ทุเรียนไทยในสงครามทุเรียนโลก โอกาสหรือการแข่งขันในตลาดจีน

ข้อมูล : สมาคมทุเรียนแห่งประเทศไทย (Thai Durian Association : TDA) ปี 2562 ไทยส่งออกผลผลิตทุเรียน 682,720 ตัน มูลค่ารวม 51,161.9 ล้านบาท และในปี 2563 ส่งออก 7 เดือนแรกมีผลผลิตส่งออก 515,002 ตัน มูลค่า 54,840.5 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ทุเรียนราคาดีแม้ปริมาณทุเรียนจะน้อยกว่าแต่มูลค่าสูงกว่า ปริมาณทุเรียนไทยส่งออก 97.9% ส่งไป 3 ประเทศ คือ จีน 357,492 ตัน หรือ 71.3% ฮ่องกง 72,951 ตัน หรือ 14.5% และเวียดนาม 60,650 ตัน หรือ 12.1% และข้อมูล : ผู้ประกอบการที่ส่งทุเรียนไปจีน ทุเรียนไทยครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้มากที่สุด ปริมาณที่ส่งไปจีนนั้นมีเพียง 30% ตลาดความต้องการยังเติบโตได้อีก 70%

คุณภานุศักดิ์ สายพานิช

 การเปิดตัวของสมาคมทุเรียนไทย (TDA) หัวข้อ “บทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนธุรกิจทุเรียนไทย” ของ คุณภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทยและการเสวนา หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ทุเรียนไทยในสงครามทุเรียนโลก” ของบริษัทส่งออกทุเรียนไปจีน ใน “งานพืชสวนก้าวหน้า ครั้งที่ 16 (HORTEX’ 2020) และงานมหานครผลไม้ Fruitpital Fair 2020” จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 สะท้อนปัญหา อุปสรรค จากระบบการขนส่ง การแข่งขันจากเพื่อนบ้านมาเลเซีย เวียดนาม ปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคตลาดจีนเปลี่ยนไป สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ฤดูกาลนี้ การปรับตัวของเกษตรกร ผู้ส่งออก การบริหารจัดการระบบขนส่ง เพื่อให้ตลาดทุเรียนไทยยั่งยืนในตลาดทุเรียนโลก

คุณภัฐชญา เขียวพันธุ์ และ คุณกฤติเดช อยู่รอด พิธีกรวงเสวนา

ขนส่งติดหนึบด่านโหย่วอี้กวน…เร่งเปิดด่านตงซิน

คุณภานุศักดิ์ กล่าวถึงปัญหาที่ควรวางแผนเตรียมทำการตลาดทุเรียนโลก 3-4 ข้อ คือ 1. ปริมาณทุเรียนที่เพิ่มขึ้นมากจะมีผลต่อราคา จากพื้นที่ปลูกทุเรียนและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทยได้ขยายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตอนนี้ไทยยังโอกาสดีที่ส่งผลสดเข้าจีนได้ประเทศเดียว ถ้าประเทศอื่นๆ นำเข้าผลสดได้ ราคาทุเรียนอาจจะลดลงหรือต่ำกว่าการผลิต 2. ระบบการขนส่งปัญหารถติดที่ด่านโหย่วอี้กวน ต้องแก้ไขเร่งด่วนเปิดด่านตงซินก่อนฤดูกาลผลไม้ปี 2564 คือ เส้นทาง R12 ที่นิยมใช้ในการขนส่งมากที่สุด และเส้นทาง R3 เชียงของผ่านลาว ต่างไปติดที่ด่านโหย่วอี้กวนจุดเดียวกัน ทำให้ใช้เวลาขนส่งถึง 10 วัน จาก 4-5 วัน ผลไม้เกิดความเสียหาย ทุเรียนซื้อไปกิโลกรัมละ 200 บาท ขายได้ 20-30 บาท และยังทำให้ตู้คอนเทรนเนอร์หมุนเวียนไม่เพียงพอ ค่าเช่าตู้แพงขึ้น 3. ปัญหาคุณภาพทุเรียนไทย บางครั้งตัดอ่อน มีหนอนเจาะ ราดำ ต้องทำคุณภาพเพื่อแข่งขันกับมูซันคิงและทุเรียนเวียดนาม และ 4. การประชาสัมพันธ์รัฐบาลไทยสนับสนุนในระดับนานาชาติน้อยมาก ต่างจากมาเลเซียโปรโมตมูซันคิงทั้งในและต่างประเทศยกให้เป็นทุเรียนพรีเมี่ยม

