ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | เทตโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
มะตูม ผลไม้สมุนไพรที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งที่ผู้คนในสมัยนี้มักมองข้าม และกำลังเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้บริโภค ด้วยเพราะอาจจะหากินได้ยาก เนื่องจากมะตูมเป็นผลไม้ที่ได้จากต้นมะตูมในป่า ไม่มีการปลูกเป็นไร่ เป็นสวน เหมือนผลไม้ชนิดอื่น
สมัยก่อนมี มะตูม มะขวิด วางขายหากินได้ง่าย ต่อมาไม่ค่อยมีคนเอามาขาย ยิ่งในปัจจุบันหามะตูมสุกในตลาดได้ยากเต็มที ที่พอจะหาได้ก็แปรรูปเป็นมะตูมเชื่อม มะตูมตากแห้ง น้ำมะตูม และลูกอมมะตูม (รสชาติเปรี้ยวๆ หวานๆ) ในสมัยก่อนคนโบราณจะนิยมกินมะตูม ทั้งใช้เป็นของหวาน ยารักษาโรค และเครื่องดื่ม รวมทั้งกินผลสุก (ดิบกินไม่ได้ เพราะรสชาติจะฝาด)
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “มะตูม”
มีประวัติที่น่าเชื่อถือว่า มะตูม เป็นผลไม้ที่ถือกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย และเป็นต้นไม้ตามความเชื่อของชาวอินเดีย ที่ผูกพันอยู่กับพระศิวะ ซึ่งชาวอินเดียยกย่องมะตูมว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่าต้นโพธิ์ มะตูมเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยในช่วงที่มีการเผยแพร่พุทธศาสนา เพราะถือว่าเป็นไม้มงคล และมีคุณสมบัติเป็นยาได้ด้วย
มะตูม เป็นไม้ยืนต้น ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ลำต้นแข็งแรง พบได้ตามป่าเขา มีทั่วทุกภาคของประเทศไทย จากข้อมูลพบว่า ชาวอินเดียรู้จักมะตูมดีกว่าใคร เพราะมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย และยังมีจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียด้วย
ทางภาคเหนือเรียกมะตูมว่า มะบิน ทางภาคใต้เรียก ตูม หรือบางทีก็เรียก ตุ่มตัง หรือ มะตูม ส่วนทางภาคกลางเรียกเช่นเดียวกับภาคใต้คือ มะตูม แต่ในภาคใต้บางจังหวัด เช่น ที่ปัตตานีเรียกมะตูมว่า กะทันตาเถร ส่วนภาษาเขมรเรียก พะโนงค์ พะเนิว ทางกะเหรี่ยงเรียกว่า มะปิล่า สำหรับคนอีสานจะเรียก บักตูม หมากตูม เป็นต้น
มะตูมเป็นใบไม้ที่แยกเป็น 3 ใบ ใบรูปไข่ ปลายแหลม ผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีส่วนสัมพันธ์กับศาสนาพราหมณ์ เพราะในพิธีสำคัญของศาสนาพราหมณ์ จะกำหนดให้นำใบมะตูมมาทัดหู เช่น ในงานพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ใช้ทัดหูให้แก่ทูตที่เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมลาไปรับราชการต่างประเทศเพื่อเป็นสิริมงคล และคงไม่ค่อยมีคนทราบว่าต้นมะตูมนั้นยังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชัยนาทอีกด้วย
ในประเทศอินเดีย จะพบต้นมะตูมปลูกอยู่ในวัดเช่นเดียวกับต้นโพธิ์ที่มีการปลูกอยู่ตามวัดในประเทศไทย ชาวอินเดียนิยมปลูกมะตูมเพื่อเอาไว้กินผลสุก และใช้ใบในการบูชาพระศิวะเมื่อต้องการขอพร ชาวอินเดียถือว่าต้นมะตูมเป็นต้นไม้วิเศษที่สามารถใช้ได้ทั้งเปลือก ราก ใบ และผล
พบว่า มะตูม ยังมีแพร่หลายในศรีลังกา และออสเตรเลีย เพราะปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก ไม่ต้องรดน้ำก็สามารถอยู่ได้ มะตูมชอบอากาศร้อน ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดี พบในป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ พื้นที่แห้งทั่วไป เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ทนต่อความร้อน ดอกมีสีขาวสวย กลิ่นหอมเย็นเหมือนดอกปีบ มีลำต้นสูงไม่เกิน 5 เมตร
คนโบราณท่านบอกไว้ว่า ต้นมะตูมปลูกไว้ ณ สถานที่ใดเป็นมงคลทั้งสิ้น สถานที่ใดปลูกมะตูมไว้ สถานที่นั้นจะมีชื่อเสียงดังขจรขจาย ประดุจผลมะตูมหล่นก่อให้เกิดเสียงดัง “ตูม” และท่านยังบอกต่อๆ กันมาว่า มะตูมคือยาดี จึงได้ชื่อ “มะตูม” เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง โดยถือเอาเสียง “ตูม” นั้นเป็นเสียงโยงเข้ากับความรุ่งเรืองเหมือนพลุ ดอกไม้ไฟ และเสียงปืนใหญ่ที่ดังตูม เพื่อประกาศความเกรียงไกรนั่นเอง
มะตูม ยาไทยขนานแท้ แก้สารพัดโรค
“มะตูม” เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่หลายๆ คนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้สรรพคุณของมะตูม
สำหรับผู้เขียนเองรู้จักและคุ้นเคยกับผลไม้ชนิดนี้พอสมควร เพราะตอนสมัยเด็กๆ จำได้ว่าพ่อจะเก็บลูกมะตูมที่ยังไม่แก่มากนัก เอามาฝานบางๆ แล้วเอาไปตากแดดจนแห้งดีเก็บใส่ขวดโหลไว้ เวลาจะกินก็เอาไปย่างเตาถ่านให้หอม จากนั้นนำไปต้มกับน้ำร้อนจนได้น้ำมะตูมสีเหลืองทอง ได้ซดน้ำมะตูมร้อนๆ แล้วจะรู้สึกชุ่มคอและสดชื่นจริงๆ หรือถ้าไม่ชอบกินแบบร้อน ให้เติมน้ำตาลลงไป แต่อย่าให้หวานมากนัก เวลากินใส่น้ำแข็งทุบ กินแล้วอร่อยชุ่มคอ และหอมเย็นชื่นใจดี
ส่วนลูกมะตูมสุก รสชาติจะหอม หวาน ซ่านิดๆ อร่อยดี (ตอนเด็กๆ แม่จะขูดเอาเนื้อมะตูมสุกมาคลุกกับข้าวเหนียวนึ่งให้กินบ่อยๆ) ส่วนใบของมะตูมก็มีประโยชน์เช่นกัน เพราะจะเห็นแม่เก็บใบและยอดอ่อนของมะตูมมาให้กินเป็นผักแนมแกล้มลาบ หรือแจ่ว ป่น และซุบหน่อไม้ และทราบว่าคนเหนือก็กินแกล้มลาบต่างๆ เช่นกัน สำหรับคนทางภาคใต้จะเอามาทำผักเหนาะกินกับแกงรสเผ็ดๆ น้ำพริก หรือขนมจีน (มีมะตูมอีกชนิดหนึ่งที่คนใต้นิยมกินเหมือนกัน ใบมีกลิ่นหอม รสมัน รสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น น้อยกว่ามะตูมไทย ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเป็นมะตูมแขก พบแถวๆ จังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี ส่วนคนภาคกลางไม่ค่อยกินยอดอ่อน แต่จะใช้ลูกมะตูมดิบมาปรุงเป็นยำมะตูม
คนโบราณนิยมดื่มน้ำมะตูม เพราะมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ แก้กระหายได้ดีนักแล
วิธีทำน้ำมะตูม
เริ่มด้วยนำมะตูมดิบมาฝานเป็นแว่นๆ ใช้มะตูมแก่ แต่ไม่แก่จัดจนถึงขนาดเปลือกแข็งเฉือนไม่เข้า ฝานแล้วเอามาตากแดดผิวจะมัน เพราะยางมะตูมจะเคลือบผิวไว้ เสร็จแล้วเก็บใส่ขวดโหล ปิดปากฝาให้มิดชิด จากนั้นให้นำมาคั่วอีกครั้ง เพื่อให้มีกลิ่นหอม เวลาต้มตั้งน้ำให้เดือด ใส่มะตูมลงไป 2-3 ชิ้น ต่อน้ำ 1 แก้ว ต้มให้เดือด 10-15 นาที เอามะตูมออก บีบน้ำให้สะเด็ด นำไปตากให้แห้ง สามารถนำมาชงใหม่ได้อีก
ชามะตูม การทำชามะตูม ให้นำมะตูมตากแห้งมาบดให้ละเอียด เวลาชงก็ชงเหมือนใบชา หากเติมน้ำตาลก็จะเพิ่มรสชาติได้อีก
สรรพคุณของน้ำมะตูม แก้กระหาย แก้ร้อนใน รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง บิด ลำไส้อักเสบ คนโบราณจึงมักดื่มน้ำมะตูมเพื่อรักษาธาตุเป็นประจำ
การกินมะตูมสุกจะได้รสชาติที่ดี มีกลิ่นหอมเย็น สรรพคุณแก้โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย
ส่วนมะตูมเชื่อม กวน หรือแช่อิ่ม แม้จะผ่านความร้อน แต่ก็ไม่ทำให้สรรพคุณสลายไปอย่างใด สารที่ช่วยย่อยอาหารและรักษาโรคยังคงอยู่ คนโบราณจะปั้นมะตูมกวนเป็นลูกกลอนผสมน้ำผึ้งเก็บใส่ขวดโหลไว้กินแก้ปวดท้อง ท้องเสีย
ใบมะตูมสด เอามาคั้นน้ำใช้แก้หวัด หลอดลมอักเสบ เยื่อตาอักเสบ ตาบวม (ตำราจากอินเดีย) หรือในสมัยโบราณนำใบมาคั้นน้ำปรุงขึ้นเป็นแกงบวน (ถือว่าเป็นแกงของพิธีมงคล)
ยอดอ่อนมะตูม จิ้มน้ำพริก ลาบอีสาน แกงใต้ (มีรสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น มัน กินแล้วสดชื่น)
รากมะตูม ใช้นำมาบดหรือคั่วให้เหลือง หรือดอกนำมาคั้นกินกับเหล้าขาว แก้ลมจุกเสียด แน่นหน้าอก แก้โรคระดูขาว (ตกขาวในผู้หญิง)
พบว่าในผลมะตูมมีวิตามินบี 1 บี 2 ช่วยให้ปลายมือ เท้า ไม่ชา ไม่เป็นแผลที่มุมปาก และยังรักษาสุขภาพกระเพาะลำไส้ได้อย่างมีสรรพคุณจริงๆ ส่วนต่างๆ ของมะตูมที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ราก ใบ ผลแก่ สุก เปลือกรากทั้ง 5 รส และสรรพคุณในตำรายาไทย
ราก มีรสฝาด ปร่า ซ่า ขื่นเล็กน้อย แก้พิษ ฝี แก้ไข้ แก้ลมหืดหอบ ไอ ช่วยบำบัดเสมหะ รักษาน้ำดี
ใบสด มีรสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น มัน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้โรคลำไส้ แก้ท้องเดิน แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ น้ำคั้นจากใบทาแก้หวัด แก้บวม แก้เยื่อตาอักเสบ
ผลมะตูมแก่ รสฝาด หวาน มีสรรพคุณบำรุงธาตุ เจริญอาหารและช่วยขับลมผาย
ผลมะตูมสุก รสหวานเย็น สรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ แก้มูกเลือด บำรุงไฟธาตุ แก้กระหายน้ำ ขับลม ส่วนรสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น แก้ปวดศีรษะ ตาลาย เจริญอาหาร ลดความดันโลหิตสูง
เปลือกรากและลำต้น รสฝาด ปร่า ซ่า ขื่น แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2565.