“หว้า” ต้นไม้พยากรณ์อากาศ ปีไหนฝนฟ้าจะแล้งหรือน้ำจะมาก

หว้า เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีคำขวัญประจำจังหวัดดังนี้คือ “เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม”

แต่ละท่อนของคำขวัญมีความหมาย ดังนี้

เขาวังคู่บ้าน เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี อยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด เดิมเรียกว่า “เขาสมน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อย เมื่อ ปี พ.ศ. 2403 ได้พระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชร เรียกกันติดปากว่า “เขาวัง” สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรี มีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิกผสมสถาปัตยกรรมจีน

ขนมหวานเมืองพระ ขนมหวาน เป็นสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับเพชรบุรี คนทั่วไปรู้จักขนมหม้อแกงเมืองเพชร ตลอดจนขนมหวานหลากหลายชนิด ส่วนเคล็ดลับของความอร่อยนั้นมาจาก “น้ำตาลโตนด” ผลผลิตจากต้นตาลซึ่งในอดีตปลูกกันมาก แต่ปัจจุบันนั้นการปลูกต้นตาลในเพชรบุรีลดลงไป ที่ยังพอเห็นอยู่ก็คือที่อำเภอบ้านลาด เมืองพระ เพชรบุรีมีพระเกจิชื่อดังหลายรูป หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ ซึ่งเป็นที่ต้องการของเซียนพระหลายคน และรู้กันดีถึงความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน นอกจากหลวงพ่อแดงแล้ว พระเกจิชื่อดังสายเมืองเพชรเองก็มีอยู่หลายรูป อาทิ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อตัด วัดชายนา เป็นต้น

เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ เพชรบุรี มีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะประชาชนในสมัยก่อนเมื่อมีเงินจะนิยมสร้างวัดเป็นการทำบุญ เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ วัดอื่นๆ เช่น วัดใหญ่สุวรรณาราม ภายในมีภาพเขียนเทพ-ชุมนุมที่มีอายุกว่า 300 ปี และศาลาการเปรียญอันสวยงาม วัดกำแพงแลง เดิมวัดนี้เป็นเทวสถานของขอม การก่อสร้างตั้งแต่กำแพงจนถึงตัวปรางค์ต่างๆ นั้นสร้างขึ้นจากศิลาแลง และยังคงสภาพที่สมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน และสิ่งที่อยู่คู่กับวัดก็คือสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และสกุลช่างเมืองเพชรเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ขึ้นชื่อในเรื่องความประณีต ไม่ว่าจะเป็นงานแทงหยวก งานแกะสลักหนัง งานแกะสลักไม้ งานปูนปั้น และงานลายรดน้ำ งานช่างเมืองเพชรได้มีการสืบสานและพัฒนากันมารุ่นต่อรุ่น

ทะเลงาม ชะอำ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในจังหวัดเพชรบุรี เป็นชายหาดติดทะเลฝั่งอ่าวไทย แต่เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่ง แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่า หาดชะอำ เป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน

สิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นก็คือ “ต้นหว้า” ต่อไปนี้คือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับต้นหว้า

ชื่ออื่น : ห้าขี้แพะ (เชียงราย) ไม้ห้า

ชื่อสามัญ : Jambolan Plum, Java Plum

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium cumini (L.) Skeels

ชื่อวงศ์ : MYRTACEAE

ข้อมูลทั่วไป :

หว้า ชาวฮินดู เรียกว่า จามาน หรือ จามูน ชื่อภาษาอังกฤษคือ จัมโบลาน (Jambolan) เป็นพันธุ์ไม้พวกต้นชมพู่ มีมากทั้งในอินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย ตลอดจนฟิลิปปินส์ โดยมากหว้ามีผลเล็กสีม่วงดำ แต่ในบางแห่ง เช่น ฟิลิปปินส์ มีลูกเท่าไข่นกพิราบ ในพม่านั้น ต้นหว้าถือว่าเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง

ต้นหว้า เป็นต้นไม้ที่บอกว่า ปีไหนฝนฟ้าจะแล้งหรือน้ำจะมาก ชมพูทวีป หมายถึง ประเทศอินเดียในปัจจุบัน สมัยพุทธกาลเรียกดินแดนแถบนี้ว่า ชมพูทวีป ชมพูแปลว่า ไม้หว้า ชมพูทวีปคือดินแดนแห่งไม้หว้า ปีไหนลูกหว้าออกลูกดก แสดงว่าปีนั้นฝนดี ปีไหนลูกหว้าไม่ดก แสดงว่าปีนั้นแล้ง คนอินเดียใช้ต้นหว้าในการพยากรณ์ฝนฟ้าเรื่องการเพาะปลูกมาแต่ครั้งพุทธกาล

หว้า เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าคือ ต้นหว้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่ 2 เหตุการณ์ ได้แก่

1.ตอนตามเสด็จพระราชบิดา ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อครั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 8 ปีได้เสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าที่บรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวาย เพราะเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้มีความร่มรื่นและปลอดภัย

ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า ออก เป็นอารมณ์และก็ทรงบรรลุปฐมฌาน แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้วแต่เงาไม้หว้ายังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็น ดังนั้น ก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัยและเกิดความเลื่อมใสก้มลงกราบพระโอรส เพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์

  1. ตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฐิมานะชฎิล ชื่ออุรุเวลกัสสปะ ดังข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงต้นหว้าไว้ดังนี้…ครั้นเมื่อถึงเวลาฉัน อุรุเวลกัสสปะได้ไปทูลพระพุทธเจ้าว่าถึงเวลาแล้วมหาสมณะ ภัตตาหารเสร็จแล้วลำดับนั้นพระพุทธเจ้าทรงถือเอาโอกาสนั้นที่จะทรงแสดงปาฏิหาริย์ แล้วตรัสกับอุรุกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ ท่านไปก่อนเถิด เราจักตามไป” พระผู้มีพระภาคทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปะไปแล้ว เสด็จไปยังต้นหว้าประจำชมพูทวีป ทรงเก็บผลหว้าประจำชมพูทวีปนั้น แล้วเสด็จกลับมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสปะ อุรุเวลกัสสปะเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน รู้สึกแปลกใจจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่มหาสมณะท่านมาทางไหน ข้าพเจ้ามาก่อนท่าน แต่ท่านมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อน (ข้าพระเจ้า)”

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอุรุเวลกัสสปะว่า “ดูกรกัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วได้เก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้ว จึงมานั่งในโรงบูชาเพลิงนี้ก่อน ดูกรกัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ถ้าท่านต้องการเชิญบริโภคเถิด” อุรุเวลกัสสปะตอบว่า “อย่าเลย มหาสมณะท่านเก็บผลไม้นี้มา ท่านนั่นแหละจงฉันผลหว้านี้เถิด”

อุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งเรามาก่อนแล้วยังเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีปแล้วมานั่งในโรงเพลิงก่อน แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนอย่างเราแน่”

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นสูง 10-25 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาล

ใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 5-9 เซนติเมตร ยาว 9-15 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ

ดอก สีขาว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ออกที่ซอกใบหรือปลายยอด ฐานรองดอกเป็นรูปกรวย กลีบดอก 4 กลีบ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ออกดอกและติดผลราวเดือนธันวาคม-มิถุนายน ผลอ่อนสีเขียว พอเริ่มแก่ออกสีชมพู สีม่วงแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ รูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปกระสวย สีม่วงแดง ฉ่ำน้ำ ผิวเรียบมัน ผลแก่ราวเดือนพฤษภาคม มีเมล็ด 1 เมล็ด รูปไข่

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และไทย ในไทยพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ดินอุดมสมบูรณ์หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำธาร หนอง คลอง บึง สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเลขึ้นไปถึงเขาสูงไม่น้อยกว่า 800 เมตร

 

สรรพคุณทางสมุนไพร

เปลือกและใบ ใช้ทำยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย ลิ้นและคอมีเม็ด

ใบและเมล็ด ใช้แก้บิด มูกเลือด ท้องเสีย นำใบและเมล็ดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ในการชะล้างแผลเน่าเปื่อย หรือนำใบและเมล็ดมาตำแล้วใช้ทาแก้โรคผิวหนัง

เมล็ด ต้มหรือบด ใช้แก้เบาหวาน แก้บิด แก้ท้องร่วง ลดน้ำตาลในเลือด และใช้ถอนพิษ

ผลดิบ แก้ท้องเสีย

ผลสุก สีม่วงดำและมีรสเปรี้ยวฝาดอมหวาน ใช้ทำไวน์ได้ดี

ประโยชน์อื่น เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม เครื่องเรือนและเครื่องมือการเกษตร ผลสุก น้ำจากผลหว้า เป็น 1 ใน 8 น้ำปานะ ที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุ ส่วนผลสุกรับประทานได้ ใช้ทำเครื่องดื่ม ทำไวน์ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผัก