ที่มา | แปลกที่ชื่อ แต่ฉันคือต้นไม้ |
---|---|
ผู้เขียน | เมย์วิสาข์ |
เผยแพร่ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anacardium occidentale L.
ชื่อสามัญ Cashew nut
ชื่อวงศ์ Anacardiaceae
ชื่ออื่นๆ กาหยู กาหยี (ภูเก็ต พังงา ตรัง) มะม่วงหิมพานต์ (กลาง) ยาร่วง ย่าโห้ย ย่าหวัน (พัทลุง สงขลา) ม่วงเล็ดล่อ ท้ายล่อ มะม่วงสิงหล ม่วงชูหน่วย (สุราษฎร์ธานี) หัวโหม่ง
ผมถูกนำชื่อไปใช้ในความหมายที่ต้องมีคำอธิบาย เพราะบริบทการตีความขึ้นอยู่กับบรรยากาศ อารมณ์ ในภาษาถิ่นทางภาคใต้ อาจจะมีความหมายถึงคำเรียกของผู้ใหญ่กับเด็กซนๆ เชิงล้อเล่น น่ารักๆ เท่าๆ กับ “บักหำน้อย” แต่หากอารมณ์เกลียด อาจจะเป็นคำด่า ผู้ชายหลอกลวงปลิ้นปล้อน หรือเย้ยหยันก็ได้ “ไอ้…หัวครก” จึงถูกจัดเป็นคำติดลบ สบถ
หรือคำอุทานประชด แต่ก็ดีนะที่ยังไม่เคยได้ยิน ว่า “อี..หัวครก” ผมแปลกใจตัวเอง กับคำว่า “ยาร่วง” คืออะไร และที่เรียก “ม่วงเล็ดล่อ”(เมล็ดโผล่) หรือ “ท้ายล่อ” สอดคล้องกับ “ม่วงชูหน่วย” ของชาวอำเภอกาญจนดิษฐ์ สุราษฎร์ธานี ที่เรียกลักษณะเมล็ดโผล่ออกนอกเนื้อ ชูผลลอยไว้ ส่วนที่สงสัยที่สุดคือ ในภาษาเขียน ทำไมเขียนว่า “เม็ดมะม่วงหิมพานต์” ไม่ได้เขียนว่า “เมล็ดมะม่วงหิมพานต์”
มะม่วงหิมพานต์ พืชตระกูลเดียวกับมะม่วง แต่แปลกอยู่ที่เห็นเมล็ดอยู่นอกผล ซึ่งในทางพฤกษศาสตร์ ผลที่เห็นสีเขียว เหลือง หรือแดงชมพู สุกน่ากิน นั้น คือการพองตัวของก้านดอกจึงถูกจัดเป็นผลปลอม หรือผลเทียม ส่วนผลจริงคือ เมล็ดที่ติดอยู่ส่วนปลายที่เราเรียก “เม็ดชูหน่วย” ที่งอเป็นกุ้งสีเทา สีดำ เมื่อกะเทาะเอาเนื้อในสีขาวขุ่นไปตาก อบ ทอดให้สุก เป็นของแกล้ม ขบเคี้ยว กรอบ มัน จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า จึงเรียกว่า “เม็ด” มะม่วงหิมพานต์ ใช่ไหม?
“หัวครก” มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ ไม่ได้นำเข้ามาจาก “ป่าหิมพานต์” แต่มีหลักฐานว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้นำมาเผยแพร่จากประเทศตะวันตก สู่พม่า เข้าเขตประเทศไทยทางจังหวัดระนอง เช่นเดียวกับยางพารา แล้วกระจายไปทุกภาค
มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชทนแล้ง จัดอยู่ในกลุ่มแหล่งยาและอาหารที่มีคุณภาพสูง เป็นไม้ผลเขตร้อน ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตตั้งแต่ 2-3 ปี ไม่ต้องดูแลมาก ปลูกได้ทั้งหัวไร่ปลายนา ริมถนนทางหลวง มีหลายร้อยสายพันธุ์ แยกตามสีผลได้ทั้งเหลืองเขียว แดงครั่ง ชมพูเข้ม ผลผลิตที่ต้องการ เน้นเมล็ดที่เนื้อแน่น ไม่มีโพรง เปลือกบาง น้ำมันน้อย กะเทาะง่าย มีพันธุ์แนะนำคือ สายพันธุ์ศรีสะเกษ พันธุ์ศิริชัย ขยายพันธุ์ปลูกด้วยเมล็ดแก่จัด หรือกิ่งตอนก็ได้
“หัวครก” ถูกใช้เรียกเป็นสรรพนาม บุรุษที่สอง และที่สาม ตามแต่อารมณ์ผู้พูด ได้ยินมากในจังหวัดทางภาคใต้ แต่ถ้าเป็นแหล่งปลูกจะต้องเอ่ยถึงจังหวัดกระบี่ และจังหวัดระนอง ซึ่งจะมีระดับ “โกดัง” รวบรวมเมล็ดเป็นการค้าตลาดขายส่ง รวมทั้งภาคอีสาน ที่มีการรับซื้อและแปรรูป เพราะสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง ในกระสอบป่านได้ข้ามปี แต่ต้องผ่านการตากแดดจัด 7-8 แดด ในช่วง 3-4 เดือน ที่รอการซื้อขาย และการแปรรูปในระดับการขายส่ง
นิยมการ “คั่วแบบโบราณ” โดยใช้เตาขนาดใหญ่ กับกระทะสแตนเลสสั่งทำพิเศษ เป็นถาดสี่เหลี่ยม เจาะรูที่ก้นถาดเป็นรอยตะปูทั่วถาด เพื่อให้น้ำมันหยดลงด้านล่างกลายเป็นเชื้อไฟแรงขึ้นได้อีก สมัยก่อนใช้ถ่าน หรือเปลือกเมล็ดที่กะเทาะออกแทนฟืนก็ได้ คั่วประมาณ 45 นาที คนคั่วจะใช้ไม้คนเมล็ดเป็นสแตนเลสต่อด้ามไม้ยาว ใส่เสื้อแขนยาว หนา ป้องกันน้ำมันที่หยดกระเด็นจากไฟ ช่วงที่เมล็ดสุกจะมีกลิ่นหอมไหม้ไฟ เมื่อรอให้เย็นก็กะเทาะเปลือก โดยทุบเบาๆ แล้วได้ “เม็ด” มะม่วงหิมพานต์ ที่สมบูรณ์ติดคู่ทั้ง 2 ซีก หรือแตกหักแยกออก เป็นตัวคัดแยกคุณภาพ ปกติเมล็ดสด 50 กิโลกรัม จะได้เมล็ดที่กะเทาะแล้ว 18-20 กิโลกรัม นำเข้าการอบด้วยตู้อบอุณหภูมิสูง อีก 30-40 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น จะอบซ้ำหรือบรรจุภัณฑ์พร้อมบริโภคทุกรูปแบบ หรือใช้ประกอบอาหาร แปรรูปเป็น “กับแกล้ม” ชั้นดี
ผลผลิตมะม่วงหิมพานต์ใช้เมล็ดเป็นหลัก แต่เนื้อผลก็กินได้ โดยจิ้มเกลือลดรสฝาด หรือแปรรูปเป็นแยม ทำไวน์ เป็นเครื่องดื่มแก้โรคกระเพาะ เหน็บชา เจ็บคอ ขับปัสสาวะ เปลือกหุ้มเมล็ดสกัดได้กรดไขมัน กรดอะราคาดิกมีผลต่อผิวหนังรวมทั้งยางสด แต่ใช้ทำสีย้อม ผสมน้ำมันก๊าดป้องกันแมลง ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก สี ผ้าเบรกรถ กระเบื้องยาง ฉนวนสายไฟ
ปัจจุบัน เป็นพืชอุตสาหกรรมที่แปรรูปได้หลายรูปแบบ เป็นสินค้าโอท็อปในอำเภอท่าปลา อุตรดิตถ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีงานวิจัย นวัตกรรม เครื่องมือ เทคโนโลยี ให้กับชุมชนที่นี่ หากมีโอกาสไปขอดูงาน รับรองได้ชิม “น้ำนมเม็ดมะม่วงหิมพานต์” ม่วนแต้ๆ
ครั้งหนึ่งเคยได้ยินการอภิปรายในสภาผู้แทน กล่าวถึงพฤติกรรม “หมกเม็ด” ของ “ท่าน ส.ส.” แต่มาวันนี้ ผลไม้ชื่อโบราณ ระดับป่าหิมพานต์ มีเมล็ดโผล่ เป็น “เม็ดล่อ” กลับเป็นที่นิยมราคาสูง แหม..! ถ้าตอนนั้นมีแจก “เม็ดหัวครก” สำหรับ ส.ส. ป่านนี้ความขัดแย้งในสภาไม่เกิดขึ้น…แน่นอน..?