ฟักแม้ว ให้ระวังโรคราน้ำค้าง

ในช่วงที่อากาศเย็น มีน้ำค้างลง และมีความชื้นในอากาศสูงเช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกฟักแม้ว (ซาโยเต้ หรือ มะระหวาน) ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคราน้ำค้างที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต

มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน ต่อมาขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน เริ่มแรกพบแผลเหลี่ยมเล็กฉ่ำน้ำตามกรอบของเส้นใบย่อย ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กรณีที่ในตอนเช้ามีความชื้นสูง จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีขาวเทาตรงแผลใต้ใบ จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ติดต่อกัน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ

หากอาการรุนแรง จะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น และต้นที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง กรณีเป็นโรคในระยะผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว

กรณีพบด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหนะเชื้อราสาเหตุโรค เกษตรกรควรกำจัดโดยการจับตัวด้วงเต่าแตงมาทำลาย หรือพ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

หากพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ พ่นทุก 5-7 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 7 วัน