เคล็ดลับการผลิต “มะม่วง” นอกฤดู ให้ออกดอกติดผลดก

ช่วงนี้เข้าสู่การผลิตฤดูกาลใหม่ เกษตรกรหลายๆ รายอาจจะพลาดในการผลิตมะม่วงออกสู่ตลาด ซึ่งอาจจะด้วยหลายๆ ปัจจัย ซึ่งก่อนจะเข้าสู่การผลิตฤดูกาลใหม่ จึงนำประสบการณ์จริงของเกษตรกรชาวสวนมะม่วง จังหวัดพิจิตร ที่สามารถทำให้มะม่วงออกดอกติดผลดกทุกๆ ปี แม้จะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ก็ตาม โดยเคล็ดลับและวิธีการดังกล่าวอาจจะนำไปใช้เป็นแนวทางให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกมะม่วงของแต่ละสวนนำไปปรับใช้

การออกดอกของมะม่วง ที่พบส่วนมากในสวนของเกษตรกร มีการออกดอกใน 3 รูปแบบ คือ 1. ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น 2. ออกดอกครั้งละครึ่งต้น 3. ทยอยออกดอกหลายรุ่น

การดูแลช่อดอกนั้นจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการออกดอก ต้นมะม่วงที่มีออกดอกพร้อมกันทั้งต้นจะดูแลง่ายกว่ามะม่วงที่ทยอยออกดอก เพราะมีช่วงระยะเวลาในการดูแลดอกสั้น ถ้าต้นที่ทยอยออกดอกจะต้องดูแลนาน กว่าจะติดผลหมดทุกรุ่น ดังนั้น เกษตรกรมืออาชีพส่วนใหญ่ จะนิยมทำให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน เพื่อความสะดวกในการจัดการและประหยัดต้นทุน

การตัดแต่งกิ่งเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งว่า เราต้องการให้มะม่วงออกดอกติดผลช่วงเวลาใด

การทำให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน ถ้าถามว่า “จะทำอย่างไรให้มะม่วงออกดอกพร้อมกัน?” เกษตรกรมืออาชีพ หรือที่เรียกกันว่า “เซียน” จะตอบเหมือนกันว่า “ต้องดูแลมะม่วงตั้งแต่เริ่มแต่งกิ่งให้ดี ถ้าแต่งกิ่งแล้วใบอ่อนไม่ออกพร้อมกัน โอกาสที่จะทำให้ดอกออกพร้อมกันยาก”

“สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 เป็นสวนหนึ่งที่คลุกคลีกับเกษตรกรชาวสวนมะม่วง และก็ยังปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ จังหวัดพิจิตร เอง ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง
แหล่งผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดี ถือเป็นเกษตรกรระดับเซียนของจังหวัดพิจิตร ที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนมะม่วงคุณภาพ

ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งขายตลาดต่างประเทศ บางส่วนส่งโรงงานแปรรูป นอกจากมะม่วงน้ำดอกไม้แล้ว ยังมีมะม่วงรับประทานผลดิบ เช่น พันธุ์ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด ไว้ขายก่อนฤดูเป็นการลดความเสี่ยง หากตลาดมะม่วงน้ำดอกไม้มีปัญหา

แต่เกษตรกรบางสวนผลิตมะม่วงคุณภาพดี ส่งขายทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ จุดเด่นของสวนคือ ผลิตมะม่วงให้ดกและมีคุณภาพดี จัดเป็นสวนตัวอย่างของแนวคิด “ทำสวนมะม่วงน้อยได้ผลผลิตมาก ถ้าทำสวนมะม่วงมาก ก็ต้องให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ” ซึ่งดูจะคล้ายกับแนวคิดของหลายๆ คนที่ว่า “ทำน้อยได้มาก แต่ถ้าทำมากจะได้น้อย”

Advertisement

“คนส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจ เห็นคนอื่นแต่งกิ่งมะม่วงก็ทำบ้าง เห็นเขาดึงใบอ่อนก็ดึงบ้าง แต่ไม่ดูเลยว่า ต้นมะม่วงของเราพร้อมหรือเปล่า ”

ก่อนการตัดแต่งกิ่ง 15-20 วัน ต้องให้ปุ๋ยทางดินเสียก่อน

แนะนำว่า ก่อนตัดแต่งกิ่งต้องดูก่อนว่า ดินมีความชื้นพอหรือไม่ ในพื้นที่ชลประทานหรือพื้นที่ที่มีน้ำสะดวก แนะนำให้รดน้ำดินให้ชุ่ม แต่ถ้าเป็นพื้นที่แล้ง อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ต้องรอให้ฝนตกใหญ่ 3-4 ครั้งก่อน จึงจะแต่งกิ่ง เพราะถ้าดินแห้งแล้ง แต่งกิ่งไปแล้วโอกาสที่ใบอ่อนจะออกเสมอกันมีน้อยมาก

Advertisement

หลังแต่งกิ่งเสร็จ จะต้องเร่งมะม่วงให้แตกใบอ่อนให้เสมอกัน ทางดิน จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 ต้นละ 1-2 กิโลกรัม ตรงจุดนี้เกษตรกรหลายท่านไม่ให้ความสำคัญเลย ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหลังแต่งกิ่งทุกปี เพราะเมื่อเราต้องการให้มะม่วงได้ผลดี จะต้องเอาปุ๋ยให้ต้นมะม่วงก่อน ไม่เช่นนั้นผลผลิตจะไม่ดี มีหลายคนสอบถาม เรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ในสวนมะม่วง ตอบว่า “ใช้ได้ แต่ให้ใส่ก่อนแต่งกิ่งแค่ครั้งเดียว เพราะถ้าใส่บ่อยๆ จะบังคับให้ออกดอกยาก”

ทำใบอ่อนให้เสมอต้น สะสมอาหารให้ใบมีความพร้อมที่สุด

ทางใบ ฉีดพ่นปุ๋ยไทโอยูเรีย อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ผสมกับฮอร์โมนจำพวกสาหร่าย-สกัด 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 5-7 วัน มะม่วงจะออกใบอ่อนพร้อมกันทั้งสวน ย้ำว่า “จะทำมะม่วงให้ออกดอกเสมอ ต้องทำใบอ่อนให้เสมอกันก่อน ถ้าใบออกเสมอสวยงาม เวลาดึงดอก ดอกก็จะออกเสมอเช่นกัน”

ราดสารแพคโคลบิวทราโซล ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ควรเลือกใช้สารราด หรือสารแพคโคบิวทราโซล ที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบัน มีบริษัทขายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมากมายมาเสนอขายสารราดให้ถึงสวน แต่เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ จะเน้นใช้สารราดที่มีคุณภาพ และมีเลขทะเบียนถูกต้อง เช่น สารแพนเที่ยม

เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรหลายรายโดนหลอกขายสารราดที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำ โดยจูงใจว่าของตนเองมีราคาถูก พอเกษตรกรหลงเชื่อ ใช้ไปก็ไม่สามารถควบคุมการแตกใบอ่อนของมะม่วงได้ ทำให้เสียเงิน และเสียโอกาสที่ดีในการผลิตมะม่วงในปีนั้นๆ ไปเลย เน้นย้ำว่า จะต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจได้เท่านั้น ไม่ควรใช้สารราดของบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ

เมื่อต้นมะม่วงแตกใบอ่อนพร้อมกัน จะเป็นช่วงเวลาของการราดสารแพคโคบิวทราโซล ชาวสวนมะม่วงจะนับวันโดยคำนวณจากวันที่จะดึงดอกเป็นหลัก ซึ่งทุกปีจะเริ่มราดสารตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อจะให้ต้นมะม่วงสะสมอาหารและพร้อมจะดึงดอกในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม

ถามว่า ทำไมต้องเป็นช่วงนั้น? การดึงดอกมะม่วงในช่วงกันยายนและตุลาคม จะเป็นช่วงฝนน้อย โอกาสที่ช่อดอกจะโดนทำลายจากพายุก็น้อยลง เคยดึงช่อมะม่วงก่อนช่วงนั้น เพื่อทำนอกฤดู แต่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรจะเกิดพายุฝนรุนแรง ทำความเสียหายให้ช่อดอกจำนวนมาก ไม่คุ้มกับการลงทุน เลยเลี่ยงมาดึงในช่วงที่เหมาะสมแทน

การราดสารแพคโคบิวทราโซล

หลังราดสาร ต้องบำรุงอย่างดี

เกษตรกรส่วนใหญ่หลังจากราดสารแล้วจะใช้วิธีสะสมอาหารด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียว แต่ที่สวนจะเน้นการใส่ปุ๋ยทางดินร่วมด้วย

“ปุ๋ยทางดินสำคัญมาก เราต้องดูว่าปีหนึ่งเราเก็บมะม่วงไปจากต้นกี่กิโล ต้นมะม่วงต้องเสียอาหารไปเท่าไร ถ้าเราไม่ใส่คืน ต้นมะม่วงจะเอาแรงที่ไหนออกลูกให้เราอีก”

การใส่ปุ๋ยทางดิน จะใช้ปุ๋ยสูตร 9-25-25 หรือ 8-24-24 อัตราต้นละ 2 กิโลกรัม เน้นใส่ในวันที่มีฝน เพราะที่สวนมะม่วงทางจังหวัดพิจิตร จะไม่มีระบบน้ำกันแทบทั้งหมด อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว จึงต้องคอยติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุฯ ว่า จะมีฝนตกชุกช่วงวันไหน ก็จะใช้โอกาสวันนั้นเร่งการใส่ปุ๋ย แล้วให้ฝนเป็นตัวละลายปุ๋ย หากใส่แล้วฝนตกน้อย ก็ต้องใช้คนงานรดน้ำให้ปุ๋ยละลายจนหมด ย้ำว่า การใส่ปุ๋ยที่ดีต้องรดน้ำให้ปุ๋ยละลาย ไม่เช่นนั้นก็สูญเปล่า

เครื่องพ่นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมส่งผลดีต่อการผลิตมะม่วงคุณภาพ

ส่วนทางใบ จะเน้นการฉีดปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส กับโพแทสเซียมสูง เช่น ปุ๋ย 0-52-34 หรือ ปุ๋ยนูแทคซุปเปอร์-เค การฉีดปุ๋ยทางใบจะเริ่มฉีดหลังจากที่ราดสารไปแล้วประมาณ 15 วัน จึงสรุปสูตรฉีดพ่นปุ๋ยเพื่อการสะสมอาหาร ดังนี้

ช่วงที่มีฝนตกชุก
– ปุ๋ย 0-52-34 1 กิโลกรัม
– เฟตามิน 400 ซีซี
– สังกะสี 100 ซีซี
– โกรแคล 100 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร)
– โรคและแมลง ใช้ตามการระบาด

การใช้ปุ๋ยสูตร 0-52-34 ช่วงฝนตกชุก จะช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนได้ดีมาก แต่ไม่ควรฉีดพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ตายอดของมะม่วงแห้ง และบอดได้ (ถ้าตาบอดจะดึงดอกยาก) การใส่ฮอร์โมนเฟตามิน โกรแคล และสังกะสี ร่วมด้วย จะทำให้ตายอดสดใส เต่งตึง อวบอั๋น ตาไม่บอด

ช่วงที่ฝนน้อย
– ปุ๋ยนูแทค ซุปเปอร์-เค 400 กรัม
– เฟตามิน 400 ซีซี
– สังกะสี 100 ซีซี
– โกรแคล 100 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร)
– โรคและแมลง ใช้ตามการระบาด

เมื่อฝนทิ้งช่วงจะเปลี่ยนปุ๋ยโดยให้กลับมาใช้ปุ๋ยนูแทค ซุปเปอร์-เค (6-12-26) เพราะมีไนโตรเจน 6% จะช่วยให้ตายอดสมบูรณ์ ไม่แห้ง หรือบอดง่าย การสะสมอาหารจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ในมะม่วงพันธุ์เบา เช่น น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด) การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบจะฉีด 4-5 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

ทำใบอ่อนให้เสมอต้น สะสมอาหารให้ใบมีความพร้อมที่สุด

ดึงดอกอย่างไร ให้ออกทั้งต้น

ถ้าเราทำใบอ่อนได้เสมอ ใส่ปุ๋ยถูกช่วงเวลา บำรุงรักษาใบดีมาตลอด โอกาสดึงดอกให้ออกมาพร้อมกันจะสูงมาก ส่วนใหญ่ชาวสวนจะดูองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ก่อนดึงดอก เช่น อายุหลังราดสารต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน (มะม่วงพันธุ์เบา) และ 90 วัน สำหรับมะม่วงพันธุ์หนัก ใบมะม่วงแก่ดี เอามือกำแล้วกรอบ ใบหลุบลง, ตายอดนูน พร้อมดึง,

ถ้าใบยังไม่พร้อม หรือมีใบอ่อนแตกออกมาขณะสะสมอาหาร อย่ารีบร้อน ให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสะสมอาหารจนกว่าใบจะพร้อม จึงเปิดตาดอก ดูสภาพอากาศ ฝนต้องทิ้งช่วงนิด ดินไม่ชุ่มน้ำเกินไป เพราะหากเปิดตาดอกขณะฝนตกชุก โอกาสเป็นใบอ่อนสูง

ในการเปิดตาดอก เกษตรกรส่วนมากจะใช้ไทโอยูเรีย ผสมกับโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) จะใช้สูตร

สูตรเปิดตาดอก
– ไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม
– สาหร่าย-สกัด 300 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร)

ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้ว ตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรกประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงในวันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก

การทำใบอ่อนมาดีจะส่งผลให้การออกดอกมะม่วงดีตามด้วย
มะม่วงออกดอกทั้งต้น เกษตรกรบางท่านไม่รู้วิธีดูแลรักษา ทำให้พลาดโอกาส

การผลิตมะม่วงนอกฤดูอาจดูเหมือนงานที่ท้าทาย แต่ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ การดูแลดิน น้ำ และการควบคุมโรค คุณก็สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน