รวมพลคนปลูกป่า ปีที่ 4

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน อย่าแปลกใจที่วันนี้ผมเก็บเรื่องราวรายละเอียดงานกิจกรรมคนปลูกป่ามาตั้งวงเล่าให้ฟัง ใน 3 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนในนามธนาคารต้นไม้ โดยมีการนัดพบพี่น้องสมาชิกจากทั่วประเทศมาพบกัน มีกิจกรรมย่อยในแต่ละครั้ง โดยใช้พื้นที่ของธนาคารต้นไม้สาขาป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เป็นที่นัดหมาย

ความคืบหน้าของพี่น้องสมาชิกแต่ละท่านในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หลายท่านลงมือปลูกแซมสวนยาง ปลูกป่าทั้งแปลง หรือปลูกผสมผสานในสวนไม้ผลที่มีอยู่ ขนาดและจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ผ่านการบอกกล่าวในการร่วมเสวนาและการโยงใยในระบบเครือข่ายที่มีต่อกัน ไม้ป่าหลากหลายชนิดตามที่เจ้าของสวนชอบใจ อาทิ ยางนา ตะเคียนทอง จำปาทอง กันเกรา พะยูง เคี่ยม ประดู่ ชิงชัน แดง สาวดำ กระถินเทพา มะฮอกกานี ฯลฯ เมื่อได้ลงดินก็เจริญเติบโตตามเวลาและการดูแล ส่งผลต่อจิตใจของผู้ปลูกเป็นยิ่งนัก

สิ่งหนึ่งที่อดยินดีมากขึ้นไปอีกไม่ได้นั่นคือ ผลพลอยได้ที่ได้จากการปลูกป่า เห็ดป่าหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดโคน เห็ดไค เห็ดเผาะ เห็ดผึ้ง เห็ดระโงก เห็ดถ่าน เห็ดน้ำหมาก ฯลฯ เริ่มเกิดในป่าปลูกเหล่านั้น สร้างแหล่งอาหารและรายได้ให้กับผู้ปลูกป่าไม่น้อย เห็ดแต่ละชนิดราคาไม่เบาเลยนะครับ อย่างเห็ดระโงก กิโลละไม่น้อยกว่า 3-400 บาทกันเลยเชียว นี่ยังไม่นับพืชผักสมุนไพรที่เกิดร่วมในป่าปลูกเหล่านั้นอีกนะ เรียกว่าเมื่อเราเริ่มปลูกป่าไปได้สักระยะหนึ่ง ป่าก็จะเริ่มให้ผลผลิตกับเราอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องไปตลอด

งานรวมพลคนปลูกป่า ปีที่ 4 ในธีมงาน ค่ายครอบครัวเรียนรู้เกษตรปลอดภัยและธรรมชาติ จัดขึ้นในวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันอังคาร-พุธ เบื้องต้นทีมงานคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานน้อย เพราะเป็นวันทำงานอยู่ แต่ปรากฏว่าผิดคาด จำนวนเสื้อยืดที่ทำเพื่อแจก 150 ตัว ไม่พอสำหรับสมาชิกที่มาลงทะเบียนเข้างาน นั่นหมายถึงงานนี้มีคนมาร่วมงานมากกว่า 150 คน เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้มากมายจริงๆ

สถานที่สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ทางผู้จัด คุณโต้ง-กฤตย พวงสุวรรณ เจ้าของตลาดนัดต้นไม้ชายคลอง และผู้จัดการธนาคารต้นไม้ สาขาป่าพะยอม รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเช่นเดิม แต่ครั้งนี้มีผู้ร่วมก่อการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยทักษิณ และกลุ่มบุคคลต่างๆ

กิจกรรมวันแรก เริ่มจากพาสมาชิกเข้าไปชมการปลูกไม้ป่าผสมผสานในสวนยางและสวนสะละ ซึ่งทุกคนจะได้เห็นการพึ่งพาอาศัยกันของไม้แต่ละชนิด เห็นการเจริญเติบโตอย่างมีนัยยะที่เป็นความจริง ทุกคนได้โอบกอดต้นไม้ในสวนผสมนั้น เช่น การได้กอดต้นจำปาทอง อายุเพียง 10 ปี ก็มีขนาดกอดได้เกือบเต็มแขนแล้ว สำคัญกว่านั้น ไม้หลัก ไม่ว่าจะเป็นยาง หรือสะละ ก็ยังให้ผลผลิตที่ดีไม่ต่างจากเดิม จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นจริงว่า ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวเสมอไป การผสมผสานในส่วนที่เหมาะสมก็ทำให้ได้ผลผลิตที่หลากหลายได้เช่นกัน เด็กๆ ก็สนุกสนานในการได้ชมและได้ชิมสะละเด็ดสดๆ จากสวน เป็นการเรียนรู้ที่ได้ทั้งอาหารสมองและพุงดีเป็นอย่างยิ่ง

ในภาคบ่ายยังแยกแยะไปอีกหลายฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานไม้แปลก ฐานปลูกกล้วย เพื่อส่งขายโมเดิร์นเทรด ฐานบอนสี-ไม้สวยงาม ฐานไม้ไผ่-ไม้ด่าง ที่มีราคาสูง ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านก็ถือเป็นมือหนึ่งที่ทำจริง มีผลผลิตที่จำหน่ายได้จริงให้ได้เรียนรู้ ทุกคำถามมีคำตอบที่เป็นจริง ทำให้การเรียนรู้ในแต่ละฐานสร้างทั้งความสนุกสนาน ความรู้ และขณะเดียวกันสมาชิกที่มากันต่างที่หลากหลายนั้นก็ได้หลอมรวมจากแปลกหน้ามาได้รู้จักกัน การละลายพฤติกรรมด้วยความชอบเช่นเดียวกัน สร้างบรรยากาศความเป็นกันเองอย่างมาก

ในภาคค่ำ หลังจากรับประทานอาหารกันอย่างอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็มีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นขอเอ่ยขอบคุณแม่ครัวทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ อาหารแต่ละอย่างผ่านการปรุงอย่างประณีตบรรจง เน้นรสชาติอาหารใต้ในอรรถรสแห่งเมืองพัทลุงได้อย่างโดดเด่น บอกไว้เลยว่า เราตักกันมากกว่า 1 รอบ กิจกรรมในยามค่ำคืนเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานนี้ในหัวข้อ อยากเป็นโจนต้องคุยกับโจน จันได ซึ่งผมก็เชื่อว่าคงทำให้ทุกท่านไม่ผิดหวัง การเสวนาในระยะเวลา 2 ชั่วโมงเศษๆ ผ่านการถาม-ตอบ และบอกเล่า มีคำตอบให้กับทุกคนที่ตั้งใจอยากจะทำให้ได้ดังที่ฝันไว้ และส่วนหนึ่งของผู้ที่กำลังลงมือและบางท่านอาจประสบผลสำเร็จคือพี่น้องชาวคนกล้าคืนถิ่น งานนี้มารวมตัวกันอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ไม่น่าเชื่อว่าเราที่มาจากทั่วประเทศจะมีบรรยากาศการร่วมมือร่วมใจกันได้เช่นนี้

ก่อนจะเคร่งเครียดเกินไป ทางผู้จัดก็มีดนตรีมาเล่นสดๆ ให้ได้เสพกันอย่างเต็มที่ ขอเพลงกันได้ทุกแนว ต้องขอบันทึกเพื่อขอบคุณนักดนตรีสายเกษตร และคนกล้าคืนถิ่นไว้ด้วยครับ สมชื่อเทพจริงๆ

รุ่งขึ้น หลังจากชิมโจ๊กอุ่นๆ ในสายฝนเบาๆ แล้ว กิจกรรมตามฐานก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ลุงชาญ มาบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ, ป้าแมว มาแนะนำการกวนลูกหยี ที่มีกระบวนการตั้งแต่กะเทาะเปลือก แกะเมล็ด จนถึงการเคี่ยวน้ำเชื่อมเพื่อกวน และปิดท้ายด้วยการห่อแบบทอฟฟี่, ฐานขี่ม้าก้านกล้วย ที่พาเด็กๆ ใช้ก้านกล้วยมาทำเป็นของเล่น งานนี้มองเห็นแววความสุขฉายออกจากตาของผู้สูงวัยหลายๆ ท่าน อาจเป็นการระลึกถึงวันเวลาที่ผ่านมาก็ได้ จุดนี้เด็กๆ ได้วิ่งได้กระโดดออกกำลังกายกันอย่างสนุกสนาน และปิดท้ายด้วยการพาเด็กๆ ทำกระเป๋าผ้า และสร้างลายสร้างสีด้วยผลิตผลจากธรรมชาติ ทั้งจากใบไม้ ดอกไม้ นำมาตอกๆ อัดๆ จนได้กระเป๋าผ้าใบเดียวในโลกของแต่ละคน ตรงนี้ก็เป็นการรวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน

ผมเดินดูแต่ละฐานด้วยความสุข สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดและอยากเห็นอยู่บ่อยๆ คือเหล่าเด็กๆ ปล่อยมือให้หลุดจากเจ้าจอสี่เหลี่ยมที่เรียกกันว่า สมาร์ทโฟน ทุกครั้งเราจะเห็นคนหลากวัยมือติดหนึบอยู่กับจอสี่เหลี่ยมนี้ แต่จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีเรื่องราว มีสิ่งของ หรือกิจกรรมที่ดึงดูดได้มากกว่า ซึ่งนับว่าเป็นผลพลอยได้จากการจัดงานครั้งนี้อย่างสวยงามและกล้าหวังผลในครั้งต่อๆ ไป ต้องขอบคุณคุณโต้งและทีมงานทุกท่านครับ ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมที่งดงามเช่นนี้ สัญญาว่าจะไปร่วมด้วยทุกปีให้ได้

หากท่านใดสนใจ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่จะนำมาเล่าได้ไม่รู้เบื่อครับ ใครอยากไปสัมผัสตลาดนัดที่มีพ่อค้าแม่ขายในชุมชนคนบ้านๆ นำสินค้าบ้านๆ มาขายกันก็ขอแนะนำครับ ตลาดต้นไม้ชายคลอง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่สำคัญ มีของเล่นที่เป็นชิ้นเดียวในโลกให้ได้ลองเล่นกันด้วยครับ ไปไม่ถูกก็โทร.หาเจ้าของตลาดได้เลย คุณโต้ง (092) 350-8465 รับรองว่าท่านจะหลงรักตลาดเล็กๆ ที่งดงามแห่งนี้ครับ