ผู้เขียน | ทวีลาภ การะเกด/รายงาน |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเร็วๆ นี้ นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอเมืองชุมพร ได้นำผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้นำชุมชนใน อ.เมืองชุมพร อาทิ นายธรรมนูญ ศรีนวลนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านนา นายสุวาพิน ฤกษ์พล รองนายก อบต.บ้านนา นายฉลวย อุชุภาพ รองประธานสภา อบต.บ้านนา นายประเสริฐ วัดนครใหญ่ กำนัน ต.หาดพันไกร ฯลฯ เดินทางไปดูการบริหารจัดการโรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษบ้านเขาเลี้ยว หมู่ 1 ต.เขาไชยราช อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบต.เขาไชยราช

นายนักรบ กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สมัยที่ตนเป็นนายอำเภอปะทิว ได้จัดโครงการนำผู้นำ อปท.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อ.ปะทิว เดินทางไปศึกษาดูงานโรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น นายสฤษติ์ ปิ่นเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเขาเลี้ยว ต.เขาไชยราช ได้บริจาคที่ดิน 4 ไร่ ให้ อบต.เขาไชยราชใช้สร้างโรงเผาขยะ 1 ไร่ และทำบ่อน้ำ 3 ไร่ โดยได้นำรูปแบบโรงเผาขยะของ อบต.สะลวงมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพพื้นที่ อยากให้ทุกท้องถิ่นลองมาศึกษาและนำกลับไปสร้างบ้าง เพราะใช้งบประมาณน้อย แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวมีมากมายมหาศาล

“ในฐานะนายอำเภอเมืองชุมพร จะนำเรื่องโรงเผาขยะของ อบต.เขาไชยราช อ.ปะทิว เข้าที่ประชุมจังหวัดชุมพร เพื่อต้องการผลักดันทุกท้องถิ่นให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะในลักษณะขยะใครขยะมัน ต้องบริหารจัดการกันเอง โดยไม่เอาขยะของตนไปสร้างภาระให้ท้องถิ่นอื่น เพราะขณะนี้ปัญหาขยะได้กลายเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว การเริ่มต้นจัดการปัญหาขยะง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ก็คือ การคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ และขยะมีพิษก่อน รวมทั้งการลดการสร้างขยะของแต่ละคนลงบ้างเท่านั้น” นายนักรบ กล่าว
นายชัชวาล จิตรภิรมย์ นายก อบต.เขาไชยราช กล่าวว่า อบต.เขาไชยราชได้พยายามหาทางแก้ปัญหาขยะที่ถือเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เดิม อบต.เขาไชยราชเคยนำขยะไปทิ้งที่เขากล้วย ต.หาดพันไกร อ.เมืองชุมพร ซึ่งเป็นบ่อขยะของเทศบาลเมืองชุมพร แต่หลังจากเดินทางไปดูโรงเผาขยะชุมชนของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อ 2 ปีที่แล้วกับนายนักรบ ผู้บริหาร อบต.เขาไชยราชและผู้นำชุมชนก็มีมติให้ขอรูปแบบโรงเผาขยะของ อบต.สะลวงมาสร้างใน ต.เขาไชยราช โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านเขาเลี้ยวบริจาคที่ดินให้ ใช้งบประมาณเพียง 756,000 บาทเท่านั้น และมี พ.ท.ธัชพล ขบวนฉลาด ผู้บังคับหน่วยส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ที่ 4 สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นกส.4 สทพ.นทพ.) นำเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยพัฒนาเส้นทางการเดินทางเข้าสู่โรงเผาขยะ โดยมีแขวงทางหลวงชุมพรให้การสนับสนุนเศษวัสดุที่เหลือจากการรื้อถนนลาดยางมาใช้ทำถนนด้วย

“ปัจจุบัน ต.เขาไชยราชมี 11 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 4,000 คน ในแต่ละสัปดาห์มีขยะประมาณ 2 ตันที่จะถูกส่งเข้ามากำจัดที่โรงเผาขยะแห่งนี้ สรุปก็คือโรงเผาขยะแห่งนี้จะมีการเผาขยะเดือนละประมาณ 8 ตัน โดย อบต.เขาไชยราชมีการเก็บค่ากำจัดขยะจากชาวบ้านหลังละ 40 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจจะต้องมีการสร้างโรงเผาขยะเพิ่มขึ้นอีก หากชุมชนมีการขยายตัวมากขึ้น” นายชัชวาล กล่าว
นายประเสริฐ ใจแก้ว ผู้อำนวยการกองช่าง อบต.เขาไชยราช ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงเผาขยะไร้มลพิษดังกล่าว เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงเผาขยะแห่งนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร โดยเริ่มจากโครงสร้างต้องแข็งแรงมั่นคงตามหลักวิศวกรรม ด้านในเตาเผาใช้อิฐทนไฟฉาบปูนทนไฟที่ทนไฟได้ถึง 500-1,000 องศาเซลเซียส ส่วนด้านนอกเป็นอิฐบล็อกประสานที่ไม่มีความร้อนและไม่มีอันตรายต่อผู้ดูแล ประตูใส่ขยะทำจากเหล็กเป็นช่องเล็กๆ หากช่องใหญ่จะสะสมความร้อนมากเกินไป อาจทำให้เตาเผาเกิดการแตกร้าวได้ สำหรับขั้นตอนการนำขยะเข้าเตาก็ไม่ยุ่งยาก เมื่อใส่ขยะแล้วก็ใส่กระดาษสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเข้าไป แล้วใช้ไม้ขีดก้านเดียวจุดไฟโยนเข้าไปเท่านั้นก็สามารถเผาขยะได้แล้ว โดยจะใช้เวลาเผาขยะ 1 ตันประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ขึ้นกับความชื้นของขยะที่ใส่เข้าไปด้วย หลังเผาขยะแล้วจะได้ขี้เถ้าที่นำมาทำอิฐมวลเบาได้ ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำส้มควันไม้ที่นำมาใช้ไล่มด แมลงได้
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษ ก็เป็นเพราะเป็นเตาที่มีระบบบำบัดควันและกลิ่น เพื่อลดมลพิษ โดยใช้ปั๊มน้ำ น้ำ ปูนขาว (หรือผงซักฟอก) และพัดลมดูดอากาศ มาช่วยในการทำให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะเจือจาง จากที่เป็นควันดำมีกลิ่นเหม็น ก็กลายเป็นควันขาวที่ไร้กลิ่น หากน้ำที่ใช้มีน้อยก็จะมีระบบน้ำวนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งขั้นตอนการก่อสร้างมี 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.จัดหาสถานที่ที่มีถนนเข้าถึง มีแหล่งน้ำและระบบไฟฟ้า (หรือ Solar Cell) 2.ปรับพื้นที่ สร้างพื้นปูนซิเมนต์เพื่อรองรับเตาเผา 3.สร้างอาคารโรงเรือนและรั้วกำแพง 4.ก่อสร้างเตาเผาขยะพร้อมระบบสเปรย์น้ำและปูนขาว (หรือผงซักฟอก) เพื่อบำบัดควัน
การดำเนินงานของโรงเผาขยะแห่งนี้มี 7 ขั้นตอนคือ 1.สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียน วัด สถานประกอบการ ด้วยการรณรงค์ อบรมให้มีความรู้ในการคัดแยกขยะจากต้นทางคือครัวเรือน ผ่านกระบวนการ 3R คือ Reduce (ลดการก่อขยะ) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) โดยจัดตั้งตลาดนัดขยะ เพื่อสนับสนุนการคัดแยกขยะของครัวเรือนให้มีแหล่งรับซื้อ แลกเปลี่ยนขยะที่ได้จากการคัดแยก2.ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการขยะชุมชน และคณะทำงานตลาดนัดขยะชุมชน 3.จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานให้คณะทำงานเพื่อสร้างความรู้และประสบการณ์การจัดตลาดนัดขยะชุมชนที่เป็นต้นแบบและประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและประยุกต์ใช้ 4.ประสานผู้ประกอบการรับซื้อขยะ Recycle ให้เข้าร่วมตลาดนัดขยะและกำหนดราคาขยะ 5.ประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทาง วัน เวลา จัดตลาดนัดขยะ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบพื้นที่ วัน เวลา เปิดตลาดนัดขยะ และ 7.จัดตลาดนัดขยะตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด
โรงเผาขยะชุมชนไร้มลพิษของ อบต.เขาไชยราช ที่จำลองรูปแบบมาจากโรงเผาขยะชุมชนของ อบต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ คงถือเป็น อบต.นำร่องแห่งแรกของ 14 จังหวัดภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะที่กำลังกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ หาก อปท.หรือชุมชนใดสนใจจะเดินทางไปศึกษาการบริหารจัดการโรงเผาขยะแห่งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปลัดและกองช่าง อบต.เขาไชยราช โทร.077-651272 เพื่อนัดหมายวัน เวลา และจัดเตรียมบุคลากรไว้คอยให้ความรู้ความเข้าใจ