สวพ.6 ประกาศวันทุเรียนแก่ “10 เม.ย. 64” ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด หวังสกัดการส่งออกทุเรียนอ่อน

สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร ประกาศวันทุเรียนแก่ “10 เม.ย. 64” ในพื้นที่ จันทบุรี ระยอง ตราด หวังสกัดการส่งออกทุเรียนอ่อน พร้อมยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยทุเรียน ตั้งแต่สวนทุเรียน โรงบรรจุภัณฑ์ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อทุเรียนทั่วโลก

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) สังกัดกรมวิชาการเกษตร ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี เปิดเผย “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา สวพ.6 ได้ประชุมร่วมกับชาวสวนทุเรียน สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน เพื่อคุมเข้มการส่งออกทุเรียนอ่อน นอกเหนือจากใช้มาตรการปกติที่ใช้กันมาทุกปี ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประชุมมีมติให้ประกาศ “วันทุเรียนแก่” ของทุเรียนหมอนทอง เพื่อให้เกษตรกร ล้ง และผู้ส่งออก รับรู้ทั่วกันอย่างเป็นทางการ

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6)

สาเหตุที่เลือก “วันที่ 10 เมษายน 2564” เป็นวันทุเรียนแก่ เนื่องจาก แหล่งปลูกทุเรียนหมอนทองส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก คือ จันทบุรี ระยอง และตราด จะมีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมากนั่นเอง ความจริงในปีนี้ ต้นทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกทยอยติดดอกออกผลเป็น 4 รุ่น โดยผลผลิตทุเรียนหมอนทองรุ่นแรกจะเริ่มเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

“หากเกษตรกรรายใดผลิตทุเรียนนอกฤดู เพื่อป้อนตลาดส่งออก ก่อนวันทุเรียนแก่ (10 เม.ย. 64) ที่สวพ.6 กำหนด เกษตรกรจะต้องแจ้งให้ผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าไปตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียน เพื่อออกหนังสือรับรองคุณภาพทุเรียนส่งออกก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วย เพื่อคุมเข้มไม่ให้มีปัญหาส่งออกทุเรียนอ่อนในอนาคต” นายชลธี กล่าว

สำหรับผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น นายชลธีมั่นใจว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกทุเรียนในปีนี้ เนื่องจากสมาคมทุเรียนไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจสอบคุมเข้มมาตรฐานสุขอนามัยในแหล่งผลิตแต่ละแห่ง สวนทุเรียนต้องมีมาตรฐานหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP)

ส่วนล้ง โรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐานการผลิตอาหารที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMP) เพิ่มความเข้มงวดด้านสุขลักษณะของพนักงาน มีการตรวจสุขภาพอนามัยพนักงานที่ทำหน้าที่บรรจุสินค้าส่งออก เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อทุเรียนทั่วโลกว่า ทุเรียนไทยปลอดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อไวรัส โควิด-19