ธุรกิจภาคเกษตร เตรียมทะยานหลังผ่านโควิด-19 ยกเว้นข้าว ส่งออกชะงัก แต่คาดฟื้นตัวปี 64

เกือบจะสิ้นปีแล้ว วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาในบ้านเราทำให้เศรษฐกิจการค้าหายหลายชนิดค่อนข้างชะลอตัว เพราะผู้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ต้องประหยัดเงินในหลายเรื่อง ภาคเกษตรเองมีการซื้อขายที่ชะลอตัวด้วยเช่นกัน เมื่อสินค้าหรือผลผลิตบางอย่างไม่สามารถส่งออกได้ จึงทำให้ผลผลิตการซื้อขายชะลอตัว เพราะผู้บริโภคมีการซื้อแต่พอใช้สอย โดยมองถึงเรื่องความประหยัดเป็นหลัก ช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะอยู่ในช่วงชะลอตัวแล้ว แต่ผลกระทบในแต่ละด้านของภาคการเกษตรยังคงฟื้นตัวได้มาก แม้จะยังไม่ดีเท่าที่ควร

 ยอดซื้อไม้ดอกไม้ประดับพุ่ง

โควิด-19 ทำคนสั่งออนไลน์เพิ่ม

แต่ในแวดวงของไม้ดอกไม้ประดับที่ผ่านมา พันธุ์ไม้บางชนิดกลับมียอดการซื้อขายที่ดีกว่าปกติ เพราะช่วงที่หลายๆ คนต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อนั้น ทำให้มีเวลาดูแลบ้านของตนเองมากขึ้น จึงทำให้เกิดการซื้อต้นไม้ออนไลน์ส่งตรงถึงหน้าบ้านด้วยระบบขนส่งในปัจจุบันที่ตอบรับกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

คุณสมพงษ์ ชื่นบาน ประธานกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับและทำไม้ขุดล้อม อยู่หมู่ที่ 10 ตำบลโนนห้อม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี บอกว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจดูเหมือนจะชะลอตัว แต่ไม้ดอกไม้ประดับที่อยู่ในสวนของเขาและสมาชิกภายในกลุ่มกลับขายดี เพราะลูกค้าเหมือนมีความต้องการธรรมชาติไปอยู่ภายในบ้านของตนเอง จึงทำให้ไม้ขุดล้อมเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและนำไปส่งตรงถึงบ้านได้อย่างไม่มีปัญหา จึงเกิดรายได้ช่วงโควิด-19 ดีไม่น้อยทีเดียว

คุณสมพงษ์ ชื่นบาน

“ช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ ผมนึกว่าจะจำหน่ายไม้ในสวนไม่ได้ เพราะอย่างที่เราทราบๆ กัน ว่าสินค้าหลายอย่างค่อนข้างขายได้น้อย เพราะกำลังคนซื้อเขาประหยัดกันมากๆ แต่ผิดคลาดกว่าที่เราคิด เพราะคนสนใจในไม้ดอกไม้ประดับเยอะมาก ยิ่งเป็นไม้ยืนต้นไม้ผลนี่ พอเราทำออกมากลับจำหน่ายได้ เรียกว่าขายดี ผลิตไม่ทันก็มี ด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่แรงมาก จึงทำให้คนสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่าย อย่างขนุน อายุ 1 ปี สูง 2-3 เมตร ราคาอยู่ที่ต้นละ 900-1,200 บาท ลูกค้าก็สั่งกันเข้ามาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ช่วงโควิด-19 ถือว่าไม้ขุดล้อมขายดี เพราะคนอยากตกแต่งบ้านเรือนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ว่าง ส่วนเราคนสวนเองก็ต้องปรับราคาด้วยเพื่อให้คนสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น” คุณสมพงษ์ กล่าว

ท่านใดมีความสนใจในเรื่องของไม้ขุดล้อม หรือต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมพงษ์ ชื่นบาน หมายเลขโทรศัพท์ (087) 130-1484

ธุรกิจข้าวปี 63 เติบโตลดลง

คุณฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศและต่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมข้าวไทย ปี 2563 มีแนวโน้มตกต่ำ ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าการส่งออก เนื่องจากจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่และเป็นผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของโลก มีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยเน้นเพิ่มผลผลิตข้าวภายในประเทศมากขึ้น

คุณฐิติ ลุจินตานนท์ โชว์สินค้าข้าวตราฉัตร  

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกหยุดชะงัก ทำให้การส่งออกข้าวได้รับผลกระทบตามไปด้วย กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศมีกำลังการซื้อลดลงและหันไปซื้อข้าวพื้นนิ่มเวียดนาม ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิแต่มีราคาถูกกว่าแทน ขณะเดียวกัน ปีนี้ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณมากกว่าปีก่อน ซึ่งปัจจัยต่างๆ นี้ ส่งผลทำให้เกษตรกรผู้ปลูกต้องเผชิญวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ

คุณฐิติ กล่าวถึงตลาดข้าวถุงในประเทศว่า ช่วงแรกที่เกิดวิกฤตโควิด-19 คนไทยตื่นตระหนักว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงซื้อข้าวสารเก็บสต๊อกไว้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดขายข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มอยู่ตัว ข้าวที่เก็บในสต๊อกยังใช้ไม่หมด ประกอบกับรัฐบาลยังไม่มีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจำนวนมาก ทำให้ยอดขายข้าวในช่วงไตรมาสที่ 3-4 มียอดขายลดลงกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ตลาดข้าวในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ ดังนั้น ข้าวตราฉัตรจึงวางแผนเปิดตัวข้าวสารไรซ์เบอร์รี่ และข้าว กข 43  ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลต่ำ เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวในรูปแบบเส้นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว และข้าวหุงสุกพร้อมรับประทาน เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตคนเมืองที่นิยมความสะดวกสบายและต้องการบริโภคอาหารสะอาดปลอดภัยมากขึ้น

เครื่องจักรกลยอดขายพุ่ง

ด้าน คุณปรีชา บุญส่งศรี เกษตรกรอำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรี ผู้ผลิตและจำหน่าย เครื่องเจาะดิน “นิวบอร์น” กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มนุษย์เงินเดือนตกงานเป็นจำนวนมาก และกลับบ้านเพื่อทำอาชีพเกษตร เช่นเดียวกับอดีตข้าราชการวัยเกษียณอายุก็หันมาสนใจทำอาชีพเกษตรมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งทั้งสองกลุ่มต้องการซื้อเครื่องเจาะดินมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้ยอดขายเครื่องจักรกลการเกษตรในที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น

เนื่องจากในปัจจุบันมีลูกค้าผู้สูงวัยและกลุ่มสตรีวัยทำงาน สนใจสั่งซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในการทำงานมากขึ้น คุณปรีชาจึงได้ออกแบบพัฒนาเครื่องเจาะดินให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มให้สามารถใช้งานได้สะดวก ราคาไม่แพง เช่น เครื่องเจาะดินนิวบอร์น รุ่น M63 เครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ ขนาด 63 ซีซี เครื่องเจาะดินนิวบอร์น รุ่น M52 ขนาด 52 ซีซี เครื่องเจาะดินนิวบอร์น รุ่น KS เครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ ขนาด 49 ซีซี เครื่องเจาะดินนิวบอร์น รุ่น KT ขนาด 49 ซีซี พร้อมจำหน่ายดอกเจาะดิน แบบก้นหอย ดอกสว่านขนาด 4 นิ้ว 6 นิ้ว 8 นิ้ว 10 นิ้ว ทุกขนาดเจาะดินลึก 60 เซนติเมตร

คุณปรีชา บุญส่งศรี ผู้ผลิตและจำหน่าย เครื่องเจาะดิน “นิวบอร์น”  

ดอกเจาะดินขนาด 4 นิ้ว สำหรับขุดหลุม ฝังท่อแป๊บ ฝังเสาไม้ไผ่ ฝังปุ๋ย พรวนดิน ดอกเจาะดินขนาด 6 นิ้ว สำหรับงานฝังเสารั้วลวดหนาม ฝังปุ๋ย พรวนดินรอบต้นไม้ ดอกเจาะดินขนาด 8 นิ้ว สำหรับงานทั่วไป ขุดหลุมปลูกต้นไม้ ฝังปุ๋ย ขุดหลุมปักเสารั้วลวดหนามแบบหล่อปูนโคนเสา ขุดหลุมเสาบ้าน ขุดหลุมตอหม้อ ส่วนดอกเจาะดินขนาด 10 นิ้ว สำหรับงานขุดหลุมเสาโครงสร้าง ขุดหลุมปลูกต้นไม้ใหญ่ปานกลาง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. (086) 618-2302

ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร

โตสวนกระแส

คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือ คุณนิก อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 11 ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่มองเห็นอนาคตช่องทางการสร้างรายได้และการต่อยอดจากปลาสลิด มองว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากการเลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาสด ต่อมามีการศึกษาการตลาดเพิ่มขึ้น เห็นว่าตลาดสินค้าแปรรูปจากปลาสลิดค่อนข้างไปได้ดี และการเกษตรกับอุตสาหกรรมเป็นของคู่กันอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตปลาสลิดราคาอาจจะตก แต่ถ้านำมาแปรรูปก็จะเป็นการชดเชยและต่อยอดรายได้ขึ้นมา

คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือ คุณนิก

คุณนิก เล่าว่า ตนเองเริ่มเลี้ยงปลาสลิดมานานกว่า 7 ปี ช่วง 3 ปีแรกเลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาสดเพียงอย่างเดียว เริ่มมามีการแปรรูปตอนช่วง 4 ปีหลังมานี้ โดยการเลี้ยงของที่ฟาร์มจะแบ่งเลี้ยงทั้งหมด 6 บ่อ ขนาดของแต่ละบ่อไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ขนาด 7-20 ไร่ ต่อบ่อ และมีการทดลองเลี้ยงปลามาหลายรูปแบบ ทั้งเลี้ยงแบบหนาแน่น เลี้ยงแบบเบาบาง จนได้ค้นพบวิธีเลี้ยงแบบพอดีๆ ปลาอยู่สบาย คือประมาณ 1-1 ตันครึ่ง ต่อไร่

บ่อเลี้ยงสะอาดได้มาตรฐาน

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาสลิด “สลิดกัน” คุณนิก บอกว่า เด่นที่เรื่องความสะอาดและคุณภาพ และอยากให้ลูกค้าได้เห็นว่าตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง เราเลี้ยงอย่างไร ถ้ากระบวนการเลี้ยงตั้งแต่ต้นดี น้ำดี พันธุ์ปลาดี สุขภาพปลาก็จะดี ปลาไม่ป่วย เมื่อปลาไม่ป่วยก็ไม่ต้องใช้สารเคมี ปลาก็จะไม่มีสารตกค้าง และมั่นใจได้เพราะที่ฟาร์มของเรามีประมงมาตรวจฟาร์มเพื่อให้ได้มาตรฐานตลอด และขั้นตอนถัดมาเมื่อตัววัตถุดิบมาดี สะอาดไม่มีสารตกค้าง ปลาก็จะไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งการจะทำให้ได้แบบนี้ต้องมีการประสานกันตั้งแต่ตอนเลี้ยง เพราะส่วนใหญ่แล้วที่เจอคือคนเลี้ยงก็เลี้ยงอย่างเดียว คนแปรรูปก็แปรรูปอย่างเดียว คุณภาพที่ได้ก็ไม่ประสานกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัย อย่ามองเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด ต้องทำทั้งหมดนี้ให้ผู้บริโภคเห็นว่าเราใส่ใจจริงๆ แล้วสุดท้ายราคาของสินค้าจะสูงไปเอง

กรรมวิธีแดดเดียว-ตากแดดในโซลาร์โดมปิดมิดชิด ป้องกันแมลงและสิ่งสกปรกจากภายนอก

 

ส่วนในด้านของการตลาดนั้น คุณนิก บอกว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบกับธุรกิจของตนเองเลย แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นยิ่งทำให้สินค้าของตนเองยิ่งขายดี เนื่องจากผู้คนเลี่ยงความเสี่ยงที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านให้น้อยลง แล้วหันมาจับจ่ายของในออนไลน์กันมากขึ้น ถือเป็นความโชคดีที่ตนเองได้มีการทำตลาดออนไลน์มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ทำให้สามารถรับมือกับยอดสั่งที่ถล่มทลายได้อย่างไม่มีปัญหา สามารถสร้างยอดขายต่อเดือนเป็นหลัก 10 ตันขึ้นไป สร้างรายได้ถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

ปลาสลิดแดดเดียว ไซซ์ XL (5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม) มีไข่

 

ธุรกิจไก่สวยงาม ทรงตัว

หลังโควิด-19 อาหารแพงขึ้น แต่ยังไม่กระทบ

คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ ประธานชมรมไก่แจ้ทวารวดี ซึ่งเป็นชมรมไก่แจ้ที่รวมเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของคนเลี้ยงไก่แจ้สวยงามทุกเพศ ทุกวัย และสมาชิกคนรักไก่แจ้ รวมถึงผู้เลี้ยงไก่แจ้ในหลายจังหวัด ให้ข้อมูลภาพรวมการซื้อขายไก่แจ้ ซึ่งเป็นไก่สวยงามที่คนส่วนใหญ่นิยมว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ชะลอการซื้อขายไก่แจ้ลดลง เพราะการซื้อขายสัตว์เลี้ยงโดยส่วนใหญ่ ผู้ซื้อจะต้องการเห็นของจริงหรือได้สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงนั้นๆ ต่อเมื่อผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การสัญจรไม่สะดวก จึงส่งผลให้การซื้อขายชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และมีผลต่อในวงการธุรกิจสัตว์เลี้ยง

คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ

 อย่างไรก็ตาม คุณธรรมรัตน์มองว่า การชะลอตัวของธุรกิจสัตว์เลี้ยง ก็เพียงช่วงเวลาเดียวที่มีการล็อกดาวน์ เพราะการเดินทางไม่สะดวก แต่เมื่อการสัญจรทำได้ตามปกติ ธุรกิจก็เริ่มกระเตื้องขึ้นและฟื้นขึ้นตามลำดับ และเชื่อว่าอีกไม่นานจะกลับมาเหมือนเดิม ที่ผ่านมาอาจมีธุรกิจสัตว์ปีกบางแห่งปิดตัวลงไป เชื่อว่าไม่ได้เป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยตรง แต่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า

ประธานชมรมไก่แจ้ทวารวดี บอกด้วยว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป สิ่งที่เห็นได้ชัดคือต้นทุนการทำฟาร์มสัตว์ปีกสูงขึ้น โดยเป็นปัจจัยจากค่าอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น แต่การซื้อขายยังคงจำหน่ายในราคาเดิม มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณธรรมรัตน์ สมเสร็จ ประธานชมรมไก่แจ้ทวารวดี เลขที่ 1/9 ซอย 3 หมู่ที่ 6 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หรือโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกันก่อนได้ที่ โทร. (087) 821-4803