รมช. ประภัตร คิกออฟเปิดแปลงนาอัจฉริยะ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพและรายได้อย่างยั่งยืน หนุนถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร ปลูกข้าว 1 ไร่ ใช้ทุนไม่เกิน 3 พันบา

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิด “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีแปลงนาอัจฉริยะ” ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปี 2564 ณ แปลงเรียนรู้ ต.นางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

โดยการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำนาโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับการบูรณาการกับทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ปัจจุบันการผลิตทางการเกษตรมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย สามารถนำมาใช้ในไร่นาได้ผลดีและจะส่งผลให้การผลิตในภาพรวมของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดังนั้น ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมกันพัฒนา โดยกรมการข้าว ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ทำการศึกษาทดลองซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าว โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาเมล็ดพันธุ์ จนได้ชุดเทคโนโลยีที่เหมาะสมและพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวไปสู่เกษตรกร ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกร จัดทำแปลงเรียนรู้ด้านข้าว พื้นที่แปลงนา กว่า 138 ไร่

ซึ่งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ จากการศึกษาและการทดลองเทคโนโลยีแปลงนาอัจฉริยะ พบว่า ต้นทุนในการปลูกข้าว ไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ และหวังอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทั่วประเทศ

สำหรับแนวทางเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะชุดนี้ มี 6 ประเด็นสำคัญ ตั้งแต่ 1.การเตรียมดิน โดยใช้เครื่องปรับดินเลเชอร์ (Laser land levelling) เพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ปรับระดับผิวดินให้เรียบ สม่ำเสมอ 2.การจัดระบบน้ำ ใช้ท่อวัดน้ำอัจฉริยะ แสดงผลปริมาณระดับน้ำทุกชั่วโมงผ่าน Line Application บนมือถือของเกษตรกร โดยใช้ Solar Cell เป็นแหล่งให้พลังงาน เมื่อน้ำต่ำกว่าระดับผิวดิน จึงจะปล่อยน้ำเข้าแปลงนา สามารถลดปริมาณการให้น้ำได้ 46% 3.การติดตามสภาพแวดล้อม สถานีตรวจวัดอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ต่างๆ แบบ real time เข้าระบบ IOT 4.การจัดการปุ๋ย ด้วยครื่องวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบพืช (Crop Space) เพื่อเป็นการให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของข้าว 5.การอารักขาพีช โดยการใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพบินตรวจการทำลายของโรค และแมลง รวมทั้งข้าวปนและวัชพืชในข้าว และ 6. มีระบบช่วยตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (IOT Platform) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังมือถือเกษตรกรได้ตลอดเวลา ครอบคลุมรัศมี 2 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 หมื่นไร่เศษ