กยท. เน้นย้ำมุ่งแก้ปัญหาราคาผันผวนเต็มที่ ดึงโครงการเสริม พยุงราคาให้กลับสู่เสถียรภาพ

“ผู้ว่าการฯ กยท.” ย้ำชัด เดินหน้ามุ่งแก้ปัญหาราคายางพาราผันผวนอย่างเต็มที่ พร้อมดึงโครงการเสริม เข้าช่วยพยุงราคา ให้กลับมามีเสถียรภาพเร็วที่สุด

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนถึงปลายตุลาคมที่ผ่านมา อย่างรวดเร็ว จาก 54 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 82 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นประมาณ 28 บาทต่อกิโลกรัม โดยปัจจัยมาจากในช่วงดังกล่าวผู้ซื้อในประเทศเร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบตามสัญญา ประกอบกับความต้องการใช้ยางในประเทศสูง ขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติต่างได้ผลกระทบจากพายุโซเดล และโมลาเบ กระทั่งราคายางพาราเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ 28 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน 2563 เป็นผลจากนักลงทุนต่างประเทศเกิดการเทขายเพื่อเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า อีกทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่งผลต่อการส่งออกยางพารา รวมถึงเริ่มเข้าสู่ฤดูผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาดราคาเฉลี่ยที่ 66.86 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดปิดตลาดที่ 53.50 ต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วยปิดตลาดที่ 41.50 ต่อกิโลกรัม

ผู้ว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. มีโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่ โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกร การเพิ่มจุดรับซื้อและรวบรวมน้ำยางสด และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เพื่อลดความเสี่ยงด้านรายได้ ซึ่งราคาประกันที่โครงการกำหนดไว้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดีราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสดราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อน 15 พฤษภาคม 2563 มีสวนยางเปิดกรีดแล้ว อายุยาง 7 ปีขึ้นไป รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยระยะเวลาประกันรายได้ ตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึง มีนาคม 2564 และจะเริ่มจ่ายส่วนต่างให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยพยุงราคายางไว้ ให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ที่มั่นคงต่อไป