ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
จากประสบการณ์การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ทำให้ คุณปัญญา ตาพล หรือที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนเลี้ยงไก่แจ้ ว่า “ป้อม วัดไร่ขิง” มีประสบการณ์การเลี้ยงสัตว์ปีกมาพอสมควร แต่ก็เป็นการเลี้ยงสัตว์หาเลี้ยงชีพเป็นรายได้ประจำ ยังไม่มองเรื่องความสวยงามเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน ต่อเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็ดไล่ทุ่งที่เคยสร้างรายได้ มีเกษตรกรจำนวนมากได้รับการส่งเสริมเช่นกัน ทำให้ราคาซื้อขายและความต้องการของตลาดลดน้อยลง คุณปัญญาจึงเลิกการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งไปโดยปริยาย และหันมาประกอบอาชีพค้าขาย
ระหว่างค้าขายเสื้อผ้ากับพี่สาว ทำให้มีเวลาว่าง จึงหันกลับมามองงานอดิเรกทำตามความต้องการของตนเอง ก็เล็งเห็นสัตว์ปีกสวยงามที่อยากเลี้ยงมานาน เมื่อได้โอกาสจึงซื้อไก่แจ้มาเลี้ยง และตั้งใจเลี้ยงเพื่อส่งเข้าประกวดเพียงอย่างเดียว
“ที่ผมสนใจการประกวดไก่แจ้ และเริ่มเลี้ยงไก่แจ้เพื่อการประกวด เพราะเห็นว่าไก่แจ้มีความสวยงาม ทั้งรูปร่าง สี และขน จึงเริ่มต้นด้วยการไปตามงานประกวดสัตว์ปีก (ไก่แจ้) และซื้อไก่แจ้มาเริ่มเลี้ยงและตั้งใจเพาะ เพื่อให้ได้ไก่แจ้ที่มีลักษณะเหมาะแก่การประกวด”
ก่อนเลี้ยง คุณปัญญา ตาพล ศึกษาหาความรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับไก่แจ้ เพื่อให้เป็นความรู้พื้นฐานที่แม่นยำ หวังให้การเลี้ยงสัตว์ที่ชื่นชอบไม่เกิดปัญหา และเลือกสีไก่แจ้ที่ชอบมาเลี้ยงก่อน นั่นคือ สีดอกหมาก และไก่แจ้สีดอกหมากก็เป็นสีที่ทำให้คุณปัญญาเป็นที่รู้จักในสนามประกวดไก่แจ้เพียงไม่กี่สนาม เพราะคว้าถ้วยรางวัลมาครอง ทำให้วงการไก่แจ้รู้จักคุณปัญญาดี ในนามของ “ป้อม วัดไร่ขิง”
เพราะรางวัลที่ได้รับมา ทำให้คุณปัญญามีความมุ่งมั่นตั้งใจเพาะไก่แจ้ให้ได้สายพันธุ์ดีมีคุณภาพ แต่ด้วยพื้นฐานฐานะที่ไม่ร่ำรวย ยังคงต้องประกอบอาชีพหลักคือค้าขายไปด้วย ทำให้เวลาดูแลไก่แจ้ของคุณปัญญาแตกต่างกับฟาร์มไก่แจ้ทั่วไปโดยสิ้นเชิง
ความแตกต่างไม่ได้ทำให้คุณภาพไก่แจ้ ในนามของ “ป้อม วัดไร่ขิง” ลดลง เพราะไก่แจ้ที่ลงสนามประกวดและได้ถ้วยรางวัลมาไม่ใช่เพียงครั้งเดียว อีกหลายต่อหลายครั้งที่ไก่แจ้ของคุณปัญญาคว้ารางวัลมาครอง แสดงให้เห็นว่า ฟาร์มเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาคุณภาพไก่แจ้ได้เช่นกัน ทำให้จากเดิมที่คุณปัญญาต้องการเลี้ยงไก่แจ้ไว้เพื่อประกวด และเพาะขยายพันธุ์เพื่อการคัดคุณภาพไก่แจ้นั้นต้องปรับเปลี่ยน เป็นการเพาะเพื่อจำหน่ายอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีลูกค้าติดต่อขอซื้อไก่แจ้จากคุณปัญญาจำนวนมาก
ความแตกต่างที่กล่าวถึงคือ คุณปัญญา ใช้ไม้ไผ่สานผูกด้วยลวด ใช้ทำเป็นกรงไก่ ตามขนาดที่ต้องการ ได้ทั้งเล็กและใหญ่ และเห็นว่าไก่เป็นสัตว์ตามธรรมชาติ ที่อยู่ก็ควรมีส่วนประกอบของธรรมชาติด้วยเช่นกัน อีกทั้งการใช้ไม้ไผ่และลวดประกอบขึ้นเป็นกรง ก็เป็นการลดต้นทุนการเลี้ยงประการหนึ่ง และสามารถรื้อกรงเพื่อขยับขยายเปลี่ยนขนาดของกรงได้สะดวก นอกจากนี้ ยังประดิษฐ์ตู้ฟักไข่ขึ้นเอง โดยใช้กระถางอิฐแดงปากกว้าง 12 เซนติเมตร มีฝาปิด ติดตั้งหลอดไฟ ขนาด 5 วัตต์ จำนวน 3 หลอด ไว้ที่ด้านในของฝา และนำถ้วยที่ไม่ได้ใช้ใส่น้ำวางไว้ที่ก้นกระถาง จากนั้นใช้ไม้ไผ่ที่สานขนาดความกว้างพอดีกับตัวกระถางวางไว้เหนือถ้วยน้ำ เมื่อได้ไข่ไก่ที่ต้องการฟักก็นำมาใส่ไว้ในกระถาง เปิดไฟให้ความอบอุ่นตามสภาพอากาศ หากอากาศค่อนข้างเย็น ก็เปิดไฟ 2 ดวง หากสภาพอากาศอุ่นขึ้นก็เปิดไฟเพียงดวงเดียวก็เพียงพอ
“ต้นทุนทั้งหมดที่ผมทำที่ฟักไข่ไก่ อยู่ที่ 120 บาท เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ปัจจุบันราคาอาจสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกระถางขนาดปากกว้าง 12 เซนติเมตร ที่ใช้อยู่ สามารถจุไข่ฟักได้ถึง 70 ฟอง ทุกๆ 3-4 วัน ต้องยกไข่ออก เพื่อเปลี่ยนน้ำในถ้วยก้นกระถาง ที่อาจมีเศษขี้ไก่ตกลงไปและเศษฝุ่นต่างๆ ที่ทำให้ภายในกระถางฟักไม่สะอาด และกระถางฟักนี้สามารถถอดอุปกรณ์ต่างๆ ออก เพื่อทำความสะอาดได้ง่ายกว่าตู้ฟักทั่วไปอีกด้วย”
คุณปัญญา เล่าว่า การฟักเป็นตัวของไก่แจ้อยู่ที่ 20-21 วัน นับจากวันที่ออกจากแม่ไก่ เริ่มเจาะไข่ในวันที่ 19 และลูกไก่จะค่อยๆ ถีบตัวเองให้หมุนอยู่ภายในไข่อีก 1-2 วัน รูที่เจาะเริ่มแรกจะขยายกว้างมากขึ้นและฟักออกมาเป็นลูกไก่ เมื่อฟักออกมาเป็นลูกไก่แล้วให้อยู่ในกระถางฟักไข่ต่ออีก 2 วัน จากนั้นย้ายมายังกระถางฟักไข่อีกใบ ที่ประดิษฐ์คล้ายกระถางฟักไข่ใบแรก แต่ไม่มีถ้วยน้ำวางก้นกระถาง เปรียบเสมือนกรงอนุบาลลูกไก่ที่สร้างความอบอุ่นให้ลูกไก่ด้วยหลอดไฟเช่นกัน
แม้ว่ากระถางฟักไข่ที่ประดิษฐ์ขึ้นจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถทำได้เองจากภูมิปัญญาก็ตาม แต่ผู้ที่ใช้จำเป็นต้องมีความชำนาญมากพอที่จะสัมผัสแล้วทราบได้ทันทีว่าเป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะกับลูกไก่หรือไม่ แต่สำหรับคุณปัญญา เขาใช้ประสบการณ์จากการเลี้ยงสัตว์ปีกหลายชนิดก่อนหน้านี้ เคยจับลูกไก่ในอกของแม่ไก่หลายครั้ง ประมาณได้ว่าอุณหภูมิที่ลูกไก่ต้องการขนาดเท่าไร และสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำเมื่อใช้กระถางฟักไข่นี้คือ การกลับไข่ทุก 3-4 ชั่วโมง โดยใช้มือล้วงไปใต้ไข่ค่อยๆ พลิกไข่รวมๆ กัน ลักษณะเหมือนการคลุกเคล้าให้ทั่ว เพื่อให้ไข่ได้กลับไปกลับมาทุกฟองไป
การส่องดูเชื้อในไข่ไก่ คุณปัญญา ก็นำกระถางอิฐแดงเช่นเดียวกัน แต่เป็นชนิดที่มีรูใต้กระถาง จับกระถางคว่ำลง และวางไข่ไก่ไว้บนรูดังกล่าว จากนั้นใช้ไฟส่อง จะมองเห็นชัดว่าไข่ไก่มีเชื้อหรือไม่
เพราะค้าขายเป็นงานประจำ ทำให้เวลาดูแลไก่ตรงกันข้ามกับผู้เลี้ยงทั่วไป โดยคุณปัญญา จะมีเวลาว่างจากการค้าขายในช่วงเวลากลางคืน จึงทำความสะอาดกรง ตู้ฟัก และบริเวณเลี้ยงในเวลากลางคืน ให้น้ำและอาหารในเวลากลางคืน ทั้งยังนำเศษอาหารจากการค้าขาย มาเป็นอาหารเสริมให้กับไก่แจ้
“อาหารเม็ดสำเร็จรูป ยังคงให้ประจำกับไก่แจ้ เพราะมีธาตุอาหารที่ไก่ต้องการครบ แต่ส่วนที่เสริมได้คือ เศษอาหารที่จะช่วยให้ไก่แจ้ซึ่งไม่ได้ปล่อยคุ้ยเขี่ยหากินตามธรรมชาติ ได้กินอาหารบางประเภทที่เข้าไปช่วยเป็นตัวย่อยในกระเพาะอาหาร และเท่าที่สังเกต เมื่อไก่เห็นยกหม้อขึ้นมา ไก่จะแสดงอาการดีใจให้เห็นด้วยการตีปีก”
ลูกไก่ที่ฟักเป็นตัวแล้วอายุ 2 วัน หลังจากเข้ากระถางอนุบาลลูกไก่ ก็สามารถนำขึ้นกรงเลี้ยงได้เลย เพราะลูกไก่มีความแข็งแรงมากพอ เริ่มให้อาหารเม็ดได้ตามปกติ แต่ยังคงให้ไฟเพื่อความอบอุ่นภายในกรงไก่เล็กจนกว่าลูกไก่จะมีอายุ 1 เดือน จึงอยู่กรงปกติ ยกเว้นไก่ที่มีคุณลักษณะเด่นเหมาะแก่การประกวด จะคัดไว้และให้ความอบอุ่นจากหลอดไฟเกิน 1 เดือนได้
ไก่แจ้ที่คัดไว้เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ คุณปัญญาคัดจากลูกไก่ของตนเอง และซื้อเพิ่ม เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่แตกต่าง หากผสมกันเองจะได้ลูกชิด ซึ่งเกิดความด้อยในตัวไก่สูง ไก่ที่พร้อมผสมโดยทั่วไป อายุ 5-6 เดือน ก็สามารถผสมได้ แต่สำหรับคุณปัญญาจะเว้นอายุให้แม่พันธุ์มีอายุถึง 8 เดือน จึงให้ผสม เพื่อให้ได้ไข่ใบใหญ่ และฟักเป็นลูกไก่ได้สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เกิดปัญหากับลูกไก่
แม้ว่าปัจจุบัน คุณปัญญาจะมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไก่แจ้มากถึง 60 ตัว แต่การซื้อขายพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไม่เคยหวง หากลูกค้าต้องการพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีอยู่ หรือต้องการลูกไก่ที่มีลักษณะเด่น คุณปัญญาก็ปล่อยขายออกไปแบบไม่กังขา เพราะเห็นว่าในอดีตที่ตนเองเป็นมือใหม่เลี้ยงไก่ ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก หาไก่สวยมาเลี้ยงค่อนข้างยาก และไม่มีใครปล่อยขายให้ จึงเห็นใจลูกค้าที่รักไก่แจ้เช่นเดียวกับตนเอง
คุณปัญญา บอกว่า สีไก่แจ้ตามมาตรฐานมีมากถึง 26 สี แต่สีที่ฟาร์มของคุณปัญญามีไม่มาก เพราะเน้นเลี้ยงเฉพาะสีที่ชอบ และมุ่งมั่นพัฒนาสีที่ชอบเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะสีดอกหมาก ทำให้คนในวงการทราบดีว่า หากต้องการไก่แจ้สีดอกหมาก ต้องมาที่นี่
การเพาะไก่แจ้จำหน่ายของคุณปัญญา ไม่ได้เน้นการขายเชิงพาณิชย์ มีลูกค้าหลายรายเดินทางมาถึงฟาร์ม แต่ไม่ได้ไก่แจ้ติดมือกลับไปก็มี คุณปัญญา บอกว่า การซื้อขายไก่แจ้กับคุณปัญญาเน้นที่ความรักและความต้องการจริงๆ ซึ่งผู้เลี้ยงควรมีพื้นฐานการเลี้ยงไก่มาบ้าง อย่างน้อยก็ควรทราบว่าชอบสีอะไร หากไม่ทราบอะไรเลย มาเพื่อต้องการซื้อไปเลี้ยงเล่นๆ คุณปัญญาขออนุญาตไม่ขาย เพราะเกรงว่า หากเบื่อเมื่อไร ไก่แจ้ที่ซื้อไปจะถูกทิ้งขว้าง
ราคาไก่แจ้ของคุณปัญญาไม่สูงนัก เป็นราคาซื้อขายตามการตกลงและความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายที่ลงตัวกัน อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายไก่แจ้ก็นำมาใช้เป็นต้นทุนการเลี้ยงไก่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากต้องการเยี่ยมชมฟาร์มเล็กๆ สามารถติดต่อนัดล่วงหน้าได้ที่ คุณปัญญา ตาพล หรือ ป้อม วัดไร่ขิง ได้ที่ โทรศัพท์ (081) 583-5447