ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | อำพร ศิริคำ |
เผยแพร่ |
กล้วยหอมทอง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ระยะกว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 9 เดือนเศษ แต่ก็ตอบแทนเจ้าของได้อย่างคุ้มค่า เพราะหากมีการวางแผนการผลิตที่ดี มีการบริหารจัดการที่ดี จะทำรายได้สูงถึงไร่ละนับแสนบาทเลยทีเดียว แม้แต่ช่างเขียนแบบก็สามารถเรียนรู้และปลูกให้ประสบผลสำเร็จได้ อย่างเช่น
คุณเกรียงไกร พิมภูธร อายุ 43 ปี อยู่ที่บ้านท่าขอนยาง หมู่ที่ 3 ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โทร. 082-118-1605 จบการศึกษา ปวช. และ ปวส. ด้านช่างจากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จากนั้นไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีครุศาสตร์อุตสาหกรรม จากสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งช่างเขียนแบบ กองช่าง เทศบาลตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
แรงบันดาลใจในการปลูกกล้วยหอมทอง
เกิดจากการที่ได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับกล้วยหอมทอง ก็เลยสนใจคิดว่าเป็นไม้ผลที่คู่กับคนไทย สามารถบริโภคได้ทุกฤดูกาล จากนั้นได้ศึกษาการปลูก การดูแลรักษาอย่างจริงจัง จาก YouTube เป็นเวลา 1 ปี คือในปี 2559 ได้สอบถามราคาซื้อขายในตลาดที่จังหวัดมหาสารคาม ก็พบว่าราคาค่อนข้างดีและไม่มีตลาดค้าส่ง ดังนั้น ถ้าเรานำมาปลูกในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามน่าจะได้เปรียบในแง่ของการขนส่ง จากนั้น ปี 2560 ได้ซื้อพันธุ์จากอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มาปลูกในพื้นที่ 3 ไร่เศษ ประมาณ 1,300 ต้น ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร (400 ต้น ต่อไร่) ราคาหน่อละ 18 บาท รวมค่าขนส่ง
เทคนิคการเตรียมดิน การปลูกและดูแลรักษา
การเตรียมดิน เริ่มจากไถด้วยผาล 3 ตากดิน 2 สัปดาห์ จากนั้นไถด้วยผาล 7 แล้วปั่นและตีดิน ยกร่องห่างกัน 4 เมตร ความยาวตามสภาพของพื้นที่ เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี จากนั้นขุดหลุม ขนาดกว้าง 50xยาว 50xลึก 30 เซนติเมตร ใส่ปูนขาวกันเชื้อรา รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหมัก (มูลโคหรือมูลกระบือ) หลุมละ 1 กิโลกรัม ผสมคลุกเคล้ากับดิน วางระบบน้ำและทดสอบระบบน้ำก่อนปลูก
นำหน่อกล้วยลงปลูก กลบดินให้ท่วมเหง้า แต่อย่าปลูกลึกจนเกินไป หลังปลูก 2 สัปดาห์ ให้ปาดหน่อสูงจากพื้นดินประมาณ 10 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อให้ต้นอวบใหญ่สม่ำเสมอ จะส่งผลต่อการตกปลี และเก็บเกี่ยวระยะเวลาใกล้เคียงกัน
เดือนที่ 2 ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ต้นละ 1 กำมือ โรยรอบๆ โคนต้น ห่างจากโคนต้น 10-20 เซนติเมตร ให้น้ำและกำจัดวัชพืช (ตัด)
เดือนที่ 3 ใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 ประมาณ 1 กำมือ และใส่ปุ๋ยขี้ไก่ที่มีส่วนผสมของแกลบ ในอัตรา ต้นละ 2 กิโลกรัม (1 ถังปูน) จากนั้นให้น้ำให้ชุ่มอยู่สม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้ง
เดือนที่ 4 ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 อัตรา 2 กำมือ ต่อต้น และกลบโคนเพื่อให้รากออกหากินได้ดี
เดือนที่ 5 ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ผสมกับปุ๋ย สูตร 46-0-0 ในอัตรา 2 ต่อ 1 ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่ในอัตราต้นละ 2 กำมือ โดยหว่านรอบโคนต้น
เดือนที่ 6 กล้วยจะเริ่มออกปลี ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ต้นละ 2 กำมือ พร้อมกับกำจัดวัชพืช ในเดือนนี้ให้เตรียมไม้ไผ่สำหรับค้ำเครือกล้วยไว้ด้วย ยาวประมาณ 3 เมตร ต่อต้น เทคนิคในการค้ำ ไม่ควรใช้วิธีการขุด แต่ให้ใช้เหล็กกระทุ้งดินลึก 25-30 เซนติเมตร ก่อนที่จะนำหลักไม้ไปปัก เพราะหากขุดจะทำให้กระทบกระเทือนต่อระบบราก จะส่งผลถึงการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ไม้ค้ำควรปักห่างจากโคนต้น ประมาณ 1 ฟุต ในช่วงนี้จะต้องเตรียมเชือกฟางสำหรับมัดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในแต่ละรุ่น (ห่างกันไม่เกิน 7 วัน) โดยใช้สีเชือกฟางแตกต่างกัน พร้อมจดบันทึกวันเดือนปีในแต่ละรุ่น เพื่อให้ทราบวันเวลาที่จะเก็บเกี่ยว โดยปกติจะใช้จำนวน 4 สี หรือ 4 รุ่น
เดือนที่ 7 รดน้ำใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ต้นละ 2 กำมือ พร้อมกับตัดแต่งหน่อที่เกิดใหม่ราว 20 วัน ออกให้หมด ไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่ และตัดแต่งใบที่หลุดกาบหรือใบแก่ให้โปร่ง ป้องกันเชื้อรากินใบ หลังจากตกปลีแล้วควรคงใบไว้ 8-12 ใบ ต่อต้น (ก่อนออกปลี ไว้ใบมากเท่าไรยิ่งดี)
เดือนที่ 8 ตัดปลี แต่งหวี โดยตัดปลีออกและตัดหวีที่ไม่สมบูรณ์ออก คงไว้เฉพาะหวีที่ให้ผล 12-14 ลูก หรือมากกว่า จากนั้นห่อเครือด้วยถุงสีฟ้า เป็นถุงสำหรับการห่อกล้วยโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันเชื้อราจับลูก ทำให้ลูกลาย สำหรับถุงห่อผลกล้วย ราคาถุงละ 3 บาท จะใช้ได้ 3 ครั้ง ตั้งแต่ เดือนที่ 8 เป็นต้นไป ให้ดูแลใบให้โปร่งโดยตัดแต่งใบแก่และใบที่มีเชื้อราพร้อมกับการตัดแต่งหน่อ และกำจัดวัชพืชให้โปร่งสะอาดอยู่เสมอ และใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 2 กำมือ ต่อต้น เพื่อบำรุงผล
เดือนที่ 9 ประมาณกลางเดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ (หลังตัดปลี 70 วัน) ทั้งนี้ ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 15 วัน จะต้องติดต่อแม่ค้าว่าเจ้าไหนจะใช้จำนวนกี่หวี เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านการตลาด โดยปกติจะกำหนดคุณภาพของกล้วยหอมทองไว้ 2 เกรด ได้แก่ เกรดเอ ขนาดน้ำหนัก หวีละ 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาส่งหวีละ 90 บาท เกรดบี น้ำหนักหวีละ 2.0-2.4 กิโลกรัม ขายส่งหวีละ 60 บาท ที่เหลือตกเกรดจะขายในชุมชน ซึ่งไม่มีปัญหาด้านการตลาด ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะประมาณ 45 ถึง 60 วัน
ทั้งนี้ ได้นำหน่อกล้วยที่ตัดแต่งออก มาผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ทำให้เจริญเติบโตดี ลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย
เทคนิคการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย
ส่วนผสม
1.หน่อกล้วย (ใบแหลมยังไม่บาน) สับหยาบๆ
- นมเปรี้ยวชนิดใดก็ได้ 2 ขวด
- ไข่ไก่ดิบ 4 ฟอง
- กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
วิธีทำ
นำหน่อกล้วยที่สับแล้ว ใส่ลงในภาชนะ 1/3 ของความสูงของภาชนะหมัก นำไข่ กากน้ำตาล นมเปรี้ยว ใส่ลงถังหมัก ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำ 1 ส่วน ของถังหมัก คนให้เข้ากันอีกรอบ แล้วปิดฝาถังตั้งไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทิ้งไว้ 5-7 สัปดาห์ แล้วนำมาใช้ อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทางใบและปล่อยไปพร้อมกับระบบน้ำ สัปดาห์ละครั้ง
ประโยชน์
ช่วยย่อยสลายเศษวัชพืชได้ดี ทำให้ดินร่วนซุย สร้างภูมิคุ้มกันเรื่องเชื้อราทางดิน ใบเขียวแข็งแรงสามารถดึงสารอาหารทางใบไปบำรุงพืชได้ไว ช่วยสร้างระบบรากของพืชให้แข็งแรง
เทคนิคการผลิตในรุ่นต่อไปโดยไม่ต้องปลูกใหม่
- ภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ให้ขุดหน่อออกขาย หรือนำไปปลูกในแปลงใหม่ ซึ่งปกติเฉลี่ยจะให้หน่อประมาณ 4-6 หน่อ ต่อหลุม จำหน่ายในราคาหน่อละ 35 บาท หรือ 3 หน่อ 100 บาท แต่ถ้าสั่งซื้อตั้งแต่ 1,000 หน่อขึ้นไป จะจำหน่ายในราคา 4 หน่อ ต่อ 100 บาท หรือถ้าเกิน 2,000 หน่อ จะจำหน่ายในราคา 5 หน่อ ต่อ 100 บาท พื้นที่ปลูก 3 ไร่ จะมีรายได้จากการขายหน่อกล้วยประมาณ 120,000 บาท
- แต่ละกอที่เหลือจากการขุดหน่อออกขายแล้ว ให้เหลือหน่อไว้ 1 หน่อ แล้วปาดหน่อสูงจากพื้น ประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อดูแลให้เจริญเติบโต ให้ผลผลิตต่อไป โดยไม่ต้องปลูกใหม่ ในรุ่นนี้จะลดต้นทุนลงได้มาก
หากต้องการให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดหมุนเวียนตลอดปี ควรแบ่งเป็นแปลง และปลูกระยะเวลาห่างกันทุก 3 เดือน ซึ่งตนยังเหลือพื้นที่อีก 4 ไร่ เตรียมขยายพื้นที่ปลูกในรุ่นต่อไป
ปัญหาอุปสรรค… ที่สำคัญคือ ลมพายุ ถ้าลมแรงจะทำให้หักล้มเสียหาย ป้องกันโดยปลูกไม้บังลม เช่น ไผ่ กล้วยน้ำว้า ฯลฯ
ปัจจุบันได้ใบรับรองมาตรฐานจีเอพี จากกรมวิชาการเกษตร ล่าสุดได้มีบริษัทเอกชนขอตัวอย่างส่งไปตรวจสอบคุณภาพเพื่อส่งออกไปประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เขาจะให้ออเดอร์ (order) มา ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
“ผมปลูกกล้วยหอมทอง 3 ไร่ ขายผลผลิตได้เกือบ 300,000 บาท ขายหน่อได้อีกประมาณ 120,000 บาท รวมประมาณ 400,000 บาท อยากฝากถึงเกษตรกรและท่านที่สนใจ หากต้องการมีรายได้เสริม คิดว่ากล้วยหอมทองเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ยินดีที่จะให้ความรู้ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด หรือมาศึกษาดูงานได้” เป็นคำกล่าวยืนยันของช่างเขียนแบบเทศบาลตำบลท่าขอนยาง
จะเห็นว่า กล้วยหอมทอง เป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ทำรายได้ต่อไร่ค่อนข้างสูง และน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจที่กำลังมองหาช่องทางการประกอบอาชีพ ไม่แน่เหมือนกันนะครับ ท่านอาจมีรายได้เสริมปีละหลายแสนบาทก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร. 082-118-1605