‘ประจวบ’ เร่งปราบหนอนหัวดำ มะพร้าวราคาพุ่ง-รง.แปรรูปอ่วม

ศัตรูมะพร้าวหนอนหัวดำระบาดหนัก กระทบพื้นที่ปลูกกว่า 6.5 หมื่นไร่ ในอำเภอทับสะแก-เมือง-กุยบุรี-สามร้อยยอด คาดเสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ดันราคาพุ่งสูงถึง 23-25 บาท/ผล ด้านบริษัทน้ำมันมะพร้าวอ่วม แบกต้นทุนสูงแต่ขึ้นราคาสินค้าไม่ได้

นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 5 แสนไร่ โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 457,285 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวกะทิ ขณะที่มะพร้าวน้ำหอมเกษตรกรเพิ่งเริ่มปลูกได้ไม่นานในอำเภอกุยบุรี ประมาณ 4,000-5,000 ไร่ มีเกษตรกรทั้งหมด 24,798 ราย โดยในปี 2559 มีพื้นที่การเก็บเกี่ยว 423,277 ไร่ ได้ผลผลิต 225,521,985 ผล ต่อปี หรือเฉลี่ย 533 ผล ต่อไร่ โดยปลูกมากที่อำเภอบางสะพาน 162,000 ไร่ อำเภอทับสะแก 140,000 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย 70,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กำลังประสบปัญหาศัตรูพืชมะพร้าวระบาดอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนาม และด้วงแรด ซึ่งหนอนหัวดำมะพร้าวมีการระบาดมากที่สุด ประมาณ 65,000 ไร่ โดยมีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกว่า 7,000 ราย นับว่าเป็นการระบาดรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมา มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะระบาดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผลผลิตลดลง โดยมีการระบาดมากที่อำเภอทับสะแก อำเภอเมือง อำเภอกุยบุรี และอำเภอสามร้อยยอด รวมถึงยังระบาดทั่วประเทศกว่า 28 จังหวัด ส่วนแมลงดำหนาม ปัจจุบันมีการระบาดแล้ว 40,000 ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน กว่า 6,000 ราย แต่ไม่ได้กระทบมากนัก

โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2559 ระบุว่าราคาจำหน่ายหน้าสวนอยู่ที่ 19.60 บาท ต่อผล คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,423 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตมะพร้าวจะป้อนให้กับโรงงานแปรรูปโรงงานกะทิ เป็นต้น แต่เมื่อประสบกับปัญหาหนอนหัวดำ ทำให้ปัจจุบันราคามะพร้าวผลใหญ่พุ่งสูงขึ้นถึง 23-25 บาท ต่อผล และหากปล่อยไว้ระยะเวลานานจะทำให้ต้นมะพร้าวตาย

ขณะที่การนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามาก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตามโควต้านำเข้าประมาณปีละพันกว่าล้านบาท โดยนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และมาเลเซีย แต่พบว่าคุณภาพยังสู้มะพร้าวยของอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ได้ เนื่องจากมะพร้าวของไทยมีปริมาณน้ำมันสูงกว่า ทั้งนี้คาดว่าหากไม่ดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกร จะส่งผลกระทบทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีก 28 จังหวัดทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 โดยใช้งบฯ กลาง ในการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เป็นเงิน 287.73 ล้านบาท โดยเบื้องต้นจะนำไปดำเนินการในเรื่องของการใช้สารเคมีเจาะและฉีดเข้าลำต้น รวมถึงใช้วิถีธรรมชาติ คือ การปล่อยแตนเบียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายต่อไปในวงกว้าง ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 2560 นี้ หนอนหัวดำจะลดลงไม่น้อยกว่า 70%

สำหรับมูลค่าความเสียหายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้จะมีการดำเนินโครงการปลูกทดแทนต้นเก่า และปลูกพืชอื่นเสริมในสวนมะพร้าวด้วย

ด้าน นายคมเจตน์ กาญจนการไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ เกรท โคโคนัท ออยล์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมะพร้าวและเครื่องสำอาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาหนอนหัวดำระบาด และผลกระทบจากภาวะภัยแล้งเป็นระยะเวลานานหลายปีส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวลดลง โดยบริษัทได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะมะพร้าวไม่เพียงพอต่อการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบมากกว่า 20%

นอกจากนี้ ปัจจุบันราคามะพร้าวยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉลี่ยรับซื้อกิโลกรัมละ 43-45 บาท จากปกติกิโลกรัมละ 20-25 บาท โดยจะรับซื้อผลผลิตภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด แต่บริษัทก็ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