ปั้นขยะอาหารให้เป็นดิน แบบ My City Composting

ผมโตมาในบ้านต่างจังหวัด ที่รอบๆ บ้านแทบมีแต่พื้นดินธรรมชาติ เกือบไม่มีพื้นปูนพื้นอิฐเลย การผุพังทับถมของต้นไม้ใบหญ้า ตลอดจนขยะที่ย่อยสลายได้ในหลุมดิน หรือบริเวณที่ขุดเว้นไว้จึงเป็นกระบวนการปกติ กิ่งไม้ใบไม้แห้งบางครั้งก็เผาเอา ไม่ต้องพูดถึงเศษอาหารสดเล็กๆ น้อยๆ ที่เทไว้ในดงพงหญ้ารกๆ ก็เปื่อยเน่ากลายเป็นดินไปเอง

ขยะที่บ้านเราทิ้งลงถังหน้าบ้านในสมัยก่อนจึงเป็นขยะแห้งเกือบทั้งหมดบ้านใครที่ทำอาหาร ย่อมมีขยะสดแบบต่างๆ หากเอาตามประสบการณ์ของผม คือมันจะเริ่มมีปัญหาก็ตอนที่ตัวบ้าน สภาพรอบๆ บ้าน และชุมชนที่บ้านตั้งอยู่นั้นมันไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

เช่น เมื่อบ้านเราทุกวันนี้ต้องอยู่ในเมือง เป็นอาคารปูน ที่รอบๆ บ้านมีแต่ลานปูน แทบหาพื้นดินไม่ได้ และช่องทางเดียวที่จะ “ทิ้ง” ก็คือลงถังขยะหน้าประตูรั้วบ้าน มีรถขยะมาตระเวนเก็บเป็นรายครั้งไป ตามแต่จะมีการกำหนดกันในชุมชน

ความที่เคยชินกับการทิ้งลงดิน การย่อยสลายตามธรรมชาติ แม้บ้านทาวน์เฮ้าส์ชานเมืองจะมีช่องดินอยู่ แค่หยิบมือเดียว ผมก็มักดื้อทิ้งเศษผักหญ้าจากการทำกับข้าวลงดินเสมอ แต่โชคดีที่คนที่บ้านทดลองใช้วิธีเลี้ยงไส้เดือนบำรุงดิน โดยหาไส้เดือนพันธุ์ที่สามารถย่อยสลายขยะสดได้เร็วมาปล่อยไว้ในดิน ทีนี้ก็ทำให้การทิ้งขยะสดของผมง่ายขึ้นแบบเหลือเชื่อ

คือเราก็ขุดหลุมตื้นๆ ฝังขยะสด กลบให้มิด พอมีขยะใหม่ก็ขุดฝังไล่เรียงไปเรื่อยๆ ครับ ไอ้เจ้าไส้เดือนจะช่วยกันกับจุลินทรีย์ทยอยไล่กินขยะของเรา แล้วก็ย่อยสลายเป็นดินดำๆ ดีๆ อย่างรวดเร็วมาก เพียงชั่วไม่นาน ก็กลับไปฝังที่จุดแรกได้แล้วเรียกว่าฝังขยะหมุนเวียนเห็นจะได้ด้วยวิธีนี้ บ้านผมจะไม่มีขยะเปียกทิ้งในถังหน้าบ้านเลย

แล้วพอเคร่งครัดเรื่องการพกถุงผ้าไปซื้อของมากหน่อย ขยะถุงก๊อบแก๊บก็น้อยลงมากๆ จำได้ว่า เช้ามืดวันหนึ่ง รถขยะมาเก็บตามเวลา ตอนพนักงานมาเปิดถัง เขาตะโกนบอกกันว่า “บ้านนี้ไม่มีขยะเลยว่ะ” มันก็ทำให้เรารู้สึกดีนะครับ

แต่ปัญหามันก็มีอยู่เหมือนกันครับ การย่อยสลายทั้งโดยไส้เดือน กิ้งกือ และจุลินทรีย์นี้ ทำให้เกิดอุณหภูมิความ “ร้อน” ขึ้นในดินธรรมชาติมาก จนไม่สามารถปลูกต้นไม้บริเวณที่ถมดินนั้นได้
…………….
อย่างไรก็ดี ผมไปเห็นเทคโนโลยีการกำจัดขยะของ คุณชูเกียรติ โกแมน ผู้ริเริ่มโครงการ My City Composting ในงาน เทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 6 ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่สวนชีววิถี นนทบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แล้วก็คิดว่า วิธีนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาขยะสดบ้านทาวน์เฮ้าส์ชานเมืองของผมได้ แต่คงแก้วิกฤตขยะเมืองใหญ่ในระยะยาวได้แน่ๆ

ระบบนี้อาศัยกลไกการย่อยสลายตามธรรมชาติ มีอุปกรณ์เพียงกล่องพลาสติกใบใหญ่ที่มีการเจาะช่องใส่ท่อพีวีซีระบายอากาศอย่างง่ายๆ ไว้ ที่เราต้องทำ คือทิ้งขยะสด จำพวกเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ ลงไปคลุกเคล้ากับดิน compost starter ที่เป็นส่วนผสมของปุ๋ยคอก ดิน จุลินทรีย์ ใบไม้แห้ง

ซึ่งคุณชูเกียรติ คิดไว้เสร็จสรรพ ในปริมาณเท่าๆ กัน แล้วปิดฝาไว้ เมื่อจะทิ้งขยะครั้งต่อๆ ไป ก็ทำเช่นเดียวกัน คือคลุกขยะให้เข้ากับดิน compost starter นี้ จนเมื่อขยะเต็มถัง ก็ปิดฝากล่อง ทิ้งไว้ ราว 15-30 วัน ขยะเหล่านี้จะกลายเป็นดินดำที่อุดมด้วยธาตุอาหารพืช ตักเอาไปปลูกต้นไม้ได้เลย

เป็นระบบที่ง่ายมาก ทั้งตอบสนองชีวิตปัจเจกของคนเมือง ในตึกรามบ้านช่องของเมืองคอนกรีตสมัยใหม่ ซึ่งยากจะหาที่ดินกลบฝังขยะจำนวนมากมายได้เพียงพอ

คุณชูเกียรติ ยังคิดออกแบบระบบบริการเก็บขยะสดจากบ้าน หรือจากสำนักงาน ผู้สมัครเป็นสมาชิกโครงการจะได้รับถังขยะเปล่าไว้ทยอยใส่ขยะสด ปิดฝา ตั้งไว้หน้าบ้าน เมื่อครบกำหนดหนึ่งสัปดาห์ เจ้าหน้าที่จะมารับถังขยะไปจัดการตามขั้นให้ โดยสับเปลี่ยนถังใหม่ไว้ จากนั้นอีก 1 เดือน เจ้าของขยะจะได้รับดินดำที่อุดมด้วยธาตุอาหารพืช ซึ่งผลิตจากขยะของตนเอง สามารถนำไปปลูกพืชผักได้ตามต้องการ  หากใครสนใจทราบรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ เพจ My City Composting เลยครับ


…………….
ข้อมูลเรื่องขยะยังนำไปสู่คำถามสำคัญข้อแรกๆ ว่า เราพร้อมจะแบ่งเบาภาระของเมืองหรือไม่ นั่นก็คือ ลำพังขยะในกรุงเทพมหานคร ก็มีมากถึง 10,500 ตัน ต่อวัน เป็นขยะเปียก-ขยะอาหารเสียกว่า 6,500 ตัน เท่ากับว่า กว่าร้อยละ 64 ล้วนเป็นขยะจากกระบวนการเตรียมอาหาร ผลิตอาหาร จากอาหารตัดทิ้งในระบบการกินแบบบุฟเฟต์ในร้านและภัตตาคาร ตลอดจนอาหารที่กินเหลือในจาน

ขยะทั้งหมดจะถูกแบ่งกำจัดแยกย่อยไปที่โรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ที่อ่อนนุช เตาเผาขยะผลิตไฟฟ้าที่หนองแขม และกระบวนการจ้างฝังกลบที่อำเภอพนมสารคาม ฉะเชิงเทรา และอำเภอกำแพงแสน นครปฐม

เท่าที่ผมทราบมา โครงการแปรรูป ปั้นขยะอาหารให้เป็นดิน ของ คุณชูเกียรติ โกแมน นี้ มีมานานพอสมควรแล้ว ทว่ายังเป็นสัดส่วนที่ประสานกันในเครือข่ายชุมชนคนทำเกษตรกรรมทางเลือก ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) แต่ผมก็หวังในแง่ดีว่า ระบบที่คิดมาให้สามารถทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน ที่สำนักงานทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่เช่นนี้ น่าจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองสมัยใหม่ ที่จะมีจิตวิญญาณการพยายามแบ่งเบา ช่วยเหลือ รับผิดชอบต่อปัญหาสังคมส่วนรวมในทุกๆ เรื่องร่วมกัน

เริ่มทำให้การกำจัดขยะบ้าน กลายเป็นวิถีชีวิตง่ายๆ ประจำวันอันแสนสามัญธรรมดา แถมมีผลตอบแทนเป็นดินดำน้ำชุ่ม สำหรับบ้านสมัยใหม่ในเมืองใหญ่กันตั้งแต่วันนี้เถอะครับ