เผยแพร่ |
---|
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ปี 2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 12 โครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากร เป้าหมาย คือ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิตผู้ประกอบการชุมชน
แนวทางการดำเนินงานทั้ง 12 โครงการ ประกอบด้วย ต้นทาง ด้วยการพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต โดยจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 72 จังหวัด รวม 217,000 ราย ส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร รวม 359,159 ราย กลางทาง เป็นการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชน 1,958 กลุ่ม และผู้ประกอบการ 24,845 ราย/กลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าชุมชน 5,811 ผลิตภัณฑ์ และ ปลายทาง มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด เพื่อเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าว GAP และส่งเสริมเครือข่ายตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ครบ 77 จังหวัด
ผลจากการติดตามในพื้นที่ พบว่า หลังการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานดังกล่าว เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ดิน โดยได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ร้อยละ 80 ได้รับประโยชน์จากเอกสารสิทธิเพื่อขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. มีเงินทุนหมุนเวียนในการทำเกษตร และที่ผ่านการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ใช้ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในฟาร์มที่เหลือจากการบริโภค และการประกอบอาชีพเสริม ประมาณ 15,000 บาท/ราย/ปี
ด้านการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มและชุมชน อาทิ กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรวมกลุ่มกันผลิตทั้งผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ส่งจำหน่ายในชุมชนและงานแสดงสินค้าต่างๆ มีรายได้เฉลี่ยรายละ 30,000-50,000 บาท/ปี ส่วนกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการรวมกลุ่มผลิต EM Ball ใช้ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเองและเพื่อการจำหน่าย รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 82 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิต ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด มีการเชื่อมโยงตลาดรองรับผลผลิตและส่งเสริมเครือข่ายตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีการจำหน่ายสินค้าและมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากเป้าหมายร้อยละ 10
ทั้งนี้ ภาพรวม ดัชนีความสำเร็จในการดำเนินงานของแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เฉลี่ยที่ร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้รับผลกระทบบางส่วน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวของเกษตรกรจำนวนมาก เช่น การจัดอบรม ส่งเสริมความรู้ในด้านต่างๆ ต้องมีการชะลอในดำเนินการในช่วงกลางปีออกไป เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จำเป็นต้องปรับรูปแบบการส่งเสริมและอบรมโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำในลักษณะกลุ่มย่อย รวมถึงการใช้อาสาสมัครในการถ่ายทอดความรู้ ทบทวน เชื่อมโยงการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้ทั้งรายเดิมและรายใหม่ ให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป