“ราชวัตร” เอกลักษณ์ลายทอผ้าประจำถิ่น ของชาวเกาะยอ สงขลา

“เกาะยอ” จังหวัดสงขลา แม้มีฐานะเป็นเพียงตำบล แต่เกาะเล็กที่มีขนาดพื้นที่ 15 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ยังมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะงานหัตถกรรมทอผ้าที่โดดเด่นคือผ้าทอ “ลายราชวัตร”

สมาชิกกลุ่มโชว์วิธีทอผ้าให้ผู้เข้าเยี่ยมชม

ชาวบ้านเกาะยอมีความสามารถทางด้านการทอผ้าเป็นอย่างดี งานหัตถกรรมทอผ้าเกาะยอสืบทอดภูมิปัญญากันต่อมา มีอายุเป็นร้อยปี และลายทอผ้าที่เลื่องชื่ออย่างมากคือ ลายก้านแย่ง หรือลาย       คอนกเขา

ความสวยงามของลายทอผ้าแต่ละผืน

 

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองสงขลาและแหลมมลายู ทรงพอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “ลายราชวัตร” ซึ่งแปลว่า กิจวัตรหรือการกระทำ จึงเป็นชื่อทางการของผ้าทอเกาะยอที่เรียกสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ในนามผ้าทอ “ลายราชวัตร”

ลายราชวัตร เอกลักษณ์การทอผ้าของชาวเกาะยอ

เป็นที่น่าตกใจเมื่อพบว่าอาชีพทอผ้าซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาตกทอดกันมาได้เหลือน้อยลง เนื่องจากประสบปัญหาความเปลี่ยนไปของยุคสมัย ทำให้ขีดความสามารถเพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรมทอผ้าเป็นสิ่งที่ยากและลำบาก ฉะนั้น จึงมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ยึดอาชีพนี้อยู่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าเกาะยอ โดยตั้งปณิธานที่จะสืบสานอนุรักษ์งานหัตถกรรมผ้าทอเกาะยอที่มีความเก่าแก่สวยงามให้ยั่งยืนยาวต่อไป

ชื่อลายทอผ้าแต่ละชนิดที่ยังคงเอกลักษณ์

คุณวิชัย มาระเสนา เป็นคนหนึ่งที่มีอาชีพทอผ้าเกาะยอ ให้ข้อมูลว่า ผ้าทอเกาะยอถือเป็นงานหัตถกรรมเก่าแก่ที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นกิจกรรมที่ทำกันทุกบ้าน คุณวิชัยเกิดมาก็เห็นและซึมซับมาตั้งแต่วัยเด็ก จนเมื่อโตจึงมีโอกาสได้ลงมือทอผ้า แต่ฝีมือยังไม่ดีจึงค่อยๆ พัฒนาเรียนรู้กระทั่งฝีมือชำนาญในเวลาไม่นาน แล้วเริ่มทอผ้าจริงจังสมัยเรียนประถมศึกษา พร้อมกับช่วยงานกรีดยางทางบ้าน แล้วยึดอาชีพทอผ้าหารายได้ด้วยการส่งให้กับร้านค้าในเกาะยอ โดยทอผ้าผืนกับโสร่ง

คณะเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมกลุ่ม

จนปี 2540 ผลิตภัณฑ์ทอผ้าเกาะยอเกิดซบเซาอย่างหนัก ร้านค้าหลายแห่งขายผ้าไม่ได้ แล้วก็ไม่รับซื้อด้วย จึงกระทบกับรายได้ของชาวบ้าน จนหลายคนต้องหยุดชั่วคราวหรือเลิกทอ กระทั่งคุณวิชัยเห็นว่าชาวบ้าน 9 หมู่บ้าน จำนวน 56 คน ที่ทอผ้าอยู่ตอนนั้นกำลังเดือดร้อน และเกรงว่าจำนวนอาจลดลงในอนาคต

กระเป๋าสะพายงานประยุกต์เพื่อให้ทันสมัย

จึงร่วมกันหารือว่าควรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแทนการแยกกันทำ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ขอความสนับสนุนจากภาคราชการทั้งความรู้ อุปกรณ์ พร้อมกับได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานทอผ้าหลายแห่ง เรียนรู้วิทยาการแล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจนมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มโดยมีคุณวิชัยเป็นแกนหลัก แล้วปักหลักยึดสถานที่ขายอยู่ในชุมชนในชื่อ “กลุ่มราชวัตถ์พัฒนาผ้าทอเกาะยอ” พร้อมกับเดินหน้าประชาสัมพันธ์พัฒนากิจกรรมดึงคนเข้ามาเที่ยวในชุมชนทอผ้าในลักษณะท่องเที่ยววัฒนธรรมและธรรมชาติ ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั้งในและนอกจังหวัดอย่างกว้างขวางมากขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ปี แล้วได้เปลี่ยนมาเป็น “กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า 1” เมื่อปี 2543

เนคไทที่มีโลโก้กลุ่ม

คุณวิชัย บอกว่า แต่เดิมผ้าทอเกาะยอมีลวดลายจำนวนมากที่ถูกคิดขึ้นจากรุ่นบรรพบุรุษจนตกทอดมาสู่รุ่นหลัง โดยทุกลายผ้ามีความโดดเด่น ลายเส้นเงางามเป็นธรรมชาติ เนื้อผ้าคุณภาพดี สีไม่ตก ไม่เป็นขุยง่าย จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ลายก้านแย่งหรือลายคอนกเขา ลายดอกจิก ลายพุดซ้อน และลายเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกลายหนึ่งคือ “ผ้าทอลายราชวัตร” ทำให้มีลูกค้ามากหน้าหลายตาเข้ามาแวะเวียนซื้อผ้าทอเกาะยออยู่ตลอดไม่ขาดสาย

อุปกรณ์ทอผ้าของกลุ่ม

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงเกิดแนวคิดปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์งานทอผ้าให้มีความทันยุคสมัย เปลี่ยนจากกี๋มือมาเป็นกี๋กระตุก เปลี่ยนเส้นใยและรูปแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าซิ่นหรือผ้าคลุมไหล่ โดยใช้เส้นใยจากฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งยืนและพุ่ง มุ่งเน้นวิธีทอและลวดลายให้กลับมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะดั้งเดิมของเกาะยอ อย่างลายรูปช้างเป็นผ้าคลุมไหล่ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ประยุกต์มาจากผ้ากระโจมอก ในสมัยดั้งเดิม แล้วเป็นการทอที่ยากมาก

ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอที่จำหน่ายมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ผ้าผืน ผ้าคลุมไหล่ ผ้าถุง ผ้าขาวม้า หรืองานของใช้อย่างกระเป๋าผ้าแบบสะพาย กระเป๋าใส่เงิน เนคไท ที่ใส่แฟ้ม/รายงาน กล่องใส่กระดาษทิชชู

กระเป๋า

“ผลิตภัณฑ์มีวางจำหน่ายที่กลุ่มโดยเป็นผลงานของสมาชิกร่วมกันทอในกลุ่มหรือบางส่วนมาจากสมาชิกทอเองที่บ้าน สำหรับลายและแบบขึ้นอยู่กับความถนัดของสมาชิก แต่ต้องยึดลายประจำเกาะยอที่มีต้นแบบกำหนดไว้ โดยต้องมีการวางแผนทอร่วมกันก่อน แล้วต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย”

ผ้าทอเกาะยอของ “กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า 1” ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ระดับ 5 ดาว พร้อมได้รับรองในเรื่องของภูมิปัญญาไทย และในปี 2547 คัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ระดับ 5 ดาว ในระดับประเทศ จึงเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งกลุ่มยังได้เปิดเป็นศูนย์ศึกษาหาความรู้ ถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแก่นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวอีกด้วย

สำหรับใส่เอกสารรายงานหรือหนังสือรับรองการศึกษา

การได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อปถือเป็นกำลังใจสำคัญต่อความรู้สึกและภาคภูมิใจของชาวบ้านที่จะร่วมกันอนุรักษ์งานหัตถกรรมเก่าแก่ชิ้นนี้ไว้ แต่นั่นอาจยังคงไม่เพียงพอหากกิจกรรมขาดงบสนับสนุนหล่อเลี้ยง เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนเป็นชั่วครั้งคราว ทำให้หลายครั้งกลุ่มต้องกู้เงินมาแก้ปัญหา จึงอยากหาผู้สนใจเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ชาวบ้านมีกำลังใจทำงานต่อไป

คุณวิชัย มาระเสนา

คุณวิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาแล้วไม่ต้องการให้หายไป ซึ่งกลุ่มได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานคือ สินค้าต้องมีคุณภาพ สินค้าต้องมีเครื่องหมายรองรับ สินค้าต้องมีป้ายบอกราคา มีชื่อลายและจำนวนหลา สินค้าต้องสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และสุดท้ายต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

กล่องทิชชู

ท่านที่สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าทอเกาะยอได้ที่ “กลุ่มราชวัตถ์แสงส่องหล้า 1” เลขที่ 38 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 088-783-6154, 086-291-7853 หรือ fb: ฅนทอผ้า

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354