปกลับที่เดิมบ่อยครั้ง ทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ตอนนี้ข้าวจี่อาจจะกำลังมีลูกก็เป็นไปได้ แต่เรายังไม่เห็นกับตา ว่ามีจริงๆหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป” ศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ข้าวจี่

ในช่วงเดือน มิถุนายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 กรมอุทยานฯ สามารถบันทึกภาพเสือโคร่ง ได้จำนวน 18 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 5 ตัว เพศเมีย 7 ตัว และลูกเสือโคร่ง 6 ตัว ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งประสิทธิภาพในการลาดตระเวนป้องกันรักษาพื้นที่ จึงทำให้เสือโคร่งสามารถดำรงชีวิตและมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ หลังจากครั้งสุดท้ายในปี 2545 ที่เคยบันทึกภาพเสือโคร่งได้บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ (คลองอีเฒ่า) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกล้องดักถ่ายภาพของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และมูลนิธิ WildAid ประเทศไทย

การสำรวจครั้งนี้เริ่มต้นในปี 2559 กรมอุทยานแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิฟรีแลนด์ และมูลนิธิ Panthera ทำการสำรวจประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า จำนวน 158 ตัว ไว้ในบริเวณที่เป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น มูลนิธิ Panthera ซึ่งได้ทำงานอนุรักษ์เพื่อปกป้องพันธุ์สัตว์ประเภทเสือภายใต้โครงการ Tiger Forever ประเมินว่าเมื่อพื้นที่กลุ่มป่า ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รับการคุ้มครองดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์ จะสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งได้มากกว่าในปัจจุบันอีกหลายเท่า

เสือโคร่งถูกจัดอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endanger species) เนื่องจากประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกมีจำนวนลดลงในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จากประมาณ 100,000 ตัว เหลืออยู่ไม่ถึง 4,000 ตัว โดยป่าที่ยังมีรายงานพบเสือโคร่งในธรรมชาติมากสุดที่กลุ่มป่าตะวันตกมากกว่า 150-200 ตัว

ที่มา : มติชนรายวัน ผู้เขียน : ชุติมา นุ่นมัน