“มะพร้าวน้ำหอม” สินค้าดาวรุ่งโตฉลุย CP แตกไลน์ธุรกิจ “มะพร้าว” เจาะตลาดโลก

ปัจจุบัน มะพร้าวน้ำหอม นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่นิยมบริโภคสดและใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะมีจุดแข็งสำคัญคือ ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน เหมาะสมต่อการเพาะปลูกผลไม้ ทำให้ผลไม้มีรสชาติดี น้ำมะพร้าวที่ได้มีคุณภาพดีและมีกลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาด

กรมวิชาการเกษตร ได้รับแจ้งจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักการต่างประเทศ เรื่อง สถานการณ์สินค้ามะพร้าวในสหรัฐอเมริกา (เมษายน 2563) จากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (สปษ. ดี.ซี.) ว่า ปัจจุบัน ตลาดสินค้าน้ำมะพร้าวจากทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีขยายตัวเพิ่มเป็น 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567

สวนมะพร้าวน้ำหอม

ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวที่เพิ่มขึ้น อาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคของประชากรที่หันมาเน้นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และด้วยผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง ไขมันและแคลอรีต่ำ สามารถเป็นเครื่องดื่มในลักษณะของ Sport Drink ที่ทำให้เกิดความสดชื่นเมื่อดื่มหลังการออกกำลังกาย ทำให้ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว กลายเป็นสินค้าที่มีการเติบโตของตลาดอย่างสูง โดยประเทศฟิลิปปินส์ต้องการบริโภคน้ำมะพร้าวมากที่สุดในโลก (685,000 เมตริกตัน) ตามด้วยสหภาพยุโรป (635,000 เมตริกตัน) อินเดีย (465,000 เมตริกตัน) และสหรัฐอเมริกา (445,000 เมตริกตัน) ตามลำดับ

ตลาดน้ำมะพร้าวของสหรัฐอเมริกา นับเป็นตลาดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวรายใหญ่ของโลก จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หรือ UNITED STATES INTERNATIONALTRADE COMMISSION พบว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2562) การนำเข้าน้ำมะพร้าวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่าการนำเข้า 312.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 523.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 67 หรือเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 13 ต่อปี

เมื่อปี 2558-2560 สหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมะพร้าวจากประเทศบราซิล เป็นอันดับ 1 ชิลี อันดับ 2 อินโดนีเซีย เป็นอันดับ 3 และไทยเป็น อันดับ 4 โดยในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมะพร้าวจากไทยน้อยมาก ประมาณ 10-12 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี สถานการณ์การนำเข้าน้ำมะพร้าวในสหรัฐอเมริกา เริ่มเปลี่ยนแปลงในปี 2561-2562 โดยในปี 2561 มูลค่าการนำเข้าน้ำมะพร้าวได้ขยายตัวแตะระดับ 411 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก มูลค่าการนำเข้าน้ำมะพร้าวจากไทยเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า คิดเป็นมูลค่า 47.66 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2562 ตลาดการนำเข้าน้ำมะพร้าวรวมได้ขยายเพิ่มอีก เป็น 523.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยได้กลายเป็นตลาดนำเข้าน้ำมะพร้าว อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการนำเข้าจากไทย 131.80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 23 ของส่วนแบ่งตลาดน้ำมะพร้าว ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมะพร้าว อันดับ 1 สู่สหรัฐอเมริกา ปี 2562 มีมูลค่าการนำเข้า 131 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น ร้อยละ 23 ของส่วนแบ่งตลาด มีปริมาณส่งออก 111 ล้านลิตร มีอัตราเฉลี่ยเติบโตของปริมาณส่งออกสู่สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 131

ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกขยายตัวสูงสุดในช่วงปี 2561-2562 คู่แข่งการส่งออกน้ำมะพร้าวสู่สหรัฐอเมริกาของไทยที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากทั้งฟิลิปปินส์นั้นมีความสามารถในการผลิตมะพร้าวได้มาก ประกอบกับมีโรงงานน้ำมะพร้าวหลายบริษัทของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ในประเทศ การขยายตัวของปริมาณการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ของฟิลิปปินส์ถือว่ากำลังมาแรง โดยเฉพาะ ปี 2562 มีการขยายตัวการส่งออกถึง ร้อยละ 325 ขยายตัวมากกว่าประเทศไทยกว่า ร้อยละ 150

ส่วนในแง่ราคาน้ำมะพร้าวของไทยถือว่ามีราคาเฉลี่ยสูงที่สุดในตลาด แต่ในปี 2561-2562 ราคาน้ำมะพร้าวไทยลดลงเล็กน้อย คาดว่าเกิดจากปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่ราคาน้ำมะพร้าวจากประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2562 ได้ขยับตัวสูงขึ้นกว่าไทยเล็กน้อย ทำให้ไทยได้เปรียบเรื่องราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่า สรุปภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของน้ำมะพร้าวไทยจึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบัน โดยมีสินค้าจาก บริษัท Zico ประเทศไทย ครองสัดส่วนตลาดมากที่สุด (ปริมาณ 21,000 ตัน) แต่ด้วยตลาดน้ำมะพร้าวของสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ จึงมีผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวมากกว่า 200 แบรนด์ จำหน่ายในตลาด

น้ำมะพร้าว ยี่ห้อ Zico จากไทย ติด 1 ใน 3 สินค้าขายดีในสหรัฐอเมริกา

โดยยี่ห้อที่ได้รับความนิยมหลัก 3 ยี่ห้อ ซึ่งมีจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น Costco, Safeway, Trader Joe คือ

1. น้ำมะพร้าว ยี่ห้อ Vita ที่มีแหล่งวัตถุดิบการผลิตจากประเทศอินโดนีเซียและบราซิล

2. น้ำมะพร้าว ยี่ห้อ Zico มีแหล่งวัตถุดิบการผลิตจากประเทศไทย เฉพาะผลิตภัณฑ์ 100% coconut water และ

3. น้ำมะพร้าว ยี่ห้อ O.N.E มีแหล่งวัตถุดิบการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์

สำหรับสินค้าทั้ง 3 ยี่ห้อนี้ ถือเป็นสินค้าสำหรับตลาดระดับกลาง ด้วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกา ในด้านราคาโดยสินค้ามะพร้าวมีราคาจำหน่ายระหว่าง 2-3 เหรียญสหรัฐ ต่อขวด มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา สินค้าได้รับความนิยมระดับดีมาก

นอกจากกลุ่มลูกค้าระดับกลางแล้ว น้ำมะพร้าวยังสามารถเจาะตลาดกลุ่มบน โดยมีการนำเสนอสินค้าน้ำมะพร้าว เกรดพรีเมี่ยมด้วยราคาสูงกว่าน้ำมะพร้าวทั่วไปถึง 3 เท่า และเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกา อาทิ น้ำมะพร้าว ยี่ห้อ Harmless Harvest (วัตถุดิบน้ำมะพร้าวจากประเทศไทย แต่ดำเนินธุรกิจโดยชาวอเมริกัน) ที่มีราคาจำหน่าย 4-5 เหรียญสหรัฐ ต่อขนาด 16 ออนซ์

ขณะที่บริษัทน้ำมะพร้าวของไทยที่มีการแข่งขันในตลาดดังกล่าวเช่นกัน คือ ผลิตภัณฑ์ 100% Pure NAM HOM coconut water ของ บริษัท All Coco ที่จำหน่ายในราคา 4-5 เหรียญสหรัฐ ต่อขนาด 16 ออนซ์ จำหน่ายในตลาดแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย

น้ำมะพร้าว 2 ยี่ห้อ ของไทยมีรสชาติใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด

เนื่องจาก ปี 2563 สหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่า ภายหลังการระบาดของ COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจมีการถดถอย อาจทำให้กำลังการซื้อสินค้าจะลดลง

ดังนั้น ความพร้อมในการปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดของผู้ประกอบการภายหลังวิกฤต จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งแผนการลดต้นทุน แผนการกระตุ้นการขาย และแผนการผลิตสินค้าหากเกิดปัจจัยการขาดแรงงานภาคการเกษตร

นอกจากนี้ ภายหลังจากเกิดการระบาดอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ด้วยเชื่อว่าค่าเงินเหรียญสหรัฐ จะอ่อนค่าลง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวมากที่สุดในโลก จึงอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่อาจจะได้กำไรจากการจำหน่ายสินค้าที่ลดลง เนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น

CP แตกไลน์ธุรกิจ “มะพร้าว”

เพื่อตอบรับกระแสความนิยมรักสุขภาพทั่วโลกที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ช่วงเทศกาลกินเจ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท ซี.พี. ฟู้ดสโตร์ จำกัด ในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (CPI) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม ที่ผลิตจากน้ำมะพร้าวแท้ 100% ภายใต้แบรนด์ “R U COCO?” (อาร์ยูโคโค)

ดร. วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมะพร้าว บริษัท ซี.พี. ฟู้ดสโตร์ จำกัด มั่นใจว่า น้ำมะพร้าว “R U COCO?” เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี เพราะเป็น“Sports Drink of Nature” น้ำมะพร้าวแท้อาร์ยูโคโค มีเกลือแร่ธรรมชาติ ทำให้ทุกคนสดชื่น ที่สำคัญมีแคลอรีแค่ 50 kcal ถือว่าต่ำที่สุดในท้องตลาด หวานน้อย ไม่เติมน้ำตาล ไม่เติมสารให้ความหวาน ไม่แต่งกลิ่น ไม่แต่งสี ไม่ใส่สารกันบูด ถูกใจผู้บริโภคสาย Healthy สุดๆ

ซี.พี. ฟู้ดสโตร์ มุ่งมั่นสร้าง the “coco” culture ที่ appreciate the good vibes หรือ วิถีแห่งความยั่งยืน ส่งมอบสิ่งดีๆ และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อโลก น้ำมะพร้าว “R U COCO?” มีขนาดบรรจุ 330 มิลลิลิตร ต่อกล่อง อายุสินค้า 1 ปี เก็บได้ในอุณหภูมิปกติ โดยไม่ต้องแช่เย็น ดื่มน้ำมะพร้าว “R U COCO?” ก่อนและหลังออกกำลังกาย เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน หรือผสมในเครื่องดื่มสุดโปรด ทั้งกาแฟ ชา และโปรตีนเชค ก็อร่อย สดชื่นตลอดเวลา

น้ำมะพร้าว “R U COCO?” เป็นเครื่องดื่มรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ต่ำ สามารถปลูกทดทดแทน (Renewable) และรีไซเคิล (Recycle) ได้ ซึ่งบริษัทมุ่งมั่นสร้าง The “COCO” Culture ที่ Appreciate the good vibes หรือวิถีแห่งความยั่งยืน โดยการส่งมอบสิ่งดีๆ และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อโลก

น้ำมะพร้าว “R U COCO?” ผลิตจากการผสมน้ำมะพร้าวแท้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวเบญจพรรณ ที่มีน้ำตาลธรรมชาติเพียง 9 กรัม ไม่เติมน้ำตาล ตัวน้ำมะพร้าวอุดมไปด้วยเกลือแร่จากธรรมชาติถึง 5 ชนิด ได้แก่ โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์โซเดียม ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย เพราะช่วยปรับสมดุลร่างกายให้สดชื่นในทุกๆ จังหวะของชีวิต

จังหวัดราชบุรี ปลูกมะพร้าวน้ำหอมในระบบร่องสวน

ดร. วรรณวิรัช กล่าวว่า น้ำมะพร้าว “R U COCO?” ผลิตจากมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพดีที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ส่วนมะพร้าวเบญจพรรณมาจากพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรปลูกดูแลมะพร้าวด้วยความตั้งใจ มีระบบมาตรฐาน GAP ตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ เก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยไม่ใช้ลิง รับซื้อผลผลิตในราคาตลาด และใช้โรงงานผลิตเครื่องดื่ม ของเครือข่ายพันธมิตรในจังหวัดนครปฐมเป็นฐานการผลิตน้ำมะพร้าว “R U COCO?”

การเปิดตลาดในปีแรก ซี.พี. ฟู้ดสโตร์ ตั้งเป้าหมายว่า ผลิตภัณฑ์ “R U COCO?” จะคว้าส่วนแบ่งเครื่องดื่มน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มในเมืองไทยได้ไม่ต่ำกว่า 30% จากมูลค่าตลาดรวม 200 ล้านบาท และเจาะตลาดส่งออก ได้แก่ ประเทศจีน ฮ่องกง ยุโรป 500 ล้านบาท โดยใช้งบการตลาดกว่าร้อยล้านบาทพัฒนาแบรนด์ “R U COCO?” (อาร์ยูโคโค) ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น งานวิ่ง งานคอนเสิร์ต มูลนิธิการกีฬา การศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ

ซี.พี. ฟู้ดสโตร์ อยากให้ทุกคนมาร่วมสร้างและส่งมอบความรู้สึกและสิ่งดีๆ ให้กันและกัน ใน the “coco” culture โดยจัดโปรโมชั่นต่างๆ ทุกช่องทาง เพื่อสร้างประสบการณ์สัมผัสสิ่งที่ดีจริงของ น้ำมะพร้าว R U COCO? ที่เป็นมากกว่าแค่น้ำมะพร้าว ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมได้ Facebook: R U COCO? Thailand, IG: rucoco.th หรือ Website: www.r-u-coco.com