สยามคูโบต้า เดินหน้า โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ชูมหาสารคาม เป็นเมืองต้นแบบ มหานครปลอดการเผา

เนื่องจากปัญหามลพิษและ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยกว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และด้วยแนวทางในการดำเนินธุรกิจของสยามคูโบต้า ที่มุ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเกษตรไทยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อลดภาวะมลพิษทางอากาศที่บางส่วนมาจากการเผาในที่โล่งจากภาคเกษตรกรรม จึงดำเนินโครงการ “เกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีปลอดการเผา โดยตั้งเป้าให้เกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริม สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนำไปใช้ในการทำการเกษตรปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ (0) ภายในปี 2565

ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร Machinery Solutions และองค์ความรู้ด้านการเกษตร Knowledge Solutions ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจรมาปรับใช้ นำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

โดยเลือกให้จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องแห่งแรกในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มหาสารคาม มหานครปลอดการเผา”

คุณวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส-แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด

คุณวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส-แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “หลังจากที่สยามคูโบต้าได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ในจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับ 29 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้แทนจำหน่ายคูโบต้า มหาสารคาม ลงพื้นที่ผลักดันแนวคิดและองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ด้วยแนวทางการดำเนินงาน “ส่งเสริมแนวคิด สนับสนุนเครื่องจักรกลและการขนส่ง รวมทั้งหาโอกาสทางธุรกิจสำหรับตลาดรับซื้อ” เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม จากการจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี จึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใน ปี 2565 มหาสารคาม จะต้องเป็นมหานครปลอดการเผาได้อย่างแน่นอน”

คุณปราโมทย์ วัฒนะ รักษาการเกษตรจังหวัดมหาสารคาม

ด้าน คุณปราโมทย์ วัฒนะ รักษาการเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า “จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นเมืองแห่งการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจหลักประกอบไปด้วย ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง ล้วนแล้วแต่เป็นพืชที่มีประเด็นปัญหาหลักคือ เรื่องการเผา ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดมหาสารคาม ก็ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา ร่วมกับสยามคูโบต้า โดยมีการตั้งเป้าหมายของโครงการร่วมกันไว้ ดังนี้
1. ผลักดันนโยบายการงดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดมหาสารคาม

  1. ส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ภายในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชน
  2. ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา
  3. ผลักดันจังหวัดมหาสารคามให้เป็นต้นแบบนำร่องเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งถ้าหากดำเนินโครงการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างราบรื่น มีความมั่นใจว่า ภายใน ปี 2565 มหาสารคาม  จะต้องเป็นมหานครปลอดการเผาได้อย่างแน่นอน”

คุณวิชัย เผิ่งจันดา

ทางด้านเกษตรกรต้นแบบ คุณวิชัย เผิ่งจันดา อยู่ที่ ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยข้อมูลว่า ตนเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว จำนวน 17 ไร่ ที่ผ่านมาก็มีวิถีการทำนาแบบเดิมๆ มาโดยตลอด คือหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวนั้น ก็จะใช้วิธีการเผาทำลายอย่างเดียว เพราะเป็นวิธีกำจัดเศษวัสดุที่ไม่ต้องการได้ง่ายที่สุด และเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจัดการพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกในฤดูกาลต่อไป ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่จึงมีความจำใจต้องใช้วิธีการเผาทำลายมาโดยตลอด

จนกระทั่งทางสยามคูโบต้าได้เข้ามาส่งเสริมความรู้และวิธีการทำการเกษตรปลอดการเผา ก็ถือได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเชิงบวกสูงมาก เพราะเมื่อก่อนฟางที่อยู่ในนาข้าวเกษตรกรจะเผาหรือปล่อยให้แห้งกรอบไปเองโดยเปล่าประโยชน์ แต่เมื่อพอที่ได้รับองค์ความรู้และวิธีการที่ถูกต้อง จากฟางที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ก็ได้เกิดกระบวนการเก็บฟางไว้ทำเป็นปุ๋ย คือการไถกลบตอซัง เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นการลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยในปีต่อไป และนอกจากกระบวนการทำปุ๋ยแล้ว สยามคูโบต้ายังเข้ามาแนะนำการแปรรูปฟางให้เป็นรายได้ โดยการอัดฟางก้อนขาย พร้อมทั้งเป็นตัวกลางประสานงานหาตลาดรับซื้อ ในราคารับซื้อฟางข้าวอยู่ที่ 19 บาท ต่อก้อน กลายเป็นรายได้เสริมเข้ามาจุนเจือครอบครัวอีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากรายได้หลักจากการขายข้าว

คุณสิระวัฒน์ สีจันแก้ว

คุณสิระวัฒน์ สีจันแก้ว เกษตรกรต้นแบบ ปลูกอ้อย 100 ไร่ ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า เมื่อก่อนตนปลูกอ้อย บนพื้นที่กว่า 200-300 ไร่ การจัดการแปลงก็ยังใช้วิธีเดิมๆ ถึงเวลาตัดอ้อยก็ต้องใช้แรงงานคนเข้ามาตัด เตรียมแปลงที่จะเผาอ้อย แต่เมื่อมีการเผาสะสมเป็นเวลานาน ทำให้หน้าดินเสื่อม ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยได้น้อยลง มิหนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าปุ๋ย เพราะเมื่อดินเสื่อมก็ต้องใส่ปุ๋ยมากขึ้น และยิ่งทำไปสุขภาพก็ยิ่งแย่ลง

เครื่องอัดฟาง

จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกอ้อยแบบใหม่ จากที่เมื่อก่อนปลูกอ้อยแบบร่องแคบ หันมาปลูกในระยะห่างที่มากขึ้น เพื่อให้สะดวกในการใช้เครื่องจักรกล พร้อมทั้งได้มีการลดพื้นที่การปลูกลงเหลือ 100 ไร่ และหันมาตัดอ้อยสดแทน เนื่องจากการที่ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ต่อพ่วงของคูโบต้า รวมถึงการได้เข้าไปศึกษาดูวิธีการจัดการแปลงอ้อย ปลูกอย่างไรให้คุ้มค่าและปลอดภัยที่คูโบต้าฟาร์ม จึงได้เริ่มมีการนำความรู้ที่ได้รับมาปรับประยุกต์ใช้ในแปลงของตัวเอง มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยในการปลูกอ้อยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการดายหญ้า ใส่ปุ๋ย ก็ใช้เครื่องจักรทั้งหมด ซึ่งหลังจากการที่ได้ทำแปลงทดลองปลูกอ้อยด้วยเครื่องจักรกลทั้งหมด ผลตอบรับก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ จากเมื่อก่อนปลูกอ้อยแบบวิธีเดิมๆ ตัดอ้อยไฟไหม้ได้ผลผลิตอ้อยไร่ละไม่เกิน 10 ตัน แต่พอเปลี่ยนวิธีการปลูกแบบใหม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย กลายเป็นว่าผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นมาเป็น ไร่ละ 18 ตัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ทั้งรายได้ที่มากขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สุดท้ายนี้ จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรให้หันมาศึกษาเกี่ยวกับเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการลดต้นทุน ด้านแรงงาน ลดต้นทุนด้านการจัดการแปลง สิ่งเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน