สวนฮ่มสะหลี ทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตไม่พอขาย พร้อมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า

กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ระบบการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม PGS (Participatory Guarantee System) เป็นเครื่องมือในการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ แต่พบว่ามีเกษตรกรกลุ่มใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนสมัครเข้าร่วมโครงการเกษตรอินทรีย์ในปริมาณที่น้อย นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศให้ภาคเหนือตอนบนจัดทำแผนบูรณาการเกษตรอินทรีย์ เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ และอากาศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคส่วนใหญ่ ได้รู้จักระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS

คุณผ่องพรรณ สะหลี

ซึ่งระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS เป็นกระบวนการในการรับรองที่เป็นระบบสากลที่มีมาตรฐานทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งคิดค้นโดย IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) มีความเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งเป็นระบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุน

พื้นที่ปลูกผักสวนครัว

กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรเกี่ยวกับดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรดินตามโครงการเกษตรอินทรีย์ ทางด้านข้อมูลความรู้วิชาการการจัดการดิน การเตรียมดินให้มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ การให้บริการปัจจัยการผลิต การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อขยายผลการปฏิบัติไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งพัฒนากลุ่มเกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS

แปลงปลูกข้าวอินทรีย์

คุณผ่องพรรณ สะหลี เจ้าของสวนฮ่มสะหลี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 112/2 บ้านหนองเต่าคำ หมู่ที่ 1 ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ได้มีการมาปรับที่ดินของตนเองทำเกษตรผสมผสาน ไปพร้อมกับการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้บริเวณพื้นที่ของเธอมีการจัดการสวนแบบมีระบบ ช่วยให้เกิดรายได้และมีผลผลิตทางการเกษตรขายตลอดทั้งปี ยึดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ไม่น้อยทีเดียว

การทำปุ๋ยหมัก

คุณผ่องพรรณ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพรับจ้างเย็บผ้าและทำนาข้าว เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งประสบปัญหาผลผลิตต่ำ มีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ขาดทุน ประกอบกับการนั่งเย็บผ้านานๆ ทำให้ปวดหลัง สุขภาพไม่ดี จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนอาชีพที่ตนเองทำอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากทำนาเพียงอย่างเดียว มาแบ่งสันปันส่วนทำการเกษตรให้หลากหลายมากขึ้น โดยช่วงแรกเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง และไม้ผลยืนต้นต่างๆ เมื่อปลูกนานวันผลผลิตมีจำนวนมากขึ้นทำให้มีปริมาณมากพอ จึงนำผลผลิตเหล่านั้นไปจำหน่ายในชุมชน เมื่อเห็นว่าการทำเกษตรผสมผสานสามารถสร้างรายได้ยั่งยืนจึงปรับเปลี่ยนมาทำอย่างจริงจังและสร้างเป็นเกษตรอินทรีย์มาจนถึงทุกวันนี้

แตงกวาอินทรีย์

“เกษตรอินทรีย์ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์สำหรับเรา พอศึกษาอย่างจริงจัง นอกจากดีต่อสุขภาพเราแล้ว ผู้บริโภคก็มั่นใจในผลผลิตของเราด้วย เราก็เลยมาขุดบ่อน้ำไว้สำหรับเลี้ยงปลา ขุดร่องสวนเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อพืชในสวน พร้อมทั้งเข้าอบรมการทำเกษตรแบบอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด ทำให้ได้รับองค์ความรู้ ในการผลิตพืชอินทรีย์ที่ถูกต้อง ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช พร้อมดำเนินการจัดหาตลาด เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มตัว” คุณผ่องพรรณ บอก

โดยมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์ที่สวนของเธอใช้เป็นระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมพีจีเอส (Paricipatory Guarantee System PGS) ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เป็นการจุดประกายความคิด มุ่งมั่น และตั้งใจ ที่จะทำให้ผลผลิตทุกชนิดจากสวนฮ่มสะหลี จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

บ่อเลี้ยงปลา

เมื่อทำไปเรื่อยๆ นอกจากผลผลิตจะเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว คุณผ่องพรรณ บอกว่า ยังมีกลุ่มผู้สนใจในการทำเกษตรอินทรีย์เข้ามาศึกษาดูงานอยู่เสมอ จึงทำให้เธอเกิดกำลังใจและเชื่อมั่นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของเธอนั้น สามารถเป็นแรงบันดาลใจและสร้างจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้กับผู้สนใจแบบค่อยเป็นค่อยไปจนสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต

เมี่ยงคำดอกไม้อินทรีย์

“ตอนนี้รายได้เราหลักๆ ก็จะเป็นการขายพืชผักสวนครัว เป็นรายได้รายวัน ซึ่งราคาก็สามารถได้ราคาที่ดีกว่าผักทั่วไป ส่วนรายได้รายเดือนหรือรายปี ก็จะมีปลาที่เราเลี้ยงเองภายในบ่อ นอกจากนี้ เรายังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจำหน่ายด้วย พร้อมกับการแปรรูปผลผลิตในสวนต่างๆ จึงทำให้เรามีรายได้หลากหลายช่องทาง ในเดือนหนึ่งสามารถสร้างรายได้หลักหมื่นบาท ก็ถือว่าเกษตรผสมผสานในระบบอินทรีย์ สามารถสร้างรายได้จนมีเงินเหลือเก็บและใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับเราได้” คุณผ่องพรรณ บอก

เมล็ดพันธุ์พืช

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณผ่องพรรณ สะหลี หมายเลขโทรศัพท์ (084) 489-1910

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2563