อินทร์สอง มะโนเกี๋ยง จบวิศวะ มาปลูกฟักทองและพืชอื่น สร้างรายได้ทุกฤดูกาล ที่บ้านบ่อแก้ว แพร่

ฟักทอง เป็นชื่อเรียกที่รับรู้กันทั่วไป เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งมีอายุสั้น นิยมนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารคาวก็ได้ เป็นอาหารหวานก็อร่อย หรือทำเป็นอาหารว่างได้อย่างดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ มีกากใยอาหาร แต่ให้พลังงานต่ำ เก็บผลไว้ได้นานวัน

ฟักทอง เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งยอด ใบอ่อน ดอก ผล เมล็ด และราก  ฟักทอง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากนัก คือไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส แต่ก็ไม่ทนต่อความหนาวเย็นจัด การปลูกฟักทองในภาคเหนือตอนบนนิยมปลูกกันในฤดูฝน หรือระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน

ที่บ้านบ่อแก้ว มีให้พบเห็นเป็นตัวอย่าง การปลูกฟักทองในฤดูฝน และเป็นหมู่บ้านที่นิยมปลูกฟักทองกันมาก มีพื้นที่รวมๆ กันแล้ว มากที่สุดอยู่ในตำบลไทรย้อย มีเกษตรกรผู้รักการเกษตรจากมนุษย์เงินเดือนของบริษัทเอกชน เปลี่ยนชีวิตมาเดินบนเส้นทางเกษตรกรด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นที่จะปลูกฟักทอง จากคำแนะนำบอกเล่าของคนใกล้ชิด ลงทุนปลูกครั้งแรกใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ขายได้กำไรงาม จึงขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น โดยไม่ย่อท้อกับราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะราคาตลาด

คุณอินทร์สอง มะโนเกี๋ยง (ขวา) และภรรยา (ซ้าย) ผู้เขียน (กลาง)

คุณอินทร์สอง มะโนเกี๋ยง ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 77/11 หมู่ที่ 4 บ้านบ่อแก้ว ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ได้เปิดเผยถึงแนวคิดที่หันหลังให้กับงานประจำ

ก้าวชีวิตบนเส้นทางเกษตรกร

คุณอินทร์สอง เล่าว่า “จบการศึกษา วิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ชื่อเดิม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) ผ่านการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ เปลี่ยนแนวทางมาทำการเกษตร เพราะต้องการใช้ชีวิตแบบพื้นบ้านเมืองเหนือ ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องเวลา ได้กินอาหารพื้นเมืองที่ชื่นชอบ ได้ช่วยเหลือชาวบ้านบ้างในบางครั้งที่มีโอกาส และมีอิสระในการใช้ชีวิต”

ปลูกฟักทอง สร้างรายได้ทดแทนงานประจำ

แรกเริ่มเดิมทีนั้น คุณอินทร์สอง เผยว่า ได้รับคำแนะนำให้ปลูกฟักทอง รายได้ดี เป็นพืชอายุสั้น จึงทดลองปลูก เมื่อปี พ.ศ. 2559 ในพื้นที่ 2 งาน ได้ผลผลิตถึง 2 ตันเศษ ขายได้กิโลกรัมละ 13 บาท ได้กำไรถึง 12,000 บาท ซึ่งมีกำไรงาม ปีที่ 2 ทุ่มทุนขยายพื้นที่ปลูกเป็น 15 ไร่ ได้ผลผลิต ราวๆ 10 ตัน ขายราคากิโลกรัมละ 6 บาท ได้เงินมา 60,000 บาท

แต่อย่างไรก็ยังมีกำไรอยู่ ปีที่ 3 คือ ปี พ.ศ. 2563 ขยายพื้นที่เพิ่มจาก 15 ไร่ มาขอเช่าพื้นที่อีก 12 ไร่ รวมเป็น 27 ไร่ ปลูกฟักทอง 2 สายพันธุ์ ลงปลูกรุ่นละ 1 สายพันธุ์ โดยรุ่นแรกเก็บขายไปหมดแล้ว ได้ผลผลิตเกือบ 30 ตัน แต่ขายได้ราคาที่ต่ำไม่ถึง 5 บาท แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ ยังมีความหวังจากฟักทองอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งปลูกเหลื่อมเวลากันประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 18 ตัน

ฟักทอง ทองอำไพ 425 เนื้อหนา สีเหลืองสวย

ลักษณะแปลงปลูกฟักทอง

ลักษณะพื้นที่ปลูกฟักทองที่ไร่ของคุณอินทร์สอง เป็นพื้นที่ราบ และพื้นที่ลาดเนินเขา ระบายน้ำได้ดี ปลูกฟักทองได้ดีในฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน ปลูกและเก็บผลผลิตเพียงปีละครั้ง

ก่อนลงมือปลูก คุณอินทร์สอง บอกว่าเริ่มจากการนำดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH ได้ค่าที่ 6.1 เป็นกรดเล็กน้อย ซึ่งฟักทองสามารถเจริญงอกงามได้ดี ที่ค่า pH 5.5-7.5 สรุปได้ว่า ค่า pH บริเวณพื้นที่ตรงนั้นเหมาะสม ผลการวิเคราะห์ธาตุอาหาร ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวขาดธาตุไนโตรเจน แต่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง และธาตุโพแทสเซียมในระดับสูงมาก

จึงดำเนินการปรับปรุงดิน ด้วยการใส่ปุ๋ยคอกจากขี้หมู แล้วไถกลบ 1 ครั้ง จากนั้นตากดินไว้ 3 สัปดาห์ รอฤดูฝนมาในเดือนมิถุนายน

ปลูกฟักทองแบบหยอดเมล็ดตามลักษณะพื้นที่

คุณอินทร์สอง บอกว่า จากลักษณะพื้นที่ไม่สามารถจะยกแปลงปลูกได้ จึงใช้วิธีหยอดเมล็ดฟักทองลงหลุมปลูก โดยดูสภาพอากาศว่าฝนจะตกในช่วงใด ก็จะเตรียมเมล็ดฟักทอง นำมาแช่ในน้ำอุ่น 3 ชั่วโมง จากนั้นกรองน้ำออก เอาเมล็ดฟักทองห่อหุ้มในผ้าที่ชุ่มน้ำ ห่อไว้เพียง 1 คืน จะเห็นรากงอกออกมาเล็กน้อย ก็นำไปหยอดลงหลุมปลูก
หยอดเมล็ด หลุมละ 1 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร ระหว่างแถว 4.5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ลงปลูกได้ 240 ต้น

เมล็ดพันธุ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ฟักทอง ที่เราพบเจอตามแผงขาย หรือร้านค้าพืชผักผลไม้ทั่วไป เห็นแล้วมีลักษณะคล้ายๆ กัน มองก็รู้ว่าเป็นฟักทอง แต่ไม่รู้ชัดเจนว่าเป็นฟักทองสายพันธุ์อะไร ที่ไร่ฟักทองของคุณอินทร์สอง มีปลูกอยู่ 2 สายพันธุ์ ที่ปลูกรุ่นแรกคือ สายพันธุ์ ทองอำไพ 425 เป็นเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนแบบผสมเปิด สามารถเก็บเมล็ดทำพันธุ์ได้ในฤดูกาลต่อไป สายพันธุ์นี้มีลักษณะผลทรงแป้นใหญ่ น้ำหนัก 6-8 กิโลกรัม ต่อผล ผิวคางคก เนื้อในสีเหลือง เนื้อหนา รสชาติหวานมัน อายุ 90 วัน นับจากวันปลูก ซึ่งได้นำมาลงปลูกเมื่อกลางเดือนมิถุนายน และเก็บผลผลิตกลางเดือนกันยายนปีนี้

การดูแล

น้ำ คุณอินทร์สอง บอกว่า ต้นฟักทองที่ตนนำมาลงปลูกเป็นช่วงฤดูฝนพอดี จึงไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ หลังจากปลูกแล้ว แทบจะไม่ค่อยได้ให้น้ำเลย

เริ่มใส่ปุ๋ยหลังปลูก 20 วัน

ปุ๋ย เมื่อนำเมล็ดลงปลูกได้ 20 วัน จะให้ปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 15-15-15 เพียงครั้งเดียว และฉีดพ่นธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม คือ แคลเซียม-โบรอน และสาหร่ายสกัด ช่วงก่อนออกดอก 1 ครั้ง
โรคและแมลง คุณอินทร์สอง ย้ำว่ายังไม่พบโรคทำลายต้น ใบ ดอก ฟักทอง ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน แต่พบแมลงตัวร้าย ด้วงเต่าทอง หลังปลูกเพียง 15 วัน ขณะมีใบ 4-5 ใบ เมื่อพบต้องกำจัดให้หมด และดูแลวัชพืชไม่ให้เป็นที่หลบอาศัยของแมลง

การตัดแต่งต้นให้แตกแขนง เมื่อเถาหรือต้นฟักทองมีใบ 6 ใบ หรือ 6 ข้อปล้อง จะเด็ดยอด เพื่อให้เกิดแขนงใหม่มากขึ้น ควบคุมไม่ให้เถาหรือต้นทอดยาวไปเรื่อยๆ และเร่งให้เกิดดอกเร็ว มีจำนวนมาก

ด้วงเต่าทอง ทำลายดอก

คุณอินทร์สอง บอกว่า เท่าที่สังเกตวิธีการนี้จะเกิดแขนงออกมา 3-4 แขนง ทอดยาวเท่าๆ กัน และเกิดดอกเพศเมียออกมาก่อนดอกเพศผู้ซึ่งมีจำนวนน้อย การผสมเกสรต้องอาศัยผึ้งป่าเป็นตัวช่วย จากการดูแลอย่างดี ฟักทองจะติดผลแขนงละ 4 ผล แต่จะเก็บไว้เพียง 2 ผล ซึ่งแต่ละผลมีน้ำหนักมาก

ออกดอกตัวเมีย หลังจากปลูกประมาณ 50 วัน

การเก็บผลผลิต

คุณอินทร์สอง กล่าวว่า ฟักทองสายพันธุ์ทองอำไพ 425 มีอายุ 90 วัน นับจากวันปลูก ก็จะเก็บผลได้แต่ก็ยังพิจารณาจากสีผิวด้วยว่าหากผิวผลเปลี่ยนจากสีเขียวหัวเป็ดมาเป็นสีนวลก็เก็บผลได้

รุ่นที่ 2 เป็นสายพันธุ์ลายข้าวตอก เป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม แต่มีบริษัทเอกชนนำไปพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความแข็งแรงมากขึ้น ทนโรค ทนต่อสภาวะอากาศ ให้ผลผลิตสูง แต่เก็บเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ต่อไปไม่ได้ ลักษณะผล เห็นลายชัดเจนว่าเป็นลายข้าวตอก ผิวคางคก เนื้อในสีเหลืองส้มสดใส รสชาติอร่อย มัน เนื้อแน่น เหนียว น้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม ต่อผล ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ อายุการเก็บผล 75 วัน นับจากวันปลูก

หลังผสมเกสร ประมาณ 20 วัน

สายพันธุ์ลายข้าวตอกนี้คาดว่าจะเก็บผลได้ในอีกหนึ่งเดือน คือกลางเดือนพฤศจิกายนปีนี้  ทั้ง 2 สายพันธุ์ จะมีสีผิวที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

หลังเก็บผลผลิต ปลูกพืชตระกูลถั่วช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน
หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทองหมดแล้ว คุณอินทร์สอง บอกว่าจะใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์โดยปลูกถั่วเขียว หรือถั่วเหลืองสลับกันไปในแปลงปลูกฟักทอง นอกจากจะขายเมล็ดถั่วแล้ว ได้ปรับสภาพดินเพิ่มธาตุอาหารและจุลินทรีย์ให้แก่ดินรอการปลูกฟักทองในรอบการผลิตต่อไป

คุณภาพของฟักทองที่ตลาดต้องการ

คุณอินทร์สอง สาธยายให้ฟังว่า จากการพูดคุยกับผู้ซื้อฟักทอง ก็พอจะรู้ว่าตลาดรับซื้อต้องการฟักทองที่มีคุณภาพเช่นไร ที่สรุปได้ก็อย่างเช่น

– รูปร่างกลม ไม่เบี้ยว เป็นผลที่มีขั้วติดอยู่

– ผิวผลสะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้

– ไม่มีรอยช้ำ ไม่เสื่อมคุณภาพ ไม่เน่าเสีย

– ไม่มีรอยแตก หรือถูกทำลายโดยโรคแมลง

-ได้ขนาดที่ต้องการ คือ เบอร์หัว น้ำหนัก 5 กิโลกรัมขึ้นไป เบอร์หาง น้ำหนัก 2-5 กิโลกรัม

ปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน

คุณอินทร์สอง เผยความคิดว่า แม้การปลูกฟักทองจะเป็นพืชที่มีอายุสั้นเพียง 90 วัน ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ในพื้นที่นี้ โดยอาศัยน้ำฝน แต่ในรอบปีมีเวลาเหลือ จึงต้องมีการลงทุนปลูกพืชอื่นเพื่อให้มีรายได้พอในการดำรงชีวิต ไม่ให้ด้อยไปกว่ารายได้จากงานประจำ

ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ สร้างรายได้ดีเช่นกัน

พืชที่ลงมือปลูกอยู่แล้ว และมีรอบการเก็บผลผลิตที่แตกต่างกัน สร้างรายได้ต่อเนื่อง ก็มี มันสำปะหลัง มะละกอฮอลแลนด์ นอกจากนี้ ยังมีคลังอาหารที่สร้างไว้สำหรับครอบครัวทั้งกบ ปลา พืชผักสวนครัว อนุรักษ์พื้นที่บางส่วนเป็นป่าเบญจพรรณสำหรับเก็บอาหารจากป่า อย่าง เห็ดป่าตามฤดูกาล “ดำรงชีพอย่างนี้ก็มีกิน มีใช้ ไม่มีหนี้สิน ครอบครัวมีสุข” อดีตวิศวกร กล่าว

คุณอินทร์สอง ได้ระบายความในใจถึงผลผลิตฟักทองว่า ผลผลิตออกมาแล้วได้ราคาที่ขึ้นลงแต่ละปีไม่เสถียรหรือไม่มั่นคง ช่วงห่างระหว่างราคาที่ขายได้ต่ำสุด กับราคาสูงสุดที่เคยได้รับมันห่างกันมาก บางปีได้ราคา 13 บาท บางปีต่ำติดดินไม่ถึง 5 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ตามกลไกตลาดที่มักจะอ้างอุปสงค์ อุปทาน เกษตรกรผู้ปลูกฟักทองจะไม่มีข้อมูลพื้นที่ปลูกฟักทองของแต่ละจังหวัดแต่ละภาค ในแต่ละปีก็จะมีเกษตรกรปรับเปลี่ยนพืช เช่น เลิกปลูกข้าวโพด มาปลูกฟักทอง จนบางปีผลผลิตฟักทองออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน ทั้งผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ คุณอินทร์สองเองบอกว่าต้องอาศัยการวางแผนปลูกฟักทองให้เหลื่อมเวลากัน แต่บางปีก็จนด้วยความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศที่คาดคะเนได้ยาก

ผลแก่จัดพร้อมตัด

ต้องทำบัญชีต้นทุน เพื่อเป็นตัวตัดสินใจการลงทุน

คุณอินทร์สอง เปิดเผยว่า ตนเองบันทึกตัวเลข ลงบัญชีทุกครั้งที่มีรายได้และค่าใช้จ่ายจากการปลูกฟักทอง ในรูปแบบของบัญชีต้นทุน ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงปัจจุบัน พร้อมอธิบายให้ผู้เขียนดูตัวเลขต่างๆ ที่ลงบันทึกว่า การปลูกฟักทองแต่ละครั้งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไร ขายได้กี่กิโลกรัม กิโลกรัมละเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน ซึ่งในปีการผลิต พ.ศ. 2563 มีผลประกอบการ ดังนี้

ต้นทุนผลิตฟักทอง สายพันธุ์ทองอำไพ 425 และลายข้าวตอก พื้นที่ 27 ไร่  ช่วงการผลิตเดือนมิถุนายน-กันยายน 2563

 รายได้  ปริมาณ     (กิโลกรัม) จำนวนเงิน          (บาท)
– ขายฟักทอง 25,404 126,815
– บริโภคในครัวเรือน/แบ่งปัน 100 500
รวมรายได้ 25,504 127,315

 

 หัก ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย

  จำนวนเงิน  (บาท) ร้อยละ
ขั้นตอนการเตรียมการผลิต    
– ค่าเมล็ดพันธุ์ฟักทอง 11,200 19
– ค่าเตรียมดิน/ค่าไถดิน   3,500   6
– ค่าจ้างแรงงาน (ถางหญ้า, ตัดกิ่งไม้)   5,300   9
 ขั้นตอนระหว่างการผลิต    
– ค่าจ้างแรงงาน (จ้างปลูก) 3,305   5
– ค่าจ้างแรงงาน (พ่นยา)    700   1
– ค่าจ้างแรงงาน (ใส่ปุ๋ย) 6,200 10
– ค่าปุ๋ย, ฮอร์โมน 7,200 12
– ค่ายากำจัดเมลง   700   1
 ขั้นตอนการเก็บผลผลิต    
– ค่าแรงงานตนเอง   3,000   5
– ค่าเช่าที่ดิน 19,500 32
รวมต้นทุน/ค่าใช้จ่าย 60,605 100
กำไร 66,710  

 

ต้นทุน/กิโลกรัม       2.38             บาท

ต้นทุน/ไร่           2,244.63  บาท

กำไร/กิโลกรัม           2.61           บาท

ผลตอบแทน/ไร่  4,715.37  บาท

 

จากข้อมูลทางบัญชี คุณอินทร์สอง อธิบายว่าต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย แต่ถ้ารวมค่าจ้างแรงงานตั้งแต่เริ่มเตรียมพื้นที่จนถึงระหว่างการผลิตก็สูงอยู่ คือ ร้อยละ 25 เหตุผลก็เพราะว่าพื้นที่ปลูกมีจำนวนถึง 27 ไร่ ระหว่างทิ้งช่วงการผลิตก็จะเกิดวัชพืช ต้นไม้เล็กๆ มีอยู่มาก เกินกำลังที่ตนเองจะกำจัดได้ และที่สำคัญต้องมีการจ่ายค่าแรงงานให้แก่ตนเอง ที่ใช้เวลาและแรงกายไปดูแลแปลงปลูก แทนที่จะจ้างแรงงานภายนอกเสียทั้งหมด

ส่วนต้นทุน กำไร ผลตอบแทนการลงทุนนั้น ปลูกฟักทองมีต้นทุน 2.38 บาท/กิโลกรัม ขายได้กำไร กิโลกรัมละ 2.61 บาท ถือว่ามีกำไรดี ขณะที่ต้นทุนที่ลงไป จำนวน 2,244.63 บาท ต่อไร่ ได้ผลตอบแทนถึง 4,715.33 บาท เป็นผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเท่ากัน

ข้อมูลดังกล่าว มีประโยชน์ต่อการลงทุน และนำไปใช้ประกอบการวางแผนปีหน้าได้ว่า อะไรควรลดหรือเพิ่ม เช่น ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
ท่านใดสนใจสามารถที่จะติดต่อสอบถาม คุณอินทร์สอน มะโนเกี๋ยง ได้ที่เบอร์โทร. 089-213-0126

ผลผลิตรอจำหน่าย
เก็บส่งแผงขายส่ง หลังจากปลูก 90 วัน