คุณเจียวหลิง พาน

“เวียดนาม มีชายแดนติดจีน ลาว ปี 2564 จะเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปคุนหมิง อนาคตมาเลเซียจะพัฒนาท่าเรือขนส่งไปจีน เป็น HUB ใหญ่สุดในอาเซียน ถ้ามาเลเซียนำผลสดเข้าได้จะได้เปรียบการขนส่งทางเรือที่ใกล้กว่าแหลมฉบัง ไทยต้องเร่งเปิดด่านตงซินให้ทันฤดูกาลนี้” คุณภานุศักดิ์ กล่าว

คุณรัชวลัญช์ แซ่หยาง

ขายออนไลน์รุ่ง ตลาดเปลี่ยนนิยมไซซ์เล็ก ลูกละ 2-3 กิโลกรัม

คุณสุวัฒน์ รักทองสุก ผู้บริหารบริษัท เลิศ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำการค้ากับจีน และ ผู้จัดการตลาดออนไลน์ในหางโจว เซี่ยงไฮ้ กรุงเทพมหานคร ตลาดทุเรียนในจีนเป็นตลาดใหญ่มาก ทุเรียนไทยมีเท่าไรไม่พอขาย ช่วงโควิด-19 มีผลกระทบด้านราคา ตลาดช่วงต้นๆ เล็กน้อย แต่ต่อมาจีนมีกำลังซื้อเหมือนเดิม ตลาดยังไปได้ดี จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ของจีนเพิ่มสูงขึ้น จากติดลบ 6.8% ขึ้นมาเป็น 3.2% 4.6% ตัวเลขผลไม้ไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และธุรกิจออนไลน์ สินค้ากลุ่มอาหารถึง 57.1% (รวมทุเรียน) ได้รับความนิยมสูงสุด การแข่งขันทุเรียนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องดูพฤติกรรมความนิยมการบริโภคของจีน ต้องการทุเรียนจากไทย หรือ “ไท่กั๋ว” ที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะ สด ใหม่ ไม่มีสารพิษ ไม่มีไวรัสโควิด-19

คุณโหยว จื้อเฉียง

“ผู้บริโภคยุคใหม่ Gen Y นิยมซื้อทุเรียนออนไลน์มากขึ้น โควิด-19 ทำให้เดินทางเข้ามาไทยต้องถูกกักตัว 14 วัน แต่สามารถซื้อออนไลน์ ออฟไลน์ได้ จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนสูงถึง 900 ล้านคน และกดไลก์ E-Commerce ถึง 265 ล้านคน ทุเรียนออนไลน์ต้องสร้างจุดขาย ทำให้ผู้บริโภคสนใจเพิ่มขึ้นนอกจากคุณภาพ เช่น เรื่องราว เนื้อหาของทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ที่รสชาติอร่อย เป็นของแปลกของล้ำค่าหายาก” คุณสุวัฒน์ กล่าว

ประเทศปลูกทุเรียน

คุณเจียวหลิง พาน กรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ผู้ค้าทุเรียนออนไลน์ในจีน กล่าวว่า ทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่มีอนาคตในตลาดจีน ทำทุเรียนออนไลน์ส่งจีนปีที่ 7 ที่ผ่านมา 2-3 ปี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมทุเรียนไซซ์เล็ก ลูกละ 2-3 กิโลกรัม ไม่เกิน 4 กิโลกรัม เนื่องจากราคาถูกกว่าทุเรียนลูกใหญ่และสังคมเป็นครอบครัวเล็กๆ และนิยมรับประทานทุเรียนหลากหลายพันธุ์ อย่างพันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 10 นวลทองจันทร์ ลูกค้าตอบรับดีมาก ขนาดลูกไม่ใหญ่ คุณภาพสม่ำเสมอ เนื้อสีสวย สีส้ม เหลืองรสชาติดี ต่างจากที่เคยนิยมหมอนทองไซซ์ใหญ่ ลูกละ 5-6 กิโลกรัม บางครั้งเจอตัดอ่อนปัจจุบันขายยาก การทำออนไลน์มีแพลตฟอร์มสมาชิกเพิ่มขึ้นๆ การทำออนไลน์จะสร้างกิมมิกที่น่าสนใจ เพิ่มช่องทางการขาย เข้าไปในสวนทำ Story ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ต่างจากหมอนทองที่ปลูกกันมากแต่คุณภาพมาตรฐานไม่สม่ำเสมอ ปีนี้ทำตลาดออนไลน์ได้เพียง 200 ตู้ เพราะทุเรียนคุณภาพมีน้อย ล้งแย่งกันซื้อ และยังต้องซื้อผ่านคนกลาง คาดว่าปีหน้าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ตู้ ทุเรียนคุณภาพลูกเล็กทำตลาดจีนง่าย ลูกละ 4-5 กิโลกรัมขายยาก การเหมาสวนมีลูกเล็กจำนวนมากจะได้ราคาดี ราคาทุเรียนลูกเล็กเดิมกิโลกรัมละ 30-40 บาท ได้ราคาถึง 100 บาท ชาวสวนต้องปรับตัวทำไซซ์ตามตลาดผู้บริโภค รวมทั้งคุณภาพ ต่อไปจะซื้อโดยตรงกับชาวสวนที่มีใบรับรองมาตรฐาน GAP โดยลูกค้าตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ทุกกล่อง

“ตลาดจีน 98% เป็นทุเรียนไทย อนาคตถ้ามาเลเซีย เวียดนาม เข้าผลสดได้จะเป็นคู่แข่งสำคัญ หากปริมาณทุเรียนในตลาดจีนเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้ราคาตก การตลาดต้องนำการผลิต ชาวสวนผู้ผลิตต้องปรับตัว ตลาด และตลาดออนไลน์เป็นเทรนด์กำลังมาแรงแต่ต้องบวกด้วยคุณภาพ” คุณเจียวหลิง กล่าว

ผู้ร่วมเสวนา สอบถาม

คุณโหยว จื้อเฉียง ผู้บริหาร บริษัท นิรันดร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า จากปริมาณทุเรียนที่ส่งไปในจีนตอนนี้มีเพียง 30% จึงต้องเพิ่มปริมาณการซื้อเพราะโอกาสการขยายตลาดที่ยังเติบโตได้มีอยู่ถึง 70% ปี 2564 เป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการส่งออกเป็นเท่าตัว จาก 4,000 ตู้ เป็น 8,000 ตู้ แต่ต้องควบคุมคุณภาพ คัดเลือกตัวแทนสาขาผู้รับซื้อต้องมี GMP และเกษตรกรต้องมีใบรับรอง GAP เป็นหลักสำคัญ และรับซื้อไซซ์ A/B ขนาดน้ำหนัก 2-6 กิโลกรัม ต่อลูก เน้นรูปทรงสวย 3 พูครึ่งขึ้นไป และความแก่ 75-85% แต่ปีที่ผ่านมาได้เริ่มรับซื้อขนาดเล็กลง 1.2-1.7 กิโลกรัม ต่อลูกเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปริมาณน้อย ปีนี้จะรับซื้อปริมาณเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด

เวทีเสวนา

 ชะนียกระดับเทียบหมอนทอง เน้นตัดแก่

เนื้อเหนียว สีทอง รสชาติหวานมัน

คุณรัชวลัญช์ แซ่หยาง ผู้จัดการบริษัท ฟู่ซิน สยามอินเตอร์ฟรุต ซึ่งทำธุรกิจค้าส่งในจีน กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคทุเรียนจีนเปลี่ยนไปจากความนิยมหมอนทองสูงสุด ชะนีที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของไทยเป็นอันดับ 2 ระยะเวลา 2-3 ปี มานี้ตลาดนิยมชะนีสูงขึ้นเกือบเท่าตัว จากที่ไม่มีคนรู้จัก ด้วยจุดเด่น สีสวยสีทอง เนื้อหนียว รสชาติหวานมันใกล้เคียงมูซันคิง เนื่องจากตัดแก่ 80% ทำให้ราคาชะนีพุ่งขึ้นเกือบเท่าหมอนทอง บริษัทส่งเข้าตลาดจีนจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “พาโกดา” (pagoda) วางจำหน่ายตลาดชั้นหนึ่ง 4,000 กว่าสาขา ราคาสูง เพราะมีการรับประกันคุณภาพ ทุเรียนชะนีไปถึงผู้บริโภคด้วยรสชาติอร่อย หากได้รับการประชาสัมพันธ์แบบมูซันคิง จะมีโอกาสทำการตลาดกว้างขึ้น เป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะหันไปปลูกชะนีเพิ่มขึ้น ไม่ได้มุ่งแต่หมอนทองอย่างเดียว

“ตลาดจีนไม่ใช่รู้จักแค่ทุเรียนหมอนทอง เคยนำก้านยาวเข้าไปขายแต่ราคาค่อนข้างสูง รสชาติไม่โดดเด่น เทียบกับชะนีไม่ได้ พวงมณี 4-5 ปีเคยนำเข้าอันดับ 1 รสชาติตอบโจทย์ผู้บริโภคใกล้เคียงกับมูซันคิง เช่นเดียวกับหลงลับแล หลินลับแล ราคาสูงเกินไปตลาดไม่ติด จึงเปลี่ยนมาเป็นชะนี ตอนนี้มูซันคิงราคาถูกกว่าหมอนทอง คุณภาพดีกว่า อร่อยกว่า เพราะสุกจากต้น หมอนทองต้องทำคุณภาพไม่ตัดอ่อนหรือใช้ยาเร่งสุกป้ายรสชาติธรรมชาติหายไป โอกาสระยะยาว 4-5 ปี ข้างหน้าปริมาณทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ทุเรียนส่งออกทำต้องทำคุณภาพตั้งแต่วันนี้ ด้วยหลักคิดง่ายๆ ว่าเราชอบบริโภคอย่างไร ทำให้ลูกค้าได้บริโภคอย่างนั้น นั่นคือ โอกาสทำการตลาดทุเรียนไทยให้อยู่ในใจของผู้บริโภค” คุณรัชวลัญช์ กล่าว

เส้นทางโหย่วอี้กวน

ตลาดทุเรียนส่งออก ถึงยุคการค้าที่ต้องใช้การตลาดนำ เกษตรกร ผู้ซื้อ ผู้ขาย ต้องจับมือกันเปิดโลกรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ด้วยความเข้าใจและหน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุน…เพื่อทุเรียนไทยก้าวไปสู่ทุเรียนโลกอย่างยั่งยืน

หมอนทองยังแรง ตัดแก่ 80-85% ห่วงน้ำหนักหาย 10%

ด้าน คุณธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดทุเรียนไทยในจีนอีก 10 ปีน่าจะไปได้ดี เพราะการปลูกทุเรียนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ทำง่ายๆ ความนิยมพันธุ์ชะนีไม่น่าแทนที่หมอนทองได้ เสี่ยงต่อโรคสูง รูปทรงไม่สวย มีผู้ปลูกปริมาณน้อยมากประมาณ 7% ทำให้ราคาสูง ส่วนหมอนทองนิยมกันมาก ปลูกถึง 90% เป็นทุเรียนที่เนื้อมาก ช่องทางการตลาดมากกว่าทั้งผลสดและแปรรูป ส่วนขนาดเล็กลงมาเป็นไซซ์กลางและเล็ก ลูกละ 1.7-5 กิโลกรัมนั้น ทำให้ตลาดมีกำลังซื้อมากกว่าลูกใหญ่ และตลาดผู้บริโภคคนจีนเป็นครอบครัวเล็กๆ เป็นช่องทางที่จะประชาสัมพันธ์ แต่ในภาพรวมทุเรียนขนาดมาตรฐานส่งออกลูกละ 5-6 กิโลกรัม ยังคงส่งออกได้ตามปกติ ส่วนการตัดแก่หรือแขวนทุเรียนไว้บนต้น ประมาณ 80% จะไม่เพิ่มต้นทุนมากนักเพราะอยู่ในระยะเก็บเกี่ยว 110 วัน แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการใส่ปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อไม่ให้ต้นโทรมมีปัญหาผลผลิตปีต่อไป แต่ผลกระทบชัดเจนคือน้ำหนักทุเรียนสุก 80-85% จะหายไปประมาณ 10% ถ้าคิดน้ำหนักเป็นร้อยๆ ตัน และเม็ดเงินจะลดลงมาก ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรและปรับราคาสูงขึ้นตามระยะเวลาการแขวน

“ทุเรียนไซซ์เล็กคือ ไซซ์ C ตกไซซ์ ขนาดลูกละ 1.7-1.8 กิโลกรัม แต่ถ้าทำคุณภาพเนื้อดี สีสวย รสชาติดี จะแข่งขันกับมูซันคิงทุเรียนเกรดดีขนาดลูกละประมาณ 2 กิโลกรัมได้ ตลาดส่วนหนึ่งต้องการ เช่น ตลาดออนไลน์ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออก เพราะทุเรียนลูกเล็กไม่ต้องตัดแต่งดอกมากเหมือนทุเรียนลูกใหญ่ที่ทำตามมาตรฐานส่งออก ซึ่งตลาดมีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะตลาดกลุ่มพรีเมี่ยม อย่างไรก็ตาม ชาวสวนไม่นิยมทำทุเรียนลูกเล็กขายเพราะน้ำหนักเบา มูลค่าน้อย เชื่อว่าทุเรียนลูกใหญ่ยังมีตลาดกว้างกว่าทั้งบริโภคผลสดและแปรรูป” คุณธีภัทร กล่าว