เผยแพร่ |
---|
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร มีข้อแนะนำ 5 ประการในการบำรุงดูแลสวนมะพร้าวที่ออกผลแล้วให้ติดผลดกสม่ำเสมอ โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. การไถพรวน
เกษตรกรควรไถพรวนระหว่างแถวมะพร้าวไม่ให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร ไถแถวเว้นแถวให้ห่างจากต้นข้างละ 2 เมตร ไถสลับกันทุก 2 ปี ตอนปลายฤดูแล้งรากที่อยู่ผิวดินจะแห้งไม่ดูดอาหาร เมื่อถูกตัดก็จะแตกใหม่เมื่อฝนตก
2. การขุดคูระบายน้ำและการรดน้ำในฤดูแล้ง
หากมีฝนตกมากและหากปลูกมะพร้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงแปลงปลูก เกษตรกรควรขุดคูระบายน้ำออก อย่าให้มีน้ำขังในแปลง ถ้าฝนแล้งนานก็จะกระทบต่อการผลิดอกออกผล ดังนั้น เมื่อถึงฤดูแล้ง หากพื้นที่ใดพอจะหาน้ำรดให้ต้นมะพร้าวได้ก็จะช่วยให้ต้นมะพร้าวงามดี ออกผลดกไม่เหี่ยวเฉา น้ำที่รดต้นควรใช้น้ำจืด แต่น้ำทะเลก็สามารถใช้รดต้นมะพร้าวได้
3. การควบคุมวัชพืชในสวนมะพร้าว
หากใครปลูกมะพร้าวในพื้นที่แล้งนาน ควรคอยถางหญ้าให้เตียน หรือใช้จอบขุดหมุนตีดินบนหน้าดิน อย่าให้ลึกกว่า 10 เซนติเมตร หรือใช้จานพรวนระหว่างแถวมะพร้าวส่วนบริเวณที่ฝนตกต้องเก็บหญ้าหรือพืชคลุมไว้แต่ไม่ให้ขึ้นรกมาก ควรตัดหญ้าหรือใช้จานพรวนลาก แต่ไม่กดให้ลึกมากเพื่อให้พืชคลุมดินหรือหญ้านั้นราบลงไปบ้างหรือการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ในมะพร้าวต้นเล็กให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ไม่ทำลายใบมะพร้าว แต่จะช่วยให้มะพร้าวเจริญเติบโตดี ส่วนแปลงปลูกมะพร้าวที่ตกผลแล้วไม่แนะนำให้ใช้สารกำจัดวัชพืช
4. พืชคลุมดิน
การปลูกพืชคลุมในสวนมะพร้าว สามารถช่วยควบคุมวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน นอกจากนั้น พืชคลุมยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารและช่วยปรับปรุงดินในสวนมะพร้าว โดยเฉพาะพืชคลุมที่เป็นพืชตระกูลถั่ว จะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจน พืชคลุมที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ เพอราเรีย เซ็นโตรซีมา และคาโลโปโกเนียม
5. ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสด
ปุ๋ยอินทรีย์มีอยู่หลายชนิด ทั้งปุ๋ยคอกประเภท ปุ๋ยมูลวัว มูลไก่ มูลหมู มูลแพะ เป็นต้น รวมทั้งปุ๋ยหมักประเภทต่างๆ และปุ๋ยพืชสด เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วระหว่างแถวมะพร้าว เช่น โสน คาโลโปโกเนียม เมื่อต้นมะพร้าวเริ่มออกดอก ตัดเอาไปใส่ในร่อง ในกรณีที่ขุดดินเป็นร่องรอบโคนต้นหรือคลุมต้นมะพร้าว ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดช่วยทำให้ดินร่วนซุย เหมาะสาหรับการไชชอนของราก
นอกจากนั้น ธาตุอาหารที่มีอยู่ในอินทรียวัตถุยังช่วยทำให้แบคทีเรียในดินทำงานได้ดี ซึ่งแบคทีเรียจะช่วยเปลี่ยนธาตุอาหารที่พืชดูดไปใช้ไม่ได้ ให้มาอยู่ในรูปธาตุที่พืชดูดไปเป็นอาหารได้ การเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินจึงเป็นประโยชน์ต่อต้นมะพร้าวมาก การเพิ่มอินทรียวัตถุทำได้ดังนี้ ใส่ปุ๋ยคอก ขี้ควาย ขี้ไก่ ปุ๋ยหมัก ฝังกาบมะพร้าวหรือจะปลูกพืชคลุมแล้วไถกลบ หรือเลี้ยงสัตว์ในสวนมะพร้าวก็ได้ วัสดุเหล่านี้นำมาใช้เป็นปุ๋ยได้โดยคำนวณปริมาณธาตุอาหารให้เท่ากับที่แนะนำไว้คือ ให้มีปริมาณไนโตรเจน 520 กรัม ฟอสฟอริกแอซิด 520 กรัม โพแทสเซียม 840 กรัม
การใส่ปุ๋ยคอก
แนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม หลุมละประมาณ 40 กิโลกรัม ถ้าใส่ต้นมะพร้าวใหญ่มีวิธีใส่ให้ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 หว่านลงไปบนดินแล้วพรวนกลบหรือใช้จอบหมุนพรวนให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร โดยให้ใส่ต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม
วิธีที่ 2 ใส่ในรางซึ่งขุดระหว่างต้นมะพร้าวหรือรอบต้นมะพร้าว แล้วใส่ปุ๋ยลงไปกลบ ปุ๋ยที่ใส่ควรใช้ปุ๋ยพืชสด การใส่ปุ๋ยควรใส่ตอนต้นฤดูฝน โดยทั่วไป การใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยขยะ ควรใส่ในรางหรือขุดรอบต้น ห่างต้นละประมาณ 2 เมตร แล้วใส่ปุ๋ยลงไปแล้วกลบ การขุดรางบริเวณรอบต้นอย่าขุดให้ลึกจนตัดรากมากนัก อาจขุดเป็นหลุมแล้วใส่ก็ได้
การใช้กาบมะพร้าวเป็นปุ๋ย
เกษตรกรควรนำกาบมะพร้าวใส่หลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร แล้วกลบ การฝังกาบมะพร้าวช่วยทำให้มะพร้าวออกผลดกขึ้น และช่วยสงวนความชื้นไว้ในดินในฤดูแล้ง กาบมะพร้าวนอกจากจะใช้ฝังดินแล้วยังนำมาเผาเป็นเถ้าถ่านซึ่งมีธาตุโพแทสเซียมถึงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
การใส่ปุ๋ยเคมี
ก่อนใส่ปุ๋ยให้กับต้นมะพร้าว เกษตรกรควรทราบว่าในปัจจุบันบริเวณที่ปลูกมะพร้าวขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง วิธีการตรวจสอบที่สะดวกและได้ผลดีคือ เก็บเอาใบมะพร้าวไปตรวจวิเคราะห์ โดยใช้ใบมะพร้าวใบที่ 14 ผลการวิเคราะห์ใบเป็นเปอร์เซ็นต์ของธาตุต่างๆ คือ N, P, K, Ca, Mg นำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานซึ่งเรียกว่า ระดับวิกฤต (Critical level) ซึ่งระดับมาตรฐานของธาตุอาหารในใบมะพร้าวใบที่ 14 ประกอบด้วย N 18, P 0.12, K 0.8-1.0, Ca 0.35, Mg 0.35, Na 0.30 ทั้งนี้ เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารเพียงพอ ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพิ่มผลผลิตมะพร้าวได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการธาตุอาหารของมะพร้าว ธาตุ N, P, K, Ca, Mg และ S พบมากในส่วนของใบและผล ซึ่งธาตุดังกล่าวจำเป็นสำหรับมะพร้าวในการสร้างใบและผล พบว่า มะพร้าว 1 ไร่ จะดูดธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย N 9 กิโลกรัม, P 4.4 กิโลกรัม, K 5.68 กิโลกรัม, Ca 7.68 กิโลกรัม และ Mg 3.56 กิโลกรัม