เตาปิ้งไร้ควันประหยัดพลังงาน ลดควันไฟ เพื่อสิ่งแวดล้อม

ในภาวะเร่งด่วนยามเช้าของประชาชนทั่วไปในเมืองใหญ่ ที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ตื่นนอนแต่เช้า รีบร้อนออกจากบ้านเพื่อไปให้ทันกับเวลาทำงาน เวลาเข้าโรงเรียน ให้ทันเวลาตามที่นัดหมาย ไม่มีเวลาที่จะทำอาหารเช้าที่บ้าน ต้องไปแวะหาซื้ออาหารเช้าข้างหน้า จึงเกิดอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ดี ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคลักษณะนี้คือ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ขายอยู่ข้างเส้นทางที่เดินทางผ่าน ราคาถูก ซื้อได้รวดเร็ว รับประทานได้ง่าย

ร้านขายหมูปิ้งรายแรกที่ตลาดแม่แก๊ด ใกล้มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การขายหมูปิ้งหมูย่าง บางรายอาจจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหรือไก่ ตามแต่ลูกค้าชอบ แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับอาชีพนี้ที่จะขาดเสียไม่ได้คือ เตาปิ้งย่าง บางรายอาจจะใช้ถังขนาด 200 ลิตร นำมาผ่าครึ่งทำเป็นเตาปิ้ง มีตะแกรงเหล็กวางด้านบน บางรายอาจใช้ถังขนาดเล็กลงมา เพื่อให้มีความกะทัดรัด ด้านล่างเตาใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง ด้านบนเป็นตะแกรงเพื่อวางหมู เนื้อ หรือไก่ เพื่อให้ได้รับความร้อนจากถ่านจนสุก แต่ในขณะที่กำลังปิ้งย่างนั้น จะเกิดน้ำมันจากเนื้อหมู เนื้อ หรือไก่ ที่ถูกความร้อนนั้น หยดไหลลงในเตาปิ้งย่างกระทบกับถ่านที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดควันไฟลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งเนื้อหมูปิ้งที่ถูกควันรมอยู่ตลอดเวลา ทางการแพทย์ระบุว่ามีสารทำให้เกิดมะเร็งด้วย

การออกแบบเตาที่วางด้านข้าง ส่งความร้อนเข้าตรงกลาง

สำนักวิชาการพลังงานภาค 10 กระทรวงพลังงาน ระบุว่า สำนักวิชาการพลังงานฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการสูญเสียและหันมาใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้มีการบริโภคพลังงานอย่างพอดีและพอเพียง  ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวางแผนพลังงานชุมชน รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากสถานการณ์การขายหมูปิ้งนี้เอง จึงเกิดแนวคิดทำเป็นโครงการรถขายหมูปิ้งประหยัดพลังงานด้วยเตาประสิทธิภาพสูง เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีพลังงานในอนาคต และสอดคล้องกับการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวัน และเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการเรียนรู้ของประชาชน สำนักวิชาการพลังงานฯ จึงประสานงานกับศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม งานออกแบบและพัฒนาเตาปิ้งย่างไร้ควันสำหรับชุมชน

รูปแบบร้านขายหมูปิ้ง

ระยะแรกทำการศึกษาวิจัยขนาดและรูปแบบต่างๆ ของเตาปิ้งย่างหมูไม่ให้มีควัน แต่ต้องใช้ความร้อนสูงมาทำให้หมูปิ้งสุกนั้น ต้องคำนวณหาระยะความกว้าง ยาว สูง ให้มีความสัมพันธ์กัน กว่าจะได้ขนาดต้นแบบของเตาปิ้งย่างที่ถูกต้อง ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี จนได้เตาปิ้งย่างต้นแบบไร้ควันที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเชื้อเพลิง ตัวเตาทำจากเหล็กโดยตรง เตามีลักษณะขนาดกว้าง 46 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร สูงจากพื้นที่ที่ตั้ง 75 เซนติเมตร มีตะแกรงย่างที่ทำจากสแตนเลส ไม่เป็นสนิม ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร วางสูงจากถ่านประมาณ 20 เซนติเมตร

รูปแบบร้านขายหมูปิ้ง

ด้านล่างของตะแกรงปิ้งย่างจะมีถาดรองรับน้ำมันที่เกิดจากการปิ้งย่างให้ไหลลงอีกด้านหนึ่ง ตัวเตาทำกล่องสี่เหลี่ยมบรรจุถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงประกอบไว้ด้านข้างทั้งสองด้าน พร้อมบานพับเปิดปิดเพื่อใช้เติมถ่านลงในเตา มีการออกแบบช่องลมที่สามารถปรับระดับมากหรือน้อยได้ เพื่อให้เป็นตัวนำความร้อนจากส่วนที่เป็นเตาเชื้อเพลิง ที่มีอุณหภูมิความร้อนมากถึง 300-450 องศาเซียลเซียส ความร้อนที่สูงนี้จะถูกส่งไปถึงหมูปิ้งหรือสิ่งที่ปิ้งย่างนั้น อุณหภูมิประมาณ 110-120 องศาเซียลเซียส เวลาที่ทำให้หมูปิ้งสุกรับประทานได้ประมาณ 3-5 นาทีเท่านั้น

เตาแยกออกมาด้านข้างของร้าน

ลักษณะของเนื้อหมูที่ปิ้งด้วยระบบไร้ควันเนื้อจะนิ่มอ่อนนุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเตาปิ้งย่างที่ใช้กันทั่วไปนั้น เตาปิ้งย่างไร้ควันต้นแบบ สามารถประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้ประมาณร้อยละ 70 ประหยัดถ่านได้ปีละ 650 กิโลกรัม ราคาต้นทุนสร้างเตาปิ้งย่างไร้ควันต้นแบบประมาณ 5,000 บาท อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

เตาปิ้งไร้ควัน

หากผู้บริโภคหรือผู้ที่ซื้อหมูปิ้งย่างไม่สังเกตลักษณะของเตารูปแบบใหม่ไร้ควัน กับเตาแบบเดิมที่ใช้กันอยู่และเกิดควันขึ้นมากมายนั้น ผู้บริโภคก็จะไม่ทราบและเห็นความแตกต่างกัน จึงเกิดแนวคิดการออกแบบรถเข็น หรือรถที่จะใช้เตาปิ้งย่างแบบไร้ควันวางอยู่บนรถเข็นไปขายนั้น จึงได้ออกแบบให้ดูเด่น สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น  ทำให้มีผู้สนใจเดินเข้าไปหาซื้อหมูปิ้งเป็นจำนวนมาก เพราะหมูปิ้งย่างบนเตาไร้ควันจะไม่เกิดโทษจากสารก่อมะเร็ง เป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมด้วย สำหรับการสร้างรถเข็นให้เป็นสิ่งจูงใจ ต้องใช้งบประมาณ 15,000 บาท หากรวมทั้งเตาและรถเข็นแบบนี้ ราคารวมแล้ว 20,000 บาท

สำหรับประชาชนที่ต้องการประกอบอาชีพการปิ้งย่าง สนใจสั่งซื้อเฉพาะตัวเตาปิ้งย่างไร้ควัน หรือพร้อมรถเข็น หรือขอแบบแปลนการสร้างเตาไร้ควันเพื่อนำไปทำใช้เอง ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยพลังงาน  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โทรศัพท์ 0-5349-8168  หรือ 08-1531-5376 หรือที่สำนักวิชาการพลังงานภาค 10 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  โทรศัพท์ 0-5311-2588-91 หรือ www.region10.m-energy.go.th