เครื่องมือตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลัง ช่วยให้เกษตรกรทำงานได้เบาแรงขึ้น

หลังจากชาวสวนผลไม้เก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดจนหมดฤดูกาลผลไม้แล้ว แต่งานของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ยังไม่จบ จะต้องดูแลตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช พรวนดินใส่ปุ๋ย เพื่อให้ได้ผลผลิตดีในปีถัดไป

ในการปลูกไม้ผล เพื่อจะให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การตัดแต่งกิ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการจัดการสวนผลไม้ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จำเป็นจะต้องตัดแต่งกิ่งของพืชออกบ้าง เพื่อให้ส่วนที่เหลือทำหน้าที่ให้ประโยชน์ต่อต้นไม้อย่างเต็มที่

คุณธนาวัฒน์ ทิพยชิต ก่อนที่จะย้ายมาปฏิบัติงานที่ศูนย์วิจัยการเกษตรวิศวกรรมสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศูนย์เปิดใหม่ คุณธนาวัฒน์ ปฏิบัติงานเป็นวิศวกรการเกษตรปฏิบัติการ อยู่ที่ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญในภาคตะวันออกของประเทศไทย คุณธนาวัฒน์ได้เห็นการตัดแต่งต้นไม้ของชาวสวนผลไม้ ส่วนใหญ่ใช้แรงงานในการปีนขึ้นไปตัดแต่งกิ่ง โดยใช้บันไดร่วมกับมีดพร้า เลื่อยโค้ง หรือเลื่อยคันธนู อุปกรณ์การตัดแต่งกิ่งในที่สูงของเกษตรกร เช่น กรรไกรกระตุกกิ่ง สามารถตัดแต่งกิ่งไม้ได้ไม่เกิน 1 นิ้ว ส่วนการใช้เลื่อยโค้ง ต่อด้ามอะลูมิเนียม ส่วนใหญ่ใช้ความยาวสูงสุดประมาณ 3 เมตร ตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว ส่วนการตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดใหญ่จะใช้เครื่องเลื่อยยนต์ ซึ่งมีน้ำหนักมากทำงานไม่คล่องตัว และถ้าจะตัดกิ่งที่สูงต้องปีนขึ้นไปตัดซึ่งอันตรายมาก

คุณธนาวัฒน์ และคณะทำงานพัฒนาเครื่องตัดแต่งกิ่ง ได้ศึกษาพัฒนาเครื่องตัดแต่งกิ่งให้มีน้ำหนักเบา เพื่อที่เกษตรกรจะได้ทำงานคล่องตัวและปลอดภัย โดยพัฒนาเครื่องมือตัดแต่งกิ่งแบบเกียร์ทดกำลัง โดยการใช้มอเตอร์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบา และสร้างเกียร์ทดเพื่อเพิ่มแรงบิดให้มากพอ สำหรับการตัดแต่งกิ่งเงาะและทุเรียน มีด้ามจับทำด้วยวัสดุอะลูมิเนียม น้ำหนักเบา ยืดหดได้ สามารถตัดแต่งกิ่งไม้ผลได้ความสูงถึง 5 เมตร ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็ก 5 แอมแปร์ 2 ลูก เป็นแหล่งพลังงาน ทำให้ผู้ใช้ปลอดภัยและทำงานสะดวกมากขึ้น

เลื่อยวงเดือนขนาด7นิ้ว 24ฟัน

สร้างต้นแบบเครื่องตัดแต่งกิ่งไว้สองแบบ

คุณธนาวัฒน์ วิศวกรการเกษตร หัวหน้าคณะทำงานศึกษาพัฒนา กล่าวว่า จากการสำรวจสวนทุเรียนและสวนเงาะของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีขนาดต่างๆ กัน และการตัดแต่งกิ่งมี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ตัดกิ่งจากด้านบนลงมา วิธีนี้เป็นการตัดแต่งกิ่งไม้โดยทั่วไป

วิธีที่ 2 ตัดกิ่งเปิดจากด้านล่างขึ้นไปก่อน แล้วจึงตัดจากด้านบนลงมาจนขาด วิธีนี้เป็นคำแนะนำในการตัดกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนักมาก จะช่วยป้องกันการฉีกขาดของกิ่งไม้ที่ตัดได้

คุณธนาวัฒน์ จึงสร้างเครื่องตัดแต่งกิ่งไว้ 2 แบบ คือ แบบเลื่อยวงเดือน และเลื่อยชัก ทั้งสองแบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถสะพายด้านข้างหรือสะพายหลังได้ ทำให้ทำงานได้คล่องตัว แต่ใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง หรือสามารถใช้แบตเตอรี่รถยนต์ รถอีแต๋น รถแทรกเตอร์ ร่วมกับการลากรถเข็นทำให้สามารถทำงานได้ทั้งวัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมด

เลื่อยวงเดือน

เลื่อยวงเดือน ใบเลื่อยออกแบบเป็นเลื่อยวงเดือน ขนาด 7 นิ้ว 24 ฟัน พร้อมการ์ดป้องกันความปลอดภัยจากใบเลื่อย ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 12 โวลต์ 160 วัตต์ เป็นต้นกำลัง ขับผ่านชุดเกียร์ทด อัตราทด 1:3.6 ความเร็วรอบใบเลื่อย 5,500 รอบ ต่อนาที ความเร็วเชิงเส้นของการตัด 51.9 เมตร ต่อวินาที

เนื่องจากเครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยวงเดือนมีอัตราทดของเกียร์ทดต่ำ ทำให้มีแรงบิดน้อย การตัดแบบวิธีที่ 2 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า นอกจากจะช่วยลดการฉีกขาดของกิ่งไม้ที่ตัดแล้ว การตัดทั้งข้างล่างและข้างบนยังช่วยลดภาระการทำงานของเครื่อง ทำให้ใช้พลังงานน้อยกว่าด้วย เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยวงเดือนที่พัฒนาขึ้นมานี้เหมาะสมกับการตัดแต่งกิ่งไม้ขนาดเล็กจนถึงขนาด 2 นิ้ว ไม่เหมาะกับการตัดกิ่งไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้ว เพราะกิ่งไม้จะติดแกนหมุนของเลื่อยวงเดือน

เลื่อยชักชนิดโค้ง ตัดหัวท้ายให้สั้นเหลือ10นิ้ว ใช้มอเตอร์ขับชักเลื่อย

เลื่อยชัก ใบเลื่อยเป็นเลื่อยตัดแต่งกิ่งไม้ ชนิดเลื่อยโค้ง หรือเลื่อยตัดกิ่งไม้ ขนาด 14-15 นิ้ว ที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด  นำมาตัดหัวและท้ายให้สั้นเหลือ 10 นิ้ว เพื่อให้มีน้ำหนักและความยาวที่เหมาะสมกับการใช้มอเตอร์ขับชักเลื่อย หากยาวมากเลื่อยจะสั่น ถ้าจะตัดกิ่งไม้แบบวิธีที่ 2 ต้องใช้เลื่อยที่มีการดัดแปลงให้มีฟันเลื่อยทั้งด้านบนและด้านล่าง

 

คุณธนาวัฒน์ อธิบายถึงการตัดแต่งกิ่งเงาะด้วยเลื่อยชัก สำหรับกิ่งไม้ขนาด 1-2 นิ้ว ควรตัดด้วย วิธีที่ 1 จะทำให้ตัดได้เร็วกว่า วิธีที่ 2 เพราะไม่ต้องเสียเวลาตัด ทั้งข้างบนและล่าง และใช้พลังงานไฟฟ้าใกล้เคียงกัน ส่วนการตัดกิ่งไม้ขนาด 3-4 นิ้ว ควรตัดด้วย วิธีที่ 2 จะตัดได้เร็วกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่า

เนื่องจากกิ่งไม้ขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก เมื่อเราตัดเปิดกิ่งไม้จากข้างล่างขึ้นไปข้างบนก่อน แล้วตัดจากข้างบนลงมา ไม้จะหักลงมาเองด้วยน้ำหนักของกิ่ง ทำให้ใช้เวลาตัดน้อยกว่ามาก เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยชักเหมาะกับการตัดแต่งกิ่งไม้ขนาด 1-4 นิ้ว ซึ่งกิ่งไม้ขนาดใหญ่ 3-4 นิ้ว ควรตัดด้วยวิธีที่ 2 คือตัดกิ่งเปิดจากด้านล่างขึ้นไปก่อนแล้วจึงตัดจากข้างบนลงมาจนขาด เพื่อช่วยลดระยะเวลาและพลังงานในการตัด รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการฉีกขาดของกิ่งไม้ที่ตัด

คุณธนาวัฒน์ บอกว่า “จากผลการทดสอบตัดแต่งกิ่งสวนเงาะสีทองอายุ 17 ปี ระยะปลูก 12×12 เมตร ปลูกสลับแถวกับทุเรียนหมอนทองของเกษตรกร จำนวน 20 ไร่ พบว่าการตัดแต่งกิ่งเงาะสีทองด้วยเลื่อยวงเดือน ใช้เวลาเฉลี่ยต้นละ 16.34 นาที มีความสามารถในการทำงาน 7.8 ไร่ ต่อวัน ส่วนเครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยชัก ใช้เวลาเฉลี่ยต้นละ 13.2 นาที มีความสามารถทำงานได้ 9.7 ไร่ ต่อวัน” ในขณะที่ใช้แรงงานคนตัดแต่งกิ่ง ใช้เวลาเฉลี่ยต้นละ 21.18 นาที มีความสามารถในการทำงาน 6 ไร่ ต่อวัน ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า การใช้แรงงานคนตัดแต่งกิ่งมีต้นทุนการใช้จ่าย 298 บาท ต่อไร่ ในขณะที่การใช้เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยวงเดือนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่ 236 บาท ต่อไร่ มีจุดคุ้มทุนเมื่อตัดแต่งกิ่งไม้ต้นเงาะ 96.8 ไร่ และเครื่องตัดแต่งกิ่งแบบเลื่อยชัก มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 183 บาท ต่อไร่ และมีจุดคุ้มทุนเมื่อตัดแต่งกิ่งไม้ต้นเงาะ 60.2 ไร่

ด้ามจับทำด้วยวัสดุอลูมิเนียมยืดหดได้ตัดแต่งกิ่งไม้ได้สูงถึง5เมต

เครื่องมือตัดแต่งกิ่งไม้ผลแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลัง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ ลำไย หรือไม้ผลอื่นก็ตาม ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงขนาดเล็ก 12 โวลต์ ความเร็วรอบ 17,500 รอบ ต่อนาที มีน้ำหนักเบา เป็นต้นกำลังทด ถ่ายทดกำลังผ่านชุดเกียร์ทด อัตราทด 1:3.6 สำหรับเลื่อยวงเดือน และอัตราทด 1:10 สำหรับเลื่อยชักเพื่อให้ได้แรงบิดมากพอ สำหรับการตัดแต่งกิ่งไม้ ส่วนประกอบที่เป็นด้ามจับทำจากอะลูมิเนียมซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง สามารถยืดหดได้สะดวก รวดเร็ว

เครื่องตัดแต่งกิ่งแบบมอเตอร์เกียร์ทดกำลัง ออกแบบให้ใช้แหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าเป็นแบตเตอรี่ขนาดเล็ก 12 โวลต์ น้ำหนักเบา สะพายหลัง ทำให้สะดวกต่อการทำงาน หรือจะใช้แบตเตอรี่ของรถยนต์ รถอีแต๋น หรือรถแทรกเตอร์ใส่รถเข็น ก็จะทำให้ทำงานได้ทั้งวันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมด

เกษตรกรและผู้สนใจ ขอต้นแบบและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84170 โทร. 065-956-3525

ตัดกิ่งด้วยเลื่อยวงเดือน
เลื่อยชักใช้มอเตอร์ทุ่นแรง

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่