ลูกชิด ได้มาจาก ลูกต๋าว มีมากที่เมืองน่าน

ต๋าว เป็นพืชป่า ที่สมัยก่อนมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อย่าง จังหวัดเลย อุตรดิตถ์ และน่าน

ที่จังหวัดน่าน มีการใช้ประโยชน์จากต๋าวมานานแล้ว ต่อมาประชากรของพืชชนิดนี้ลดลง ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงริเริ่มปลูกขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าที่จะได้ผลผลิต แต่ที่เห็นมีผลิตผลบริโภคกันอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนหนึ่งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ทางจังหวัดแพร่ น่าน เรียกไม้วงศ์ปาล์มที่นำผลผลิตมากินเป็นอาหารว่า ต๋าว

แต่ทางจังหวัดเลย เรียกว่า ตาว มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า “แก่วตาว” ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

ต๋าว มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย และไทย บริเวณที่ไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่เป็นป่าเขาที่สมบูรณ์และชุ่มชื้น พืชที่ใกล้เคียงกับต๋าวคือ ชก ขึ้นอยู่ทางใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเทือกเขาชื่อว่า “เขาชก”

ข้อแตกต่างระหว่าง ต๋าว กับ ชก คือ ใบต๋าวมีใบย่อยเรียงกันเป็นระเบียบในระนาบเดียวกัน แต่ใบชกมีใบย่อยเรียงตัวหลายระดับ

ทะลายต๋าว

การใช้ประโยชน์จากต๋าวและชกนั้น สมัยก่อนประชากรของพวกเขามีมาก ชาวบ้านมักนำยอดอ่อนมาแกง จะได้อาหารที่มีรสชาติคล้ายแกงยอดมะพร้าว แต่ทุกวันนี้ ต้นของต๋าวและชกมีน้อย จึงใช้เฉพาะผลอ่อนมาแปรรูป โดยการเชื่อมกินเป็นของหวาน คุ้นเคยกันดีในถ้วยขนมหวานและไอศกรีม

ต๋าว และ ชก เมื่อผ่านการแปรรูปแล้ว ก็จะกลายเป็น ลูกชิด

ใครรู้บ้างว่า…กว่าที่ต๋าวจะมีผลผลิต ต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ต๋าว เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ต้นสูง 6-15 เมตร ไม่มีกิ่งแขนง โคนต้นไม่มีหน่อ ใบเป็นแฉกคล้ายใบมะพร้าว มีใบรูปขนนก โคนของเส้นใบมีกาบใบห่อหุ้มเรียกว่า รก

ออกดอกเป็นช่อ เริ่มออกดอกและติดผลทะลายแรกจากกาบใบบนสุด แล้วทยอยลงมาข้างล่าง

ผลเป็นทะลาย มีหลายแขนง ไม่มีก้านผล

ตั้งแต่ปลูกจนออกดอก ใช้เวลา 8-15 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่จัด ใช้เวลา 36 เดือน หรือ 3 ปี

ต๋าว ต้นหนึ่งให้ผลผลิตได้ 7-10 ทะลาย ทะลายหนึ่งมีประมาณ 3,000 ผล

ผลกว้าง 3.0-4.5 เซนติเมตร ส่วนใหญ่ใน 1 ผล มี 3 เมล็ด เมื่อผลแก่เปลือกของเมล็ดจะกลายเป็นกะลาแข็งสีดำ

ต้นกล้าต๋าว

เนื่องจากจำนวนของต้นต๋าวในธรรมชาติมีน้อยลง แต่มีการใช้ประโยชน์จากต๋าวกันมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีการเพาะเมล็ด แล้วปลูกในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมทั้งที่จังหวัดพะเยา

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวต๋าวอยู่ในช่วงปลายฝนเดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนมีนาคมของอีกปี

สมัยก่อน การสัญจรไปมาลำบาก วิธีการนำผลผลิตต๋าวออกจากป่า เป็นเรื่องยุ่งยาก

คนเก็บผลผลิตต๋าว จะรู้ก่อนว่า มีต๋าวขึ้นอยู่ป่าไหน เมื่อถึงเวลาก็รวบรวมสมัครพรรคพวก พร้อมอุปกรณ์และอาหารการกินมุ่งไปยังจุดหมาย

เมื่อพบแหล่งต๋าว ก็สร้างที่พักขึ้นอย่างง่ายๆ โดยใช้ผ้ายางกันฝน

จากนั้นจึงเริ่มเก็บต๋าวจากต้น ซึ่งเมื่อก่อนใช้วิธีโค่นต้น ซึ่งจะได้เป็นบางทะลายเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ คนเริ่มรู้คุณค่า จึงเก็บเฉพาะทะลายที่ได้ที่เท่านั้น

เมื่อได้ทะลายต๋าวขนาดใหญ่แล้ว ก็ปลิดผลจากขั้ว แล้วต้มในน้ำเดือด นานราว 1 ชั่วโมง นำผลที่ต้มตัดหัวหรือท้าย จากนั้นใช้ไม้บีบให้เนื้อในหลุดออกมา

วิธีการบีบเมล็ด

อุปกรณ์ที่ใช้ต้มคือ ปีบ หากต้มผลต๋าว 6 ปีบ จะบีบได้เนื้อ 1 ถัง หรือ 18-21 กิโลกรัม เนื้อต๋าวที่ได้จะถนอมไว้โดยการแช่น้ำ จากนั้นจึงนำออกมาจำหน่าย

การเข้าไปเก็บผลต๋าว เมื่อก่อนยุ่งยาก ต้องเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะไข้ป่า การก่อฟืนก็ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม ฝนตกต่อเนื่องกันนาน แต่ทุกวันนี้ การทำงานรวดเร็วขึ้น รถมอเตอร์ไซค์สามารถซอกซอนไปตามไหล่เขา เข้าใกล้แหล่งต้นต๋าวได้มากที่สุด เมื่อมีผลผลิตก็ทยอยนำมาใส่รถใหญ่

คุณประกาย วงศ์วิเศษ เจ้าของธุรกิจ ห.จ.ก. วงศ์วิเศษรุ่งเรืองน่าน ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 73 หมู่ที่ 4 ถนนน่าน-พะเยา ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เล่าว่า ในอดีตครอบครัวทำธุรกิจโรงสีข้าวควบคู่กับโรงงานแปรรูปต๋าว ซึ่งจะออกเดินป่า เก็บและรับซื้อจากชาวบ้าน เป็นธุรกิจของครอบครัวที่มีพี่น้อง พ่อและแม่ช่วยกันดูแลและบริหารจัดการ พอหลังจากแต่งงานแยกย้ายออกมามีครอบครัว ตนก็รับธุรกิจโรงงานแปรรูปต๋าวมาดูแลต่อจากพ่อแม่

“เมื่อก่อน บริเวณพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน นับว่าเป็นแหล่งที่มีต้นต๋าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่สร้างมาเพื่อเป็นอาหารให้กับมนุษย์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ เมื่อถึงฤดูกาลก็จะเข้าป่าไปเก็บผลต๋าวออกมาขาย บางคนก็เก็บมาแปรรูปขายเอง บางคนก็เก็บผลสดออกมาขายให้กับโรงงานในตัวจังหวัด ผมเป็นโรงงานหนึ่งที่รับซื้อ” คุณประกาย เล่า

ต๋าวที่รับซื้อ จะแบ่งออกเป็น 4 แบบ ด้วยกัน แต่ละแบบราคารับซื้อจะมีความแตกต่างกันออกไปตามคุณภาพและมาตรฐานของผล

ต๋าวน้ำ เป็นต๋าวที่เก็บและต้มให้เปลือกนิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาสั้นๆ ก่อนที่จะนำมาส่งขายให้กับโรงงาน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปขั้นตอนต่อไป

ต๋าวแห้ง เป็นต๋าวที่เก็บและต้มให้เปลือกนิ่มระดับหนึ่ง นำไปทำให้แห้งก่อนส่งให้กับโรงงาน พอถึงโรงงานก็จะนำมาต้มอีกครั้งให้พองตัว และบีบเอาเนื้อด้านในออกมาทำเป็นต๋าวผสมน้ำเชื่อม

ต๋าวกะเทย เป็นต๋าวที่ไม่สมบูรณ์แบบ สังเกตได้จากจุกด้านบนของผลจะหายไป ราคาและคุณภาพก็จะตกลงมา

ต๋าวสี เป็นต๋าวที่มีผลสีเหลือง ต้องเอามาฟอกสีให้ขาวก่อนที่จะนำไปทำเป็นต๋าวผสมน้ำเชื่อม

ผลิตภัณฑ์จากต๋าว

นอกจากรับซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่แล้ว คุณประกาย ยังออกตระเวนหาซื้อต๋าวจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศพม่า เขมร และลาว มาแปรรูปส่งขาย

ในแต่ละปีโรงงานจะแปรรูปต๋าวได้เพียง 1 ครั้ง ซึ่งมีทิศทางสวนกันกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มทุกวัน ทำให้แต่ละปีปริมาณต๋าวที่แปรรูปจะขาดตลาด ราคาก็สูง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน กรมวิชาการเกษตร มองเห็นถึงอนาคตของพืชป่าชนิดนี้ หากไม่มีการอนุรักษ์ อีกไม่กี่ปีก็คงจะหายไปจากผืนป่า จึงได้อนุรักษ์ต้นต๋าว หรือ ต้นมะต๋าว โดยขยายพื้นที่ปลูกต้นต๋าวเพิ่มขึ้น

คุณตราครุฑ ศิลาสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน บอกว่า บริเวณศูนย์วิจัยฯ มีต้นต๋าวขึ้นอยู่จำนวนไม่น้อย ต้นที่ให้ผลผลิตได้ 2-3 ปี ได้ทยอยตายลง ทางศูนย์วิจัยฯจึงได้ปลูกขึ้นใหม่แทน

“ในตำราบอกว่า ปลูกไปแล้ว 8-15 ปี จึงมีผลผลิต แต่หากปลูกแล้วดูแลดี บางต้น 5 ปี ก็มีผลผลิตแล้ว งานที่ทางศูนย์วิจัยฯ ทำกันตอนนี้คือ หาต้นที่มีผลผลิตคุณภาพดี เพื่อนำมาเพาะขยายสู่ผู้สนใจ อีกอย่างหนึ่งที่ศึกษากันอยู่คือ เครื่องบีบผล สำหรับผู้สนใจ อีกไม่นานนักคงให้บริการทางด้านข้อมูล และต้นพันธุ์ได้” คุณตราครุฑ กล่าว