ใช้พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกไผ่ซางหม่นและไผ่หวานช่อแฮ สร้างรายได้ดี ที่เมืองแพร่

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ-ลำน้ำน่าน มีอยู่หลายพื้นที่ หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านนาตอง หมู่บ้านน้ำกลาย บ้านน้ำพร้า อยู่ในเขตตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเขตเชื่อมติดต่อกันที่หมู่บ้านน้ำพร้า อำเภอท่าปลา อยู่ติดกับเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

หน่อของไผ่หวานช่อแฮในฤดูแล้ง จะมีรสชาติหอม หวาน

ผู้คนในสมัยก่อน ใครอยากได้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรไม่ต้องมีการซื้อหากันด้วยเงินหมื่นเงินแสนเหมือนในยุคปัจจุบัน คนรุ่นก่อนเขาจะเข้าป่าถือมีด เสียม เข้าไปจับจองกันได้เลย ใครอยากได้เท่าไร ก็หักร้างถางป่าเอาได้เลย อันดับแรกเขาจะถางป่าปลูกข้าวไร่ก่อน ต่อจากนั้นก็จะลงพืชอย่างอื่น เช่น กาแฟ ใบเมี่ยง (ใบชาหมัก) หรือมะม่วงหิมพานต์ อันเป็นพืชยืนต้น เขาจะพากันจับจองพื้นที่ติดลำห้วยและเชิงเขา มาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย ดังนั้น หมู่บ้านนาตอง บ้านน้ำกลาย จะเป็นหมู่บ้านริมห้วยขนาดใหญ่ปลูกอยู่เป็นหย่อมๆ ตามเชิงเขา จะมีรายได้จากการขายหน่อไม้ กาแฟ เสาวรส ใบชาเมี่ยง แต่ละครอบครัวจะจับจองที่ดินครอบครัวละ 5-10 ไร่ หรือ 20 ไร่ แต่ที่ดินเหล่านี้จะไม่มีเอกสารใดๆ รองรับ บ้านเมืองสมัยก่อน กรมป่าไม้เขาไม่ได้เข้มงวดอะไร เพราะเกษตรกรเหล่านี้เขาไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีการบุกรุก

กอของไผ่หวานช่อแฮ อายุได้ 2 ปี

แต่ต่อมาระยะหลังที่ดินเหล่านี้เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวต่างถิ่น เมื่อมีการไปเที่ยวเยี่ยมเยือนไร่กาแฟ เห็นแล้วชอบใจ เพราะมีอากาศดี อากาศเย็น ก็อยากได้ไว้พักผ่อน ได้มีการไปขอซื้อที่ดินจากชาวไร่เกษตรกร แต่ไม่ค่อยมีใครอยากขาย เพราะต่อมาทางการออกกฎหมายว่าห้ามซื้อ-ห้ามขายที่ดินที่ไม่ใช่โฉนด หรือ น.ส.3 อย่างเด็ดขาด จะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะทางราชการไม่ต้องการให้ใครบุกรุกต่อ เพราะบริเวณป่าในเขตหมู่บ้านเหล่านี้ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันสำคัญยิ่ง ระยะหลังเริ่มมีการลักลอบตัดไม้ในป่าสงวนฯ เหล่านี้ ทางการจึงต้องจัดให้มีหน่วยพิทักษ์ป่าเข้าไปดูแลไม่ให้ใครตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป เพราะสิบปีก่อนหน้านี้เคยมีน้ำป่าถล่มหมู่บ้านเหล่านี้หลายครั้ง เพราะป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำฝนไว้ได้ เพราะดินบนภูเขาไม่มีต้นไม้ห่อหุ้ม

หน่อของไผ่ซางหม่น หน่อจะออกในฤดูฝนเท่านั้น ใช้ทำหน่อไม้ดองได้อร่อยเยี่ยม

ส่วนชาวบ้านที่ทำกินอยู่ก่อนแล้วก็ได้อนุโลมให้ทำกินต่อไป ทางราชการไม่อาจจะขับไล่เขาให้ออกไปไหนได้ เพราะไม่มีที่ดินจะทำกิน ในจำนวนเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในเขตหมู่บ้านนาตอง มีเกษตรกรรายหนึ่งเขามีอาชีพปลูกไผ่และทำสวนมะม่วงหิมพานต์ มีรายได้ต่อปีหลายแสนบาท เกษตรกรรายนี้คือครอบครัวของ คุณสุวิทย์ และ คุณสร้อยแสง เมืองธรรม คุณสุวิทย์ ยังปลูกไผ่หวาน จำนวน 10 ไร่ ทำมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 20 ไร่ มีรายได้ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย 2 คน หมู่บ้านนาตอง และหมู่บ้านน้ำกลาย ตั้งอยู่ในเขตตำบลช่อแฮ จังหวัดแพร่ แต่เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดแพร่เข้าไปประมาณ 40 กิโลเมตร

หน่อไผ่ซางหม่นต้มสุกทั้งหน่อ จะหวานและหอม ใช้ผัดกุ้งสด และจิ้มน้ำพริก-ห่อหมก

ในสวนไผ่ของคุณสุวิทย์และคุณสร้อยแสง ประกอบด้วย ไผ่หวานช่อแฮ จำนวน 4 ไร่ ไผ่ซางหม่น 3 ไร่

ไผ่หวานช่อแฮ จะทำหน่อนอกฤดูส่งให้แม่ค้าคนกลาง ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม (3 เดือน) นี้ แม่ค้าให้จะราคานอกฤดู กิโลกรัมละ 40 บาท ราคาในสวน แต่ไปถึงตลาด ตกเข้าไป 60 บาท หน่อไผ่หวานของคุณสุวิทย์ จะตัดหน่อส่งแม่ค้า จำนวน 4 ไร่ (800 กอ) จะได้ครั้งละ 800 กิโลกรัม คูณ 40 บาท = 30,000 กว่าบาท ต่อสัปดาห์ คือ ได้สัปดาห์ละ 30,000 ในเดือนมกราคม แต่พอเดือนมีนาคม ราคาจะลดลงมาเหลือ 30 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะเดือนมีนาคมพ้นจากฤดูหนาว หน่อไม้จะออกหน่อเยอะกว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งมีอากาศเย็น ถ้าอากาศเย็นหน่อจะออกน้อย การจะทำให้หน่อไผ่หวานช่อแฮออกหน่อดกนั้น ต้องให้น้ำ ให้ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ (มูลวัว ไก่ หมู) และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป

ไผ่ซางหม่น และไผ่หวานช่อแฮ ปลูกร่วมกันใกล้ร่องน้ำ

สวนไผ่หวานต้องมีน้ำอุดมสมบูรณ์จึงจะทำหน่อนอกฤดูได้ สวนของคุณสร้อยแสง อยู่ติดลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำแม่สายโดยตรง เรื่องน้ำไม่ต้องห่วง สวนไผ่คุณสร้อยแสงจะได้เปรียบกว่าสวนอื่น หน่อไผ่หวานฤดูแล้งเป็นที่ต้องการของแม่ค้าคนกลาง เพราะตลาดภาคเหนือต้องการมาก แม่ค้าคนกลาง ชื่อ ป้าละเอียด ค้าขายหน่อไม้ฤดูแล้งมานานแล้ว เจ้าของสวนจะตัดหน่อไม้แต่เช้าตรู่ 7 โมงเช้า ถ้าพื้นที่ 10 ไร่ ต้องจ้างคนช่วย ประมาณ 4 คน เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ก่อนเที่ยงวันหน่อไม้ 800 กิโลกรัม ต้องเสร็จเรียบร้อย ล้างให้สะอาด บรรจุในถุงพร้อมส่งแม่ค้าคนกลางมารับถึงในสวน ระยะเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แม่ค้าคนกลางจะแย่งกันซื้อจากสวน เพราะขายได้ราคาดีในฤดูแล้ง ป้าละเอียด มีรถขนส่ง 3 คัน ส่งไปจังหวัดเชียงใหม่-พิษณุโลก-เชียงราย ในระยะทาง 200 กิโลเมตร รถปิกอัพต่อโครงเหล็กแล้วใส่ได้ 3,000 กิโลกรัม หรือ 2,000 กิโลกรัม

ป้าละเอียด เป็นแม่ค้าคนกลาง จะต้องจับจองเจ้าของสวนหลายเจ้า พอถึงเวลาก็เอารถไปรับหน่อสดถึงสวน แล้วส่งไปยังตลาดสดต่างๆ ในภาคเหนือ

กอของไผ่ซางหม่น เพื่อทำต้นพันธุ์

หน่อไม้ไผ่หวานในฤดูแล้งมีรสชาติหอมหวานกว่าในฤดูฝน คนเหนือ อีสาน จะนิยมแกงหน่อไม้ฤดูแล้ง ดังนั้น จึงขายดี มีเท่าไรไม่พอขาย แกงหน่อไม้สดในฤดูแล้ง สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ใบย่านาง ซึ่งเป็นผักสมุนไพร มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก หน่อไม้ก็มีแคลเซียมด้วย คนสูงอายุหรือคนอายุยืนเป็นร้อย จึงเป็นอาหารจานโปรด

ขยายพันธุ์โดยการขุดเหง้าให้ผลผลิตเร็ว

ดังนั้น ในระยะเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม 3 เดือนนี้ จึงสร้างเงินให้สวนไผ่หวานของคุณสร้อยแสงหลายแสนบาทต่อปี พอเข้าฤดูฝน เขาก็ไว้ลำไผ่ให้เป็นกอต่อไป ระยะฤดูฝนเขาจะไม่ค่อยตัดหน่อขาย

ต้องการข้อมูลและต้นพันธุ์ ติดต่อแผนกต้นพันธุ์ โทร. (064) 429-8814 คุณจารุวรรณ วิไลจิต

 เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2020 เวลา