โรงเรียนบ้านหนองไผ่ นครสวรรค์ สร้างเกษตรกรน้อย ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาทักษะชีวิต สอนให้นักเรียนทำเป็น คิดเป็น และอยู่ได้ด้วยตัวเองในสังคม ด้วยการสอนให้นักเรียนรู้จักกับ “อาชีพเกษตรกรรม” ได้ริเริ่มน้อมนำหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” เข้ามาเป็นเครื่องมือสร้าง “เกษตรกรน้อย” ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายใต้ “กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่”

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิต สอนให้นักเรียน ทำเป็น คิดเป็น และอยู่ได้ด้วยตัวเองในสังคมด้วย อาชีพเกษตรกรรม โดยในปี 2546 โรงเรียนได้ริเริ่มน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างยุวเกษตรกรน้อย (ประถมศึกษาปีที่ 4 – มัธยมศึกษาปีที่ 3) ภายใต้ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่

โรงเรียนบ้านหนองไผ่ มีบุคลากรน้อย และต่อยอดมาจากโรงเรียนประถมศึกษา ขาดแคลนครูที่รู้ในงานอาชีพที่หลากหลาย จึงพิจารณาจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่า เรื่องการเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารท้องถิ่น เช่น กบ แย้ อึ่งอ่า ตะพาบ ปลาน้ำจืด เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเลี้ยงกบน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด จึงบรรจุเนื้อหาสาระการเลี้ยงกบเข้ามาในหลักสูตร

โรงเรียนเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากของจริงและมีความเหมาะสมกับแต่ละช่วงชั้นในกลุ่มสาระการงานอาชีพ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพืช อาทิ สมุนไพร การปลูกผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรียนเรื่องการเพาะเลี้ยงกบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรียนเรื่องเการเพาะเห็ด และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนเรื่องการขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก เป็นต้น

นอกเหนือจากการเลี้ยงกบในโรงเรียนแล้ว กลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการสร้างอาชีพในอนาคตได้

คุณเทพประทาน ศิโล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เราได้วิเคราะห์สภาพบริบทชุมชนบ้านหนองไผ่ เป็นชุมชนของการทำอาชีพเกษตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ได้จัดทำหลักสูตร การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ตอบสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต้องการให้เด็กมีงานทำ หลังจากการศึกษาไปแล้ว จบหลักสูตร เขาสามารถที่จะนำทักษะความรู้ประสบการณ์จากการเรียนในโรงเรียน ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเขา

“เราได้จัดกิจกรรมให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ ทั้งด้านพืช ด้านสัตว์ ประมง เคหะกิจ เพราะฉะนั้นเด็กที่จะเรียนรู้ในแต่ละอาชีพนั้นก็ให้เขาได้สมัครมาเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร โดยมีการประชุมสภาของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทุกเดือน เพื่อนำปัญหาต่างๆ มาวิเคราะห์ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมทุกกิจกรรมจะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัด ฉะนั้น กิจกรรมที่เป็นกิจกรรมที่ใช้วุฒิภาวะหรือใช้ความรู้มาก เราก็จะจัดตามหลักสูตรค่อยๆ บ่มเพาะไปตามวัย ตามวุฒิภาวะของเด็ก”

ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวอีกว่า กิจกรรมในแต่ละกิจกรรมม องค์ความรู้และทักษะที่ได้ บางกิจกรรมเราเชิญปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาให้ความรู้ มาสอนเทคนิคต่างๆ และเรายังได้ความรู้จากนักวิชาการของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ความรู้จากศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เด็ก แล้วก็คุณครูบางท่านก็มีความถนัด มีความสนใจ ก็ได้เรียนรู้จากเอกสารตำรับตำราก็มาถ่ายทอดให้กับนักเรียนของเรา ตามที่นักเรียนได้สนใจสมัครเข้ากลุ่ม ในแต่ละกิจกรรม

คุณกัลยา วนิชไพบูลย์ ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่ กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาเด็ก เราจะเห็นได้ชัดก็คือเรื่องของคุณลักษณะ คือ เด็กจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความขยัน ซึ่งโรงเรียนเราไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศในด้านวิชาการ เราต้องการพัฒนาเด็กในเรื่องของคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เด็ก ทำเป็น คิดเป็น อยู่ได้ด้วยตัวเอง เด็กตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกคนจะเป็นสมาชิกของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่ โดยปริยาย ตอนนี้ยอดสมาชิก 110 คน ที่ทำกิจกรรมกันอยู่

“เราเลือกจากกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานในชุมชนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นอาชีพที่ในท้องถิ่นเรามี เราก็จะมีการจัดการเรียนรู้ลงมาตามฐาน โดยบูราการกับวิชาต่างๆ และฝึกเด็กในเรื่องของการรู้จักความพอเพียง พอประมาณต่างๆ จากการเรียนรู้โดยปลูกฝังไปในตัวของเขา พี่ก็จะยากหน่อย เช่น การรับผิดชอบเรื่องการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ถ้าเป็นเด็กอนุบาล ประถมเล็กๆ ก็จะศึกษาเรื่องการปลูกผัก แบ่งตามความสามารถของนักเรียนเป็นเกณฑ์ ของเราจะมีฝึกเด็กในเรื่องเก็บเป็นเงินกองทุน ฝึกในการหมุนเวียนการบริหารจัดการในกลุ่ม การยืมเงินทุนมา ให้รู้จักคิดต้นทุน กำไร ให้รู้จักการวางแผนในการประกอบอาชีพของแต่ละคน”

สำหรับการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกการขาย แล้วก็รู้จักวางแผนว่าในสหกรณ์โรงเรียน เมื่อเด็กได้ขายได้มีเงินก็สามารถเอามาออมมาฝากกับกิจกรรมที่โรงเรียนทำ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราบอกว่าการจัดการศึกษาตามหลักสูตร หลักสูตรที่ครูจะต้องออกแบบให้เด็กได้ปฏิบัติทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นวิชาการและวิชาชีวิตที่ควบคู่กัน เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่จัดในโรงเรียนให้ครูทุกคนไปวิเคราะห์หลักสูตร ในแต่ละชั้นของตัวเองว่าควรจะออกแบบกิจกรรมไปสอนในฐานใด เพื่อให้เด็กเขาได้ลงมือปฏิบัติตอบสนองหลักสูตร ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละชั้นในแต่ละวัยที่เด็กจะได้รับจากการจัดของโรงเรียน

พื้นที่กว่า 61 ไร่ ของโรงเรียน กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่ให้คุณครูนำนักเรียนออกมาเรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และแปรรูป ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้การเกษตร กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่ กลายเป็นสนามชีวิตที่สอนให้นักเรียน มีความอดทน สร้างกระบวนการคิด เป็นวิชาติดตัวกลับไป ส่งต่อให้กับครอบครัวและขยายสู่ชุมชน

ตัวแทนนักเรียน ในนามของประธานกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ให้ข้อมูลว่า อาชีพเกษตรกรรม คือ เราเป็นตัวของเราเอง ไม่ต้องมีใครมาสั่ง เราทำเองได้ สามารถไปพัฒนาเองได้ คือ เราสามารถนำความคิดของเรากลับไปใช้ที่บ้านได้เลย เมื่อก่อนจะใช้สารเคมีมาก เดี๋ยวนี้ก็ลดเปลี่ยนเป็นใช้สารชีวภาพแทนสารเคมี เพื่อให้ร่างกายตัวเองปลอดภัยจากสารเคมี เราก็จะได้กินพืชผักที่ปลอดสารพิษ มีความสุขเพราะได้ทำกับเพื่อนๆ ด้วย แล้วก็ได้ความรู้นั้นกลับไปใช้ที่บ้าน ก่อนที่เราจะเข้ามาเราไม่รู้หรอกค่ะว่าเราจะทำได้ถึงขนาดนี้

ผลผลิตทางการเกษตร ที่กลุ่มยุวเกษตรกรผลิตออกมาจะส่งเข้าระบบของสหกรณ์ของโรงเรียน เพื่อส่งต่อไปยังโครงการอาหารกลางวัน ส่วนผลผลิตที่เหลือจะส่งจำหน่ายไปยังชุมชน สามารถสร้างวินัยการออมเงินและการบริหารจัดการทางการเงินให้กับนักเรียนได้คิด ได้ขายเป็น

ผลผลิตที่ได้มา อันดับแรกจะส่งสหกรณ์ สหกรณ์ก็จะส่งไปที่โครงการอาหารกลางวัน คือ เมนูอาหารกลางวันแต่ละวัน เราจะดูก่อนว่าผลผลิตจากภายในโรงเรียนเรามีอะไรบ้างที่สามารถส่งได้ อย่างถ้ามีไข่ เราก็จะมีเมนูไข่ ถ้ามีกล้วย อาหารกลางวันถ้าเป็นของหวานก็จะทำจากกล้วย มีเห็ดก็เป็นต้มยำ ก็จะหมุนเวียนกันไปตามผลผลิตของเราด้วย แล้วส่วนหนึ่งก็รับจากร้านค้าด้านนอกได้กินของที่เขาทำแล้วก็เขาก็จะได้เงินจากส่วนที่เขาขายผลผลิตผ่านโครงการอาหารกลางวันด้วย

ฐานการเรียนรู้หลักของโรงเรียนบ้านหนองไผ่

  1. แปลงนาเกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มไถนา หว่าน ดูแล เก็บเกี่ยว กระทั่งเป็นข้าวสาร โดยมีโรงสีข้าวชุมชนตั้งอยู่ภายในโรงเรียน
  2. การเพาะและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาดุก เป็นการเรียนรู้การผสมเทียม เพาะไข่ และอนุบาลจนเป็นลูกปลา จำหน่ายหรือเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ
  3. การเพาะและขยายพันธุ์กบพื้นเมือง เรียนรู้วงจรชีวิตของกบตั้งแต่เพาะพันธุ์ ออกไข่ เป็นลูกอ๊อด เป็นลูกกบ จำหน่ายหรือเลี้ยงเป็นกบเนื้อ
  4. สวนสมุนไพร พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เรียนรู้คุณค่าสมุนไพรหลากหลายชนิดในท้องถิ่น และให้รู้จักเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
  5. แปลงผักปลอดสารพิษ เรียนรู้การปลูกพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ และสารสกัดสมุนไพรป้องกันศัตรูพืชเพื่อลดต้นทุน
  6. โรงเพาะเห็ดนางฟ้า เรียนรู้ตั้งแต่ทำก้อนเห็ด ใส่เชื้อ เปิดดอก เก็บดอก
  7. น้ำส้มควันไม้ เรียนรู้การเผาถ่านและเก็บน้ำส้มควันไม้ และผลพลอยได้ คือ ถ่านผลไม้ดับกลิ่น โดยน้ำส้มควันไม้สามารถเอาไปฉีดพ่นไล่แมลงได้
  8. ธนาคาขยะ ปลูกฝังให้เด็กอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าวัสดุเหลือใช้ รู้จักคัดแยกขยะเพื่อนำไปขาย และเชื่อมโยงเรื่องการอบรม
  9. ไผ่หวาน สะเดา ขี้เหล็ก เรียนรู้ประโยชน์จากไม้ใช้สอยต่างๆ เช่น เป็นอาหาร ขยายพันธุ์ไผ่หวานเพื่อจำหน่าย ใช้สะเดาเป็นสารไล่แมลง
  10. หมูหลุม เรียนรู้กระบวนการเลี้ยง และให้ได้ลูกหมู เพื่อให้นักเรียนเอาไปเลี้ยงที่บ้านต่อไป

11. เป็ด ตัวเมียเลี้ยงไว้ให้ไข่ ตัวผู้ ขายเอารายได้เข้าโครงการอาหารกลางวัน