เผยแพร่ |
---|
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมแสดงเจตจำนงในฐานะเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ในการสร้างงานที่ดีและมีคุณค่า ส่งเสริมการจัดการด้านแรงงานอย่างรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อไทยสู่มาตรฐานสากล ในพิธิเปิดการอบรมวิทยากรต้นแบบ (Training of Trainer) การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ จัดโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากสหภาพยุโรป โดยมี นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ รับมอบปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับบรรษัทข้ามชาติและนโยบายทางสังคม (MNE Declaration) จาก นายแกรม บักเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในด้านการดูแลแรงงานและสิทธิมนุษยชน และในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่แสดงให้เห็นว่า สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และภาคธุรกิจชั้นนำ 3 บริษัท คือ ซีพีเอฟ เบทาโกร และคาร์กิล ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายแรงงานและการสร้างงานที่มีคุณค่า สร้างสภาพการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากจะยกระดับคุณภาพของสินค้าตอบรับความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมได้แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยดูแลพนักงานทุกเชื้อชาติและทุกระดับในสถานประกอบการ โรงงาน และฟาร์มอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001) ของกระทรวงแรงงาน และยังส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มยึดตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practice (GLP) ตั้งแต่ปี 2559 โดยที่บริษัทเข้าไปติดตามประเมินผลเป็นประจำทุกปี
ซีพีเอฟยินดีที่ ILO ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ มาช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านแรงงานขององค์กรเอกชนไทยได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมากขึ้น เป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทานไก่เนื้อของไทยสู่สากล โดยเฉพาะสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่นำเข้าไก่เนื้อไทย หลังจากการอบรม วิทยากรต้นแบบของบริษัทจะนำความรู้และแนวทางการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานขององค์กรระดับโลกไปถ่ายทอดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กรได้นำไปใช้บริหารจัดการแรงงานของซีพีเอฟอย่างถูกต้อง ก้าวสู่มาตรฐานแรงงานสากลอย่างยั่งยืน
นางสาวพิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า วิทยากรต้นแบบของซีพีเอฟจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปถ่ายทอดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานแปรรูปไก่เนื้อนครราชสีมา โรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรี โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่-เป็ดบางนา และจะขยายต่อไปถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัทและเกษตรกร เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานได้รับการปฏิบัติที่ดีตามหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อของบริษัท ตลอดจนการส่งเสริมการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเข้าใจและเคารพในความหลากหลาย ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หรือแรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง