33 ปี นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรไทย ยุค 5G

INNOVATION FOR NEW NORMAL (ตอนที่ 1) จากระยะหลังมานี่จะเห็นได้ว่าการทำเกษตรเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น โดยทำการปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรในแขนงต่างๆ ที่เกษตรกรค่อยๆ เรียนรู้และทำการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่มีการทำเกษตรไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยี เมื่อโลกไร้พรมแดนนี้มีสิ่งที่เป็นความทันสมัยมากขึ้น ตัวของเกษตรกรเองจึงต้องปรับเปลี่ยนการทำเกษตรของตนเอง ช่วยเป็นเหมือนเครื่องทุนแรงจนสามารถสร้างเป็นสมาร์ทฟาร์ม และทำให้การเกษตรมีความแม่นยำ เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททั้งในเรื่องของการดูสภาพดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถกำหนดและควบคุมการผลิตที่มีคุณภาพส่งจำหน่ายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนไปสู่ลูกหลานได้

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ เทคโนโลยีชาวบ้านจัดงานครบรอบ 33 ปี จึงได้มีการจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรกรไทย ยุค 5G INNOVATION FOR NEW NORMAL” การจัดสัมมนาเพื่อเป็นองค์ความรู้และเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ที่สนใจอยากทำอาชีพทางการเกษตรได้รับข้อมูลในช่วงปัจจุบัน และผู้ที่เป็นเกษตรกรอยู่แล้วได้เกิดแรงบันดาลใจในการทำเกษตรให้เข้ากับยุค 5G เพราะเทคโนโลยีจะเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยสร้างสังคมการเกษตรของบ้านเราให้ผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ

ในการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหลังช่วงจากพิธีเปิดว่า ปัจจุบันระบบดิจิตอลต่างๆ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกสังคม ถ้าพูดถึงในเรื่องของการทำเกษตรในประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมาก เพราะประเทศไทยมีการส่งออกพืชหลายชนิด เช่น ผลผลิตยางพารา อุตสาหกรรมการส่งออกทางด้านการประมงไปยังตลาดต่างประเทศ และนอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการตรวจวัดมาตรฐานสินค้าปลอดภัยที่เกษตรกรเห็นความสำคัญ จึงช่วยให้สินค้ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ดังนั้น การที่ช่วยให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองได้นั้น การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาปรับใช้ จึงจะช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ และเกษตรกรต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผลผลิตที่ได้สอดคล้องและมีความทันสมัยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

คุณสุภัทร เมฆิยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด

“การทำเกษตร 4.0 ในช่วงนี้เราต้องเน้นในเรื่องของตลาดนำการผลิต เพราะฉะนั้น เราต้องมีการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมกับสร้างมาตรฐานให้ถูกหลักมาตรฐาน GAP พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาให้มากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บข้อมูลของการทำเกษตรทั้งประเทศ เพื่อให้เราได้มีข้อมูลที่แม่นยำ จากนั้นเราก็จะนำข้อมูลทุกอย่างที่เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์ และเป็นการเตรียมตัวให้เราสามารถผลิตสินค้าได้อย่างเข้มแข็ง และสร้างเป็นสินค้าส่งออกที่ได้มาตรฐานและตรงตามที่ตลาดโลกต้องการ เพราะฉะนั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเทศของเรา มีการร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสร้างความภูมิใจในสินค้าให้กับคนในชาติ เป็นสินค้าที่ส่งออกไป มีตัวการันตีว่า Made in Thailand” ท่านอลงกรณ์ กล่าว

การสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณสุภัทร เมฆิยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์จนสามารถมีคุณภาพและรู้จักไปอย่างกว้างขวางมาจนถึงทุกวันนี้ คุณสุภัทร เล่าว่า ในช่วงที่เริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ๆ นั้น บริษัทเองยังไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องมีการขยายการผลิตมาจำหน่ายเป็นรูปแบบบริษัทที่ใหญ่เหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะเราเริ่มเปิดร้านมาจากร้านเล็กๆ เมื่อสินค้าอย่างเช่นเมล็ดพันธุ์สามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เราจึงเกิดความคิดที่จะขยับขยายการทำเมล็ดพันธุ์พืชให้กว้างขวางมากขึ้น โดยมีการทำงานวิจัยมาคัดเลือกสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผ่านมาถึง 40 ปี เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชทำให้เกษตรกรไทยมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้านทานโรค และช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพื้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ BIOTEC

ซึ่งการทำงานของบริษัทจะต้องนำผู้คนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยว่าจะช่วยการพัฒนาไปทิศทางไหนได้บ้าง จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ของเรามีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและถูกต้องตามความต้องการของทุกฝ่าย เกษตรกรมีกำลังที่สามารถซื้อได้ ลูกค้าที่นำไปขายสามารถมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพจำหน่ายธุรกิจสร้างรายได้แบบที่ทุกฝ่ายเดินไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“การทำสินค้าเมล็ดพันธุ์เราไม่ได้ทำแต่ขายเพียงอย่างเดียว เราต้องมีการพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ ซึ่งเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดที่นำออกมาจำหน่ายจะต้องมีการนำไปปลูกทดลองหลายครั้ง จากนั้นเมื่อได้เมล็ดพันธุ์มาแล้ว เราก็จะนำออกมาจำหน่าย การทำเมล็ดพันธุ์มีเรื่องให้ท้าทายอยู่เสมอ อย่างเช่นในเรื่องของสภาพอากาศ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องทำงานวิจัยอยู่เสมอ มีการทดลองอยู่เสมอ จึงเป็นการสอนเราให้ได้พัฒนาในทุกด้าน และนำเทคโนโลยีที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนาสินค้าเราให้เท่าทันกับเหตุการณ์โลกและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้เรามีการพัฒนาสายพันธุ์พืชที่เป็นแหล่งอาหารของคนทั้งโลกได้อย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรผู้ปลูกจำหน่ายสินค้าได้ผลกำไรและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” คุณสุภัทร กล่าว

เมื่อมีการพูดถึงเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้คุณภาพแล้ว เวลาในครั้งนี้ได้มีการพูดคุยในเรื่องของการปลูกพืชในระบบโรงเรือนปิดเป็นการปลูกพืชแหล่งอนาคตนั้นก็คือ แพลนต์ แฟกตอรี่ (Plant Factory) โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต

ผู้ที่มาให้ข้อมูลในครั้งนี้คือ ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัยห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพื้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ BIOTEC ให้ข้อมูลว่า Plant Factory หรือ Vertical Farming System-Plant Factory with Artificial Lighting (PFAL) เป็นนวัตกรรมในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ มีความแข็งแรงปราศจากโรค แมลง สารเคมีปนเปื้อน และมีเสถียรภาพในการผลิต โดยไม่ขึ้นกับฤดูกาลแห่งผลผลิตและปัจจัยของธรรมชาติ หรือถ้าจะเรียกง่ายๆ ก็คือ การผลิตพืชให้อยู่ในสภาพควบคุมการปลูกภายในโรงเรือน จะเน้นในเรื่องของการให้พืชอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด เพราะฉะนั้น การปลูกพืชในระบบนี้จึงมานำองค์ความรู้ของแต่ละแขนงวิชาเข้ามาใช้ เช่น วิศวกรรมหลายแขนงเข้ามาใช้ และการทำเกษตรเองด้วยที่มีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้พืชได้โตได้อย่างสมบูรณ์ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในระบบนี้

เพราะฉะนั้น ในอนาคตถ้าสภาพอากาศไม่มีความเหมาะสม แต่การปลูกพืชในระบบนี้จะช่วยให้พืชทุกชนิดสามารถเติบโตได้จากระบบนี้ แต่การปลูกจะต้องเน้นเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างเป็นพืชกินใบ เพราะผักใบมีอายุวันสั้นจึงช่วยให้สามารถปลูกพืชได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ทำให้เปลืองเวลาในการดูแล

“สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาในเรื่องของการปลูกพืชในระบบ สามารถติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานได้ ว่างานวิจัยนี้สอดคล้องกับการที่จะไปสร้างเป็นอาชีพหรือไม่ เราจะมีทีมวิจัยที่ให้คำแนะนำ คอยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และมีการสร้างแผนให้เห็นว่าคุ้มค่าไหมที่จะลงทุนอย่างไร เพราะฉะนั้น การทำงานวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เรารับมือต่อการเปลี่ยนของโลกในอนาคตต่อไปได้” ดร.เกรียงไกร กล่าว

ในปักษ์หน้าจะมีการพูดคุยในเรื่องของการสร้างมูลค่าสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ในการผลิตสินค้าปลายน้ำที่เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่ทำการเกษตรเกิดความมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้นสามารถต่อยอดในธุรกิจและเพิ่มมูลค่าอย่างไรบ้าง…พบกันฉบับหน้าครับ