บ้านปูฯ ประกาศผล 11 ทีมที่เข้ารอบ “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” เผยปีนี้ กิจการเพื่อสังคมมีนวัตกรรมด้านการแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์และแตกต่าง

เป็นระยะกว่าสามเดือนหลังประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20 – 35 ปีให้ส่งแผนกิจการเพื่อสังคมเข้าร่วมใน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 7” หรือ Banpu Champions for Change 7 โดย บริษัท บ้านปู (จำกัด) มหาชน และสถาบัน Change Fusion ต่อด้วยเวิร์คช็อปเพิ่มความรู้ ล่าสุดได้ทำการประกาศผล 11 กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมด้านต่าง ๆ ที่เข้ารอบ อาทิด้านการเกษตรและพัฒนาชุมชน สุขภาพ การเงิน การศึกษาและศิลปะบำบัดแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส เป็นที่เรียบร้อย โดยแต่ละทีมได้มีการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมของตนด้วยความคิดสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมหลากหลายรูปแบบในการแก้ปัญหาสังคมและเสริมการดำเนินกิจการและสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทั้ง 11 กิจการจะได้รับทุนสนับสนุนรวม  800,000 บาท เพื่อนำไปดำเนินกิจการจริงเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนนำเสนอแผนและความคืบหน้าอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ 5 ทีม  ในเดือน สิงหาคม 2560 เพื่อรับทุนสนับสนุน รวม 1 ล้านบาท

 

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้มีความเด่นชัดในทุกด้าน ด้วยช่วงอายุผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ทำให้เราได้ผู้ที่ไม่เพียงมีใจรัก แต่ยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญตรงในการจัดการปัญหาที่ผู้สมัครต้องการแก้ไขให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้สมัครยังมองเห็นถึงปัญหาทางสังคมและหยิบยกมาแก้ไขในทิศทางที่แตกต่างและน่าสนใจ บ้านปูฯ เชื่อว่าหากผู้ที่เข้ารอบทั้ง 11 ทีมได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายผู้ที่เคยร่วมโครงการในรุ่นก่อนๆ ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะมีกิจการของตนเอง และแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมกัน ก็จะพัฒนากิจการเพื่อสังคมของตนให้แข็งแกร่ง และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนต่อไป สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูที่ว่า “พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”

 

สำหรับกิจการเพื่อสังคมทั้ง 11 ทีมที่ผ่านเข้ารอบใน โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 7 ต่างก็ครอบคลุมปัญหาทางสังคมที่หลากหลาย ประกอบไปด้วย

  • ด้านการเกษตรและพัฒนาชุมชน ได้แก่

ทีม ผัก Done ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากการจัดการขยะอินทรีย์

ทีม FarmTO ช่องทางการขายผลผลิตของเกษตรกรออนไลน์ด้วยการจับจองแปลงผลผลิตล่วงหน้า

Advertisement

ทีม ภูคราม ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายย้อมครามโดยชุมชนในจังหวัดสกลนคร

ทีม The Burrow บ้านโพรงกระต่าย พื้นที่การเรียนรู้แบบบูรณาการในจังหวัดสงขลา

Advertisement
  • ด้านสุขภาพ ได้แก่

ทีม Art for Cancer ช่องทางในการสร้างอาชีพเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

  • ด้านการเงิน ได้แก่

ทีม เชื่อใจ แอปพลิเคชันเครดิตสกอร์ริ่งและบริการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการกู้เงิน

  • ด้านการศึกษาและศิลปะบำบัดแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ได้แก่

ทีม Heartist แบรนด์กระเป๋าที่ผลิตจากเนื้อผ้าถักทอโดยผู้พิการทางสมอง

ทีม Unpuzzle สื่อการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อเด็กพิเศษ

ทีม Art by Heart Studio สตูดิโอศิลปะบำบัดเพื่อเด็กและผู้ใหญ่

ทีม Blind Theatre School โครงการเรียนรู้เพื่อเชื่อมคนตาบอดและคนตาดีผ่านศิลปะละครเวที

  • ด้านการศึกษา ได้แก่

ทีม มหาลัย 3 นาที สื่อแนะแนวออนไลน์ที่กระชับและตรงประเด็นแก่เยาวชน

 

ในการคัดเลือกรอบ 11 ทีม นอกจากคณะกรรมการโครงการฯ อย่างคุณอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส – องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้ง Change Fusion Institute แล้ว โครงการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้องคือ คุณภัทรพร แย้มละออ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลทางสังคมและนักการตลาดเพื่อสังคม คุณสินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิอโชก้า องค์กรนานาชาติผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม คุณปรัชญ์ จงกิตติสกุล ผู้บริหารระดับสูง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงศิษย์เก่าโครงการฯ ปีที่ 2 อย่าง คุณสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม Local Alike ธุรกิจบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก มาช่วยตัดสินและให้คำแนะนำจากมุมมองของรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์เดียวกันมาแล้วอีกด้วย นอกจากนี้ ก่อนนำเสนอแผนกิจการเพื่อสังคม ผู้สมัครยังได้รับคำแนะนำ เพื่อตีกรอบความคิดและแนวทางการดำเนินกิจการให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญ หนึ่งในนั้นคือ คุณปรีห์กมล จันทรนิจกร ผู้ก่อตั้ง Ma:D พื้นที่รวมตัวของผู้ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงและ co-working space ศิษย์เก่าโครงการฯ ปีที่ 4 นับเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมมุ่งที่จะเชื่อมต่อผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการกิจการเพื่อสังคมของไทยอย่างยั่งยืน

 

นางสาวภัทรพร แย้มละออ ผู้ทำงานด้านการวัดผลทางสังคม นักการตลาดเพื่อสังคม และผู้ก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า “ผู้เข้ารอบ 11 ทีมในปีนี้มีศักยภาพที่ดี ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานจึงมีประสบการณ์ว่าสิ่งใดน่าจะเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ และสังคม อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงกิจการเพื่อสังคมที่พวกเขาริเริ่มขึ้น เข้ากับงานประจำที่ทำอยู่หรือเคยมีประสบการณ์ จึงไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้ง 11 ทีม สามารถโชว์ศักยภาพของตนเองผ่านแผนธุรกิจที่ชัดเจน ตั้งแต่ไอเดียที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ กรอบการทำงานภายใต้แผน และเป้าหมายทางธุรกิจและแนวคิดในการแก้ปัญหาสังคมที่สามารถนำไปปฏิบัติและขยายผลได้จริง ประกอบกับมีการค้นคว้าหาข้อมูลมากขึ้น จึงมีเหตุผลมารองรับ และสามารถตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกัน”

 

ก้าวต่อไปของทั้ง 11 ทีมใน 3 เดือนนับจากนี้คือ  การเข้าร่วมเวิร์คช็อปในหัวข้อแผนธุรกิจและการสื่อสารแบรนด์ ต่อด้วย Passion Test โดยผู้เชี่ยวชาญที่จะมาทดสอบความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าของแต่ละคน (passion) เพื่อวัดผลว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่ชอบและสนใจจริงๆ อีกทั้งตั้งเป้าหมาย กำหนดทิศทาง ประเมินสถานการณ์กิจการเพื่อสังคมของตัวเอง พร้อมวางแผนสำหรับอนาคต จากนั้น ทุกทีมจะนำทุนสนับสนุนเบื้องต้นไปดำเนินกิจการจริงเป็นระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะกลับมานำเสนอความคืบหน้าในรอบชิงชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้ายในเดือนสิงหาคม 2560 ต่อไป

 

ผู้สนใจสามารถติดต่อความคืบหน้าของโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions