ทำไม…มะม่วงแปดริ้ว จึงมีชื่อเสียงและขายได้

จังหวัดฉะเชิงเทราหรือเมืองแปดริ้ว มีวัดหลวงพ่อโสธรที่โด่งดังเป็นที่นับถือสักการะของผู้คนทั่วประเทศแล้ว เมืองแปดริ้วยังมีชื่อเสียงด้านการผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพ ด้วยรสชาติที่หวานหอมและเนื้อนุ่ม ทั้งมะม่วงสุกหรือดิบ ทำให้ครองใจตลาดผู้บริโภคมาช้านาน แถมยังส่งไปขายต่างประเทศได้ในปริมาณที่สูงอีกด้วย หลายคนสงสัยว่า “ทำไม…มะม่วงแปดริ้ว จึงมีชื่อเสียงและขายได้” ก่อนอื่นควรรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาพรวมการผลิตมะม่วงของไทยเสียก่อน

มะม่วงน้ำดอกไม้

ไทยมีมะม่วงพันธุ์ดีมากมาย

ประเทศไทยมีมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ทั้งเก่าและใหม่ ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษก็ปลูกมะม่วง พันธุ์อกร่อง พิมเสน ขายตึก ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ในปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง และบางพันธุ์หายไป หรือบางพันธุ์มีการนำมาปรับปรุงใหม่ เช่น พันธุ์ขายตึก หรืออย่างพันธุ์อกร่องที่พยายามนำกลับมาทำใหม่เพื่อให้ออกนอกฤดู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมะม่วงในฤดูมีปริมาณมาก ทำให้ราคาตก อย่างไรก็ตาม หากสามารถทำได้ก็จะประสบความสำเร็จเรื่องราคา เพราะเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว

มะม่วงสายพันธุ์ยอดนิยมคือ น้ำดอกไม้ ยังคงครองแชมป์ทั้งขายภายในและส่งออกไปต่างประเทศในกลุ่มของมะม่วงสุก หากเป็นมะม่วงดิบก็มีหลายสายพันธุ์ เช่น เขียวเสวย ที่มียอดการส่งไปขายที่ประเทศเวียดนามในแต่ละปีสูงมาก

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
มะม่วงเขียวเสวย

มะม่วง ไม้ผลเศรษฐกิจ

มะม่วง จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมาก นอกจากใช้บริโภคภายในประเทศในรูปผลสด แล้วยังมีการแปรรูปส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่เพาะปลูก 1.97 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.12 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,583 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 5.42 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 29.75 บาท ต่อกิโลกรัม

แหล่งผลิตมะม่วงที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย น่าน ลำพูน เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา เป็นต้น โดยสายพันธุ์มะม่วงที่ปลูกเชิงการค้าในปัจจุบัน ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ฟ้าลั่น โชคอนันต์ มหาชนก แก้วขมิ้น และอาร์ทูอีทู เป็นต้น

มะม่วงแปดริ้ว ทำเลเป็นต่อ

ข้อได้เปรียบของเกษตรกรชาวจังหวัดฉะเชิงเทราในการประกอบอาชีพปลูกมะม่วงคือ สภาพดินและน้ำ เพราะเป็นดินตะกอนที่มีความเค็มเล็กน้อย เป็นน้ำกร่อย ข้อได้เปรียบเช่นนี้ ทำให้ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรามีรสชาติหวาน เนื้อนุ่ม และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก จังหวัดฉะเชิงเทรามีการปลูกมะม่วงอยู่ในอันดับต้นของประเทศไทย มีผลผลิตปีละ 2-3 หมื่นตัน เพราะเป็นมะม่วงที่มีคุณภาพและรสชาติหวาน เนื้อนุ่ม ไม่มีโรคแมลงมารบกวน จึงทำให้ผิวสวย ขณะเดียวกัน ในแต่ละปีจะมีผลผลิตที่สูงมาก

การผลิตมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นได้รับการยอมรับทางด้านรสชาติ คุณภาพที่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อำเภอบางคล้า เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากอำเภอบางคล้ามีคุณภาพดินที่มีความเหมาะสมเพราะเป็นดินเหนียวปนตะกอน มีธาตุอาหารสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกมะม่วง พันธุ์ที่นิยมรับประทานดิบ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น แรด ทวายเดือนเก้า ขายตึก โชคอนันต์ มันขุนศรี และพันธุ์ที่นิยมรับประทานสุก ได้แก่ น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง อกร่อง และมหาชนก

จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ปลูกมะม่วงกระจายไปทุกอำเภอ ได้แก่ บางคล้า ราชสาส์น แปลงยาว พนมสารคาม สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ และคลองเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สูง ที่ดอน และเกษตรกรมีระบบการจัดสวนที่ดี โดยได้รับรองการจัดสวนตามระบบ GAP แล้ว

ทั้งนี้ ผลผลิตมะม่วงของจังหวัดส่วนใหญ่จำหน่ายในตลาดภายในประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลงนามสัญญาซื้อขายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกระหว่างเกษตรกรชาวสวนกับบริษัทผู้ส่งออก ตั้งแต่ ปี 2544 เป็นต้นมา โดยกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออก ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จังหวัดฉะเชิงเทรา และกลุ่มสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด

สถานการณ์ทางการตลาดมะม่วงของจังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับตลาดภายในประเทศ ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน อาจมีผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคามะม่วงตกต่ำ ราคาขายสูงหรือต่ำตามคุณภาพของผลผลิต และถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด ทางจังหวัดมีการช่วยเหลือเกษตรกรในการระบายผลผลิตมะม่วงด้วยการจัดงานมหกรรมมะม่วงในท้องถิ่น อันได้แก่ งานวันมะม่วงและของดีอำเภอพนมสารคาม ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยงานเทศกาลมะม่วงและของดีเมืองบางคล้า ในช่วงเดือนมีนาคม และงานวันมะม่วงและของดีเมืองแปดริ้ว ในช่วงเดือนเมษายน  นอกจากนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีโครงการจัดตลาดนัดมะม่วงอยู่ตลอดเวลาบริเวณเส้นทางฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม เป็นตลาดจำหน่ายมะม่วงขนาดใหญ่ของเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการจัดตลอดทั้งปี

จังหวัดฉะเชิงเทรามีประวัติการปลูกมะม่วงมาอย่างยาวนาน หากต้องการทำสวนมะม่วงคุณภาพดี เพื่อส่งออกแบบหลักเกณฑ์มาตรฐานแล้ว สวนเก่าแก่ทั้งหลายต้องรื้อปลูกใหม่ คือต้องให้อยู่ในช่วงเป็นวัยเจริญพันธุ์ มะม่วงต้นเก่าแก่และทางเดินอาหารไม่สะดวก ใบไม่โตแล้วจะทำให้ผลสวยได้อย่างไร จึงต้องรื้อสวนเพื่อปรับปรุงใหม่ เพราะมะม่วงถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรจะอยู่ในช่วง 8-12 ปี

เกษตรกรแปดริ้วฝีมือดี+ปรุงดินบำรุงต้นเก่ง

ความจริงที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นกลุ่มแรกที่มีการพัฒนาวิธีการปลูกมะม่วง อย่างเช่น การห่อถุง ก็ถือว่าฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่นำร่อง โดยใช้ถุงดำคาร์บอนมาห่อผลมะม่วงเพื่อทำให้ผิวมีสีสวยนวลดูน่ารับประทาน โดยห่อตั้งแต่อายุ 50-60 วัน ทิ้งไว้ประมาณ 90-100 วัน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ ผิวมะม่วงจึงสวยมาก ไม่ต้องนำไปบ่ม

เหตุผลที่ใช้ถุงดำ เพราะถุงดำมีลักษณะ 2 ชั้น ทึบแสง พอไม่มีแสงก็ไม่มีคลอโรฟิลล์ เลยเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง เดิมที วิธีนี้นิยมใช้ห่อสาลี่ในประเทศจีน แต่เกษตรกรฉะเชิงเทรานำวิธีนี้มาใช้กับมะม่วงที่ได้ผลดี

มะม่วงฉะเชิงเทรามีรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภคเพราะผู้ปลูกมีประสบการณ์ที่ยาวนาน ดังนั้น คนปลูกมะม่วงก็เหมือนคนทำอาหารที่ต้องรู้ว่าต้องการให้มีรสชาติออกมาแบบใด ควรเติมหวาน เติมเผ็ดมากน้อยแค่ไหน เพราะความมีประสบการณ์จะบอกให้รู้เอง รวมไปถึงการได้รับความช่วยเหลือ คำแนะนำเป็นอย่างดีจากนักวิชาการเกษตรมาโดยตลอด

การผลิตมะม่วงให้มีรสชาติหวานอร่อย นอกจากใช้เทคนิคประสบการณ์ด้านการเพาะปลูกของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงแล้ว ยังอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวช่วยวิเคราะห์ธาตุดินของการให้อาหารมะม่วง ว่าดินขาดธาตุอาหารตัวไหน เช่น นำตัวอย่างดินจากอำเภอพนมสารคามที่มีลักษณะเป็นดินทรายมาก ไปตรวจวิเคราะห์พบว่าขาดธาตุอาหารตัวหน้าและตัวท้าย ส่วนตัวกลางสูง ต้องปรับปุ๋ยให้เหมาะสมตรงกับความต้องการของพืช

วิธีนี้ ช่วยบำรุงพืชให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเงินได้ดี โดยทั่วไปเกษตรกรชาวสวนมะม่วงฉะเชิงเทรานิยมใช้เทคนิคการให้ปุ๋ย โดยรอบแรกใช้ปุ๋ยสูตรเสมอก่อน คือ 15-15-15 หลังราดสารแล้วนิยมใช้ปุ๋ยตัวท้ายสูงคือ สูตร 15-5-20 เพื่อบำรุงต้นให้มีความหวานนั่นเอง

โดยทั่วไป ดินส่วนใหญ่ในพื้นที่อำเภอบางคล้าหรือคลองเขื่อน เป็นดินเหนียว เมื่อนำไปวิเคราะห์ปรากฏว่าตัวท้ายสูง จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมมะม่วงในเขตนั้นจึงมีรสชาติหวาน แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ถือเป็นความได้เปรียบเชิงธรรมชาติ ประกอบกับสภาพพื้นที่ดินในจังหวัดนี้มีลักษณะพิเศษคือเป็นดิน 3 น้ำ ซึ่งเคยนำรถขุดดินลงไปลึกสัก 3 เมตร พบแต่เปลือกหอย จึงเรียกได้ว่า แผ่นดินจังหวัดฉะเชิงเทรา…ทำเลเป็นต่อ ทำให้มีผลผลิตมะม่วงมีรสชาติอร่อยเด็ด ครองใจผู้ซื้อทั้งในประเทศและตลาดส่งออกมาโดยตลอด